รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต รวมรวบข้อมูลผลการศึกษาข้อบ่งชี้ความเสี่ยงน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล พบว่าพื้นที่จังหวัดบริเวณนี้เสี่ยงจมน้ำแน่นอน และทางรอดเดียวต้องปรับตัวอยู่กับน้ำให้ได้
รศ.ดร.เสรีได้นำผลการศึกษามาทำการศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมจากภัยคุกคามจาก 3 น้ำ คือ น้ำเหนือ น้ำฝน และน้ำทะเลหนุน ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ลงมายังชายฝั่งทะเลกรุงเทพฯ และปริมณฑล (สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสมุทรปราการ) โดยการใช้ฐานข้อมูลล่าสุดจากรายงานการประเมินสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับที่ 6 (IPCC-AR6-2021) สรุปได้ว่า ในอนาคตอันใกล้ และไกลกรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่สามารถรอดพ้นจากภัยคุกคามของ 3 น้ำได้เลย
ทั้งนี้ อิทธิพลน้ำเหนือจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง ทั้งลุ่มเจ้าพระยาเป็นรายฤดูกาล (ประมาณ 2 เดือน) ส่วนพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลจะหายไปอย่างถาวรเพิ่มขึ้นประมาณ 2, 5, 8, และ 20 กม. ในปี 2573, 2593, 2613, และ 2643 ตามลำดับ หากไม่มีมาตรการรองรับ
“ทางรอดของเรามีทางเดียวคือการปรับตัวให้อยู่กับน้ำให้ได้ การออกแบบเมืองให้มีที่ให้น้ำอยู่ (Room for the river) อย่างเพียงพอ เริ่มจากมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง (Nature-based solutions) และมาตรการเชิงโครงสร้าง (Green dike) โดยต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับภัยคุกคามรหัสแดงจากบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” รศ.ดร.เสรีระบุ
อาจารย์เสรี เป็นคนไทยหนึ่งเดียวที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้เขียนนำและประเมินรายงานในบทที่ 4 ว่าด้วยเรื่องน้ำ ในรายงานการประเมินสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับที่ 6 (IPCC-AR6) ปี 2564-2565 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) และรหัสแดงสำหรับมนุษยชาติในบทที่ 4 นี้คือ ‘ภัยคุกคามจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น’
นอกจากนี้ รศ.ดร.เสรี ยังนำผลการศึกษาข้อบ่งชี้ถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยคุกคามน้ำท่วมชายฝั่งทะเลบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล 3 แหล่งข้อมูลสำคัญเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ดังนี้
- Flood Delta City Index Drivers to Support Adaptation of Cities (TuDelft, 2017) ซึ่งมีการประเมิน 38 เมืองริมชายฝั่งทะเลทั่วโลก รวมทั้งกรุงเทพฯ โดยใช้ฐานข้อมูลจากรายงาน IPCC-AR5 ซึ่งพบว่า ความเสี่ยงของกรุงเทพฯ อยู่ในลำดับที่ 7 มูลค่าความสูญเสียจากปัจจุบัน 10,700 ล้านบาทต่อปี (ในปี 2558) เพิ่มเป็น 32,700 (205%) ล้านบาทต่อปี (ในปี 2573 ภายใต้ฉากทัศน์ RCP4.5) และเพิ่มเป็น 48,000 (346 %) ล้านบาทต่อปี (ภายใต้ฉากทัศน์ RCP8.5)
- Hydrological Res. Letter, 2020 ใช้ฐานข้อมูล IPCC-AR5 กับข้อมูลระดับความสูงต่ำของพื้นที่ โดยพบว่า กรณีน้ำขึ้นถึงระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 1.11 เมตรระดับทะเลปานกลาง หรือ ร.ท.ก. หรือ MSL) มีพื้นที่จมน้ำประมาณ 2,520 ตร.กม. ประชาชนกว่า 3.9 ล้านคนได้รับผลกระทบ ในอนาคตหากระดับน้ำเพิ่มขึ้นอีก 1.10 เมตร (RCP8.5) จะมีพื้นที่จมน้ำเพิ่มเป็น 6,140 ตร.กม. และประชากรจะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นเป็น 7.2 ล้านคน โดยมีขอบเขตพื้นที่น้ำท่วมรุกล้ำในแผ่นดินประมาณ 80 กม.
- Hooijer & Vernimmen (Nature Communications, 2021) มีการใช้ข้อมูล Global Lidar ประเมินพื้นที่น้ำท่วมชายฝั่งทะเลบริเวณประเทศแถบโซนร้อน รวมทั้งปากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยทั้งสามผลศึกษาบ่งชี้ถึงความเสี่ยง และความเปราะบาง รวมทั้งความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยคุกคามน้ำท่วมชายฝั่งทะเลบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑลอย่างมีนัยสำคัญ
ล่าสุดหน่วยงานอิสระ Climate Central ได้พัฒนา Web. Application (https://coastal.climatecentral.org) โดยใช้ฐานข้อมูลล่าสุดจาก IPCC-AR6 ให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปดูความรุนแรงของน้ำท่วมชายฝั่งทะเลทั่วโลก ในอนาคตตั้งแต่ปี 2030-2150 โดยเฉพาะชายฝั่งทะเลปากแม่น้ำเจ้าพระยา