นักวิทยาศาสตร์เแนะปลูกกล้วยสร้างแนวกันชนไฟป่าแคลิฟอร์เนีย

ในแต่ละปีรัฐแคลิฟอร์เนียเผชิญกับไฟป่าที่รุนแรงขึ้นทุกที และเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าไฟป่าระดับหายนะเหล่านี้เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนซึ่งทำให้อุณภูมิร้อนจัดและแห้งจัด ทำให้ป่าที่มีพุ่มไม้กลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี

ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหานี้ทางการรัฐแคลิฟอร์เนียจึงหาทางกำจัดพุ่มไม้ออกจากเนินเขา และทุ่งโดยรอบอาคารบ้านเรือนและถนน เพราะพวกมันคือชนวนแรก ๆ ที่ทำให้ไฟลามจนกินพื้นที่หลายหมื่นตารางเมตร

ศาสตราจารย์บารัถ รากาวัน (Barath Raghavan) เขามีไอเดียการแก้ปัญหานี้ต่างจากคนอื่นโดยเชื่อว่า การปลูกต้นกล้วยรอบ ๆ เมืองจะสามารถช่วยหยุดหายนะจากไฟป่าได้ พูดง่าย ๆ คือใช้มันเป็นแนวกันไฟนั่นเอง

เอาเข้าจริง รากาวันไม่ได้สอนวิชาพฤกษศาสตร์ เขาไม่เกี่ยวข้องกับสาขาการเกษตรเลย ตรงกันข้ามเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย แต่ให้ความสนใจการปลูกพืชอย่างมากจนเป็นงานอดิเรกที่จริงจัง เขายังนำเอาทักษะนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์มาผสมผสานกับการปลูกพืชเพื่อให้มันได้ผลอย่างยั่งยืนขึ้นด้วย

จนกระทั่งเมื่อ 3 ปีที่แล้วนี่เองที่เขาเกิดแนวคิดระหว่างที่แคลิฟอร์เนียเกิดไฟป่าถี่ ๆ ขึ้นมาว่า ทำไมไม่ใช้กล้วยเป็นแนวกันไฟล่ะ โดยได้ปรึกษาเรื่องนี้กับไมเคิล คันตาร์ ศาสตราจารย์ด้านการเกษตรและพันธุ์พืชแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาย

นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์รายนี้ชี้ให้เห็นว่า กล้วยไม่ใช่ไม้ มันมีลำต้นที่ชุ่มฉ่ำและรากที่เต็มไปด้วยน้ำเลี้ยงในสัดส่วนมากกว่าลำต้น จึงทนไฟได้ดีกว่าหญ้าหรือต้นไม้กว่ามาก ที่สำคัญมันสามารถโตจนสูงใหญ่และเป็นแนวป้องกันไฟได้ดี

ส่วนใบแห้งก็ไม่ติดไฟง่าย ๆ รากาวันบอกกับ Atlas Obscura ว่า “ถ้าคุณไปที่ YouTube และค้นหาคำว่าใบตอง คุณจะพบวิดีโอของคนที่เอาใบตองมาวางไว้บนเตาแก๊ส ใบมันจะเหี่ยวเฉา แต่โดยปกติแล้วจะไม่ติดไฟ”

รากาวันได้ตั้งทฤษฎีว่า “สวนกล้วย” ซึ่งปลูกด้วยน้ำรีไซเคิลสามารถป้องกันชุมชนที่ถูกไฟไหม้ได้ในระยะเวลานานพอที่นักดับเพลิงจะจัดการกับไฟได้ มันอาจจะดับไฟไม่ได้ แต่ช่วยซื้อเวลาได้นั่นเอง

เขาบอกกับ LAist ว่า สามารถปลูกกล้วยไล่ไปจนถึงตามแนวสันเขาที่ตั้งติดกับชุมชน (หลายชุมชนในแคลฟอร์เนียอยู่ตามภูเขา ส่วนใหญ่เป็นบ้านคนมีฐานะ เมื่อไฟลามมาถึงแนวสันเขาของชุมชนนั้นมันจะถูกแนวสวนกล้วยสกัดเอาไว้)

หลังจากนั้น แนวต้นกล้วยจะช่วยซื้อเวลาให้นักดับเพลิงมีเวลารับสถานการณ์ได้ (เพราะจำนวนคนไม่พอ) และช่วยให้สมาชิกในชุมชนมีเวลาอพยพมากขึ้น หรือในบางกรณีพื้นที่การปลูกอาจเป็นแนวลึกพอที่จะดับไฟทั้งหมดก็ได้

เพื่อพิสูจน์ว่าวิธีนี้ใช้ได้ผล รากาวันได้สร้างแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์โดยอิงจากกรณีไฟป่าทับบ์ (Tubbs Fire) ที่ร้ายแรงในปี 2017 โดยตั้งค่าระยะห่างจากชุมชนไปจนถึงความลึกของสวนกล้วยสำหรับการป้องกันสูงสุด

ผลคือ ถ้าเกิดกรณีร้ายแรงมากแบบไฟป่าทับบ์ จะต้องปลูกแนวกล้วยลึกถึง 300 เมตร จึงจะช่วยชะลอไฟป่าได้ แม้จะไม่สามารถดับไฟลงได้อย่างสิ้นเชิงเพราะยังมีการคุโชนในเนื้อไม้อื่น ๆ อยู่ แต่มันช่วยทำให้มนุษย์มีเวลารับมือมากขึ้น

แล้วมันจะเวิร์กจริง ๆ ไหม? LAist สอบถามไปยังเดวิด บาวแมน ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ไฟและไพโรจีโอกราฟีที่มหาวิทยาลัยแทสเมเนีย ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเจอกับไฟป่าระดับหายนะบ่อย ๆ เหมือนในแคลิฟอร์เนีย

ศาสตราจารย์บาวแมนบอกว่า “แนวคิดในการให้น้ำและปลูกพืชที่ไม่ติดไฟอย่างกล้วยเป็นความคิดที่ดี” และเขาไม่เคยเห็นการใช้กล้วยเป็นแนวกันไฟ แต่แนวคิดใช้ไม้ชุ่มน้ำเพื่อกันไฟมีมานานแล้ว

ออสเตรเลียมีหลายพื้นที่เหมาะกับการปลูกกล้วยเพราะแถบดังกล่าวเป็นพื้นที่เขตร้อน ขณะที่แคลิฟอร์เนียไม่ใช่ทุกที่จะปลูกกล้วยได้ เพราะอาจหนาวเกินไป แต่รากาวันบอกว่าเขาปลูกกล้วยในพื้นที่หนาวได้สำเร็จมาแล้วซึ่งถือเป็นแนวคิดที่น่าสนใจมาก ๆ

ข้อมูลจาก
• Anne Ewbank. (April 12, 2021) “Can ‘Banana Buffers’ Save California From Wildfires?”. Atlas Obscura.
• Jacob Margolis. (Feb 24, 2021). “A Totally Bananas Idea? Planting Tropical Fruit Trees To Help Fight California Wildfires”. LAist.
ภาพ BARATH RAGHAVAN/atlasobscura

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน