แคลิฟอร์เนียรัฐแรกวอชิงตันตามแบนจำหน่ายรถยนต์สันดาปปี 2035 ใช้รถปลอดมลพิษ 100%

วอชิงตันรัฐเป็นอีกรัฐที่เดินหน้าบังคับใช้กฎหมายห้ามจำหน่ายรถยนต์สันดาปหรือรถพลังงานฟอสซิลภายในปี 2035 ซึ่งก่อนนี้แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐแรกของสหรัฐที่ออกกฎหมาย “แบนรถยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิล” และจะมีอีกอย่างน้อย 15 รัฐ อาทิ แมสซาชูเซตส์ วอชิงตัน นิวยอร์ก นิวเจอร์ซี และเพนซิลเวเนีย ที่จะนำต้นแบบของแคลิฟอร์เนียมาใช้ออกกฎหมาย

ล่าสุด เจย์ อินสลี ผู้ว่าการรัฐวอชิงตัน ประกาศเดินหน้านโยบายห้ามจำหน่ายรถยนต์สันดาป นโยบายใหม่นี้กำหนดให้ยอดการขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถบรรทุก และรถ SUV ในรัฐต้องใช้พลังงานจากไฟฟ้าหรือไฮโดรเจน 100% ตั้งแต่ปี 2035 หรือในอีก 12-13 ปีข้างหน้า โดยอนุญาตให้ใช้รถปลั๊กอินไฮบริดได้ 1 ใน 5 ของเป้าหมายทั้งหมด

การผลักดันการขนส่งสีเขียวเพราะภาคขนส่งเป็นตัวการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากกว่า 40% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในวอชิงตัน ภายใต้นโยบายนี้จะมีการสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จเร็วบนทางหลวงของรัฐ และสถานีชาร์จชุมชน ซึ่งรัฐจะสนับสนุนงบประมมาณ 69 ล้านดอลลาร์และรัฐบาลกลางสนับสนุน 71 ล้านดอลลาร์ โดยเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาพบว่า ยอดจองรถใหม่ในวอชิงตันเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือไฮบริดเพิ่มขึ้นเกือบ 20%

สำหรับแคลิฟอร์เนียเป็นรัฐแรกที่ได้กำหนดเส้นตายปี 2035 สำหรับรถยนต์ รถบรรทุก และ SUV ใหม่ทั้งหมดที่จำหน่ายในรัฐต้องใช้พลังงานไฟฟ้าหรือไฮโดรเจน ซึ่งจะพลิกโฉมตลาดรถยนต์ในสหรัฐฯ และเป็นการเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาพอากาศที่ดีมากขึ้น มีการใช้ยานพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศ จึงเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐ

กฎหมายที่ออกมาใช้บังคับนี้จะกำหนดให้ผู้ผลิตรถยนต์เร่งการผลิตรถยนต์ในแคลิฟอร์เนียใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นโดยภายในปี 2026 ค่ายรถจะต้องเปลี่ยนมาขายรถยนต์ไฟฟ้าหรือไฮโดรเจนไม่ต่ำกว่า 35% ของยอดขาย และตัวเลขนี้จะปรับขึ้นเป็น 68% ภายในปี 2030 และกลายเป็น 100% ในปี 2035 ซึ่งรวมรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดแล้ว

การขับเคลื่อนนโยบายการขนส่งสีเขียวของแคลิฟอร์เนียเนื่องจากภาคการขนส่งเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดในแคลิฟอร์เนีย อีกทั้งเป็นรัฐที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่า ภัยแล้ง และมลพิษทางอากาศที่ทำลายสถิติมาอย่างต่อเนื่อง

เป้าหมายที่คณะกรรมการทรัพยากรอากาศแห่งแคลิฟอร์เนียวางไว้คือ กฎดังกล่าวไม่มีผลต่อรถยนต์สันดาปที่มีอยู่แล้วในตลาด ประชาชนยังสามารถใช้งาน และซื้อขายต่อรถยนต์สันดาปในตลาดรถมือสองได้ปกติ และยังอนุญาตให้ผู้ผลิตรถยนต์ขายรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดได้ 20% โดยวางเป้าการลดมลภาวะจากรถยนต์และรถบรรทุกขนาดเล็กลง 50% ภายในปี 2040

อย่างไรก็ตาม กฎของรถยนต์ไฟฟ้าฉบับใหม่นี้จะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลาง ซึ่งมีแนวโน้มที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะเห็นชอบ เนื่องจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน เพิ่งลงนามรับรองพระราชบัญญัติลดเงินเฟ้อไปเมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมานี้ แตกต่างจากยุคทรัมป์ที่ขัดขวางการใช้พลังงานสะอาด รวมถึงไม่เห็นด้วยกับนโยบายรถยนต์ใหม่ของรัฐแคลิฟอร์เนีย และยังปฏิเสธการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนด้วย

ในปี 2022 รัฐแคลิฟอร์เนียมีสัดส่วนรถยนต์ขายใหม่ที่เป็นรถยนต์พลังงานสะอาดอยู่ที่กว่า 16% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีสัดส่วน 12.41% และปัจจุบันมีสถานีชาร์จในสถานที่สาธารณะประมาณ 80,000 แห่ง โดยวางเป้าติดตั้งให้ได้ 250,000 สถานีภายในปี 2025

ทั้งนี้ รัฐแคลิฟอร์เนียยังวางเป้าไว้ว่า ภายในปี 2037 จากกฎระเบียบดังกล่าวจะช่วยลดมลพิษจากฝุ่นควันยานพาหนะได้ถึง 25% เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพอากาศของรัฐบาลกลาง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2026 – 2040 จะลดผลกระทบด้านสุขภาพมูลค่าเกือบ 13,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยลง 1,290 ราย ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือระบบทางเดินหายใจเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยลง 460 ราย และการเข้ารับการตรวจห้องฉุกเฉินสำหรับโรคหอบหืดลดลง 650 ราย

ภายใต้ข้อบังคับนี้ ภายในปี 2030 จะมีการขายรถยนต์ที่ใช้พลังงานฟอสซิลน้อยลง 2.9 ล้านคัน เพิ่มเป็น 9.5 ล้านคันในปี 2035 และในปี 2040 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์ รถปิคอัพ และรถ SUV จะลดลงครึ่งหนึ่ง และตั้งแต่ปี 2026- 2040 ช่วยลดมลพิษจากภาวะโลกร้อนจากยานพาหนะเหล่านั้นรวมทั้งสิ้น 395 ล้านเมตริกตัน ซึ่งเทียบเท่ากับการหลีกเลี่ยงก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาไหม้ปิโตรเลียมจำนวน 915 ล้านบาร์เรล

#การสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในไทย
สำหรับบ้านเราล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติงบประมาณ 2,923.397 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ตามประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 ดังนี้

1. กรณีรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท 1.1) รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง เงินอุดหนุน 70,000 บาท/คัน และ 1.2) รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป เงินอุดหนุน 150,000 บาท/คัน

2. กรณีรถยนต์กระบะประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศและมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป (เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น) เงินอุดหนุน 150,000 บาท/คัน และ 3. กรณีรถจักรยานยนต์ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท เงินอุดหนุน 18,000 บาท/คัน

ผู้ขอรับสิทธิเพื่อขอรับเงินอุดหนุนจะต้องเป็นบุคคลตามประกาศกรมสรรพสามิตกำหนด เช่น ผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่มีโรงงานอุตสาหกรรม, ผู้นำเข้าที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ และต้องเข้ามาทำข้อตกลงร่วมกับกรมสรรพสามิต เพื่อรับทราบและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตกำหนด และยอมรับบทลงโทษหากไม่สามารถดำเนินการได้

หากผู้ประกอบกิจการไม่ดำเนินการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถจักรยานยนต์ แล้วแต่กรณี เพื่อชดเชยการนำเข้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด กรมสรรพสามิตจะเรียกคืนเงินอุดหนุนดังกล่าวจากผู้ได้รับเงินอุดหนุนเป็นรายคัน ตามจำนวนที่ไม่สามารถดำเนินการผลิตชดเชยได้ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยไม่คิดทบต้น และจะบังคับตามหนังสือสัญญาค้ำประกันโดยธนาคารที่วางไว้

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2565 มีผู้ได้รับสิทธิที่ต้องได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ แบ่งเป็นรถยนต์ 18,100 คัน และรถจักรยานยนต์ 8,800 คัน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2565 ครม.ได้เห็นชอบมาตรการทางภาษีเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า 2 รายการ คือ 1. ลดอัตราภาษีประจำปีลงร้อยละ 80 จากอัตราที่กำหนดตามขนาดของรถเป็นระยะเวลา 1 ปี สำหรับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565-30 ก.ย. 2568 ซึ่งคาดว่าจะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว 128,736 คัน

2.การยกเว้นอากร ศุลกากร สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ได้แก่ รถยนต์นั่งทั่วไป รถยนต์โดยสารสำหรับไม่เกิน 10 คน รถกระบะแบบพลังงานไฟฟ้าที่ประกอบและผลิตภายในประเทศ ตั้งแต่วันที่ร่างประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับจนถึง 31 ธ.ค. 2568

อ้างอิง:
(Aug 26, 2022) Washington state to ban sales of new gas cars by 2035, following California . The Guardian
THE ASSOCIATED PRESS (Aug 25, 2022) California is poised to phase out sales of new gas-powered cars . NPR
Emma Newburger (Aug 25, 2022) California bans the sale of new gas-powered cars by 2035 . CNBC
(Aug 25, 2022) California moves to accelerate to 100% new zero-emission vehicle sales by 2035 . California Air Resources Board

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน