‘บางจาก’ เจ้าแรกผลิตน้ำมันยั่งยืน หนุนธุรกิจการบินมุ่งหน้า Net Zero

อุตสาหกรรมการบินตกเป็นผู้ต้องหาไม่รักษ์โลก โดยเฉพาะการบินระหว่างประเทศมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด โดยปี 2561 เที่ยวบินทั่วโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 895 ล้านตัน หรือประมาณ 2.4% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีมากกว่า 42,000 ล้านตัน

มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2593 อุตสาหกรรมการบินจะปล่อยก๊าซคาร์บอนมากเป็น 1 ใน 4 ของปริมาณก๊าซคาร์บอนทั่วโลก ซึ่งองค์การพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA ระบุว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา ธุรกิจการบินปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วน 2% ของการปล่อยคาร์บอนจากการใช้พลังงานทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่านอกจากสร้างมลพิษอากาศแล้วยังส่งผลให้อุณภูมิของโลกเพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ กว่า 80% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมการบินเกิดจากเที่ยวบินที่มีระยะทางมากกว่า 1,500 กิโลเมตร ซึ่งการใช้น้ำมัน 1 กิโลกรัม จะปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศประมาณ 3.15 กรัม และยิ่งเป็นการบินระยะทางไกลก็จะยิ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้นตามลำดับ

นอกจากนั้นขนาดของเครื่องบินก็มีผลต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วยเช่นกัน อย่างเช่น แอร์บัส เอ380 มีอัตราการใช้น้ำมันมากกว่า 9,000 กิโลกรัมต่อชั่วโมง และปล่อยก๊าซคาร์บอนถึง 500 กิโลกรัมต่อนาที

หนทางที่จะช่วยการปล่อยคาร์บอนของธุรกิจการบินก็คือการหันไปใช้เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel – SAF) หรือไบโอเจ็ท ซึ่งในประเทศไทยทางบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าแรกที่เริ่มธุรกิจผลิตเชื้อเพลิงยั่งยืน โดยได้จัดตั้งบริษัท บีเอส จีเอฟ จำกัด (BSGF) เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไบโอเจ็ท

ไบโอเจ็ทที่ว่านี้เป็นการใช้นํ้ามันพืชใช้แล้วมาเป็นวัตถุดิบ ซึ่งเป็นธุรกิจที่สอดคล้องนโยบาย BCG ของบางจาก ที่ตอบสนองเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593

ภาพจาก โครงการ “ทอดไม่ทิ้ง”.bangchak.co.th

บริษัท BSGF มีมูลค่าลงทุน 8,000-10,000 ล้านบาท โดยเมื่อ 28 มิ.ย. 2566 ทาง BSGF ได้ลงนามสัญญากับบริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท Honeywell UOP เพื่อก่อสร้างหน่วยผลิตนํ้ามัน SAF ที่บริเวณพื้นที่โรงกลั่นนํ้ามันของบางจาก

แผนการผลิตแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรกจะผลิตไบโอเจ็ทราว 5 แสนลิตรต่อวัน ลงทุนราว 4,000-5,000 ล้านบาท และจะขยายสู่ระยะที่ 2 อีกราว 5 แสนลิตรต่อวัน ลงทุนอีก 4,000-5,000 ล้านบาท รวมกำลังผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางและขนส่งทางอากาศลงได้ราว 8 หมื่นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างจะแล้วเสร็จและพร้อมให้บริการอุตสาหกรรมการบินได้ในไตรมาส 4 ของปี 2567

สำหรับเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนจะผลิตจากนํ้ามันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว นําไปผสมนํ้ามันเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นนํ้ามันเชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยาน (Bio-jet) ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนลงได้กว่า 80% เทียบเท่าการบินด้วยเชื้อเพลิงการบินในปัจจุบัน

การผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนดังกล่าวสอดคล้องกับข้อกำหนดในสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) ที่กำหนดสัดส่วนการผสม SAF ในนํ้ามันอากาศยานที่จะบินเข้าสู่สนามบินในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายสัดส่วนไว้ที่ 2% ในปี 2568 และเพิ่มขึ้นเป็น 6% ในปี 2573 เพิ่มเป็น 37% ในปี 2583 และเป็น 85% ในปี 2593

นอกจากนั้นยังสอดคล้องกับมาตรการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ  (ICAO) และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (IATA) ที่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2593

ขณะที่ กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวในงานสัมมนา “Road to Net Zero โอกาสและความท้าทายทางธุรกิจ” จัดโดยฐานเศรษฐกิจ และเนชั่นกรุ๊ป เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา ว่า ทอท.มีเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 50% ใน 4 ปีนี้ จากเดิมปล่อยอยู่ที่ 3 แสนตันต่อปี ลดลงเหลือ 1.5 แสนตันต่อปี และจะเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero ในอีก 10 ปี โดยมีแผนปฏิบัติการ 3 เรื่องหลัก  ได้แก่

1 การเพิ่มแหล่งพลังงานไฟฟ้าภายในสนามบินโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 100% ภายใน 2 ปี ที่นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังช่วยลดค่าไฟลงได้อีก 30% ลดจาก 1,000 ล้านบาท เหลือ 700 ล้านบาท หากใช้พลังงานทดแทนได้ทั้งหมดจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 294,879 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และลดต้นทุนการดำเนินงานจากค่าพลังงานได้ประมาณ 368 ล้านบาทต่อปี

2. ทอท.จะปรับเปลี่ยนรถที่มีการใช้สนามบิน รวมถึงแท็กซี่ที่ให้บริการในท่าอากาศยานทั้งหมดให้เป็นรถไฟฟ้า (EV) ภายใน 4 ปีนี้ โดยปัจจุบันมีอยู่ 3,400 คัน จะลดการใช้น้ำมันได้ถึง 10 ล้านลิตรต่อปี หรือคิดเป็น 28,360 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

3. สนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน 5% ภายใน 4 ปี ซึ่งการใช้ SAF จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมการบินลงได้ แต่ราคาแพงกว่าน้ำมันเครื่องบินปัจจุบัน 8 เท่า ต้องนำเข้าจากสิงคโปร์ ถ้าผลิตในประเทศได้เองราคาน้ำมัน SAF จะลดจาก 8 เท่าเหลือ 2.2 เท่า ซึ่งสายการบินจะทยอยใช้ SAF เพิ่มขึ้น โดยในปี 2025 เพิ่ม 2% ปี 2030 เพิ่มเป็น 5% และปี 2050 จะอยู่ที่ 60%

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย