ต้นแบบการรักษาป่าที่บัลแกเรีย

ผู้คนและผืนป่าต่างพึ่งพาอาศัยกันได้ คนจะสามารถใช้ประโยชน์จากผลผลิตของป่าเพื่อรายได้ ขณะเดียวกันพวกเขาจะช่วยอนุรักษ์ป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืน
การส่งเสริมให้คนเห็นคุณค่าของป่าและผลผลิตต่างๆ ในป่าจะทำให้ป่าได้รับการปกป้องมากขึ้นจากมนุษย์ ซึ่งการมีป่ามากขึ้นย่อมหมายถึงความสามารถในการดูดซับคาร์บอนและมลพิษต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนบนโลกที่มากขึ้น

การเก็บเห็ดป่าในยุโรปตะวันออกเป็นอะไรที่มากกว่าประเพณี (และไม่ถูกจับ) ทุกปีในช่วงฤดูร้อนและต้นฤดูใบไม้ร่วง ผู้คนนับพันต่างมุ่งหน้าเข้าป่าเพื่อตามหาเห็ดที่ใหญ่และสมบูรณ์แบบที่สุด เด็กๆ ตามพ่อแม่ไปเพื่อเรียนรู้ว่าเห็ดชนิดใดกินได้หรือมีพิษจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถ่ายทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น

ในช่วงเย็นหลังจากที่ได้เห็ดมาแล้ว แต่ละครอบครัวในชุมชนจะเอาผลงานของตัวเองมาแบ่งปันกันทั้งที่ผ่านการปรุงแล้วและที่ยังสดใหม่ พวกเขาเฉลิมฉลองความรักที่มีต่อผืนป่าแลกเปลี่ยนความรู้กันว่าจุดใดสามารถพบเห็ดชนิดใดได้บ้าง รวมถึงเล่าถึงสัตว์ที่พวกเขาพบเจอตลอดเส้นทางเก็บเห็ดด้วย

ป่าเป็นหนึ่งในสมบัติล้ำค่าของโลกใบนี้ พวกมันเป็นที่อยู่ของต้นไม้ ต้นกำเนิดของแหล่งน้ำ ทำหน้าที่ช่วยปกป้องผืนดินและความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างไรก็ดี มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ยังมองป่าเป็นแค่ที่ๆ พวกเขาสามารถเข้าไปตัดไม้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่มองถึงภาพรวมว่าป่ายังให้ผลผลิตอย่างอื่นกับมนุษย์อีกมากมาย เช่น น้ำผึ้ง เห็ด ผลเบอร์รี่และสมุนไพรต่างๆ

ผลผลิตต่างๆ ที่ป่ามอบให้กับมนุษย์เรานั้นมากมายมหาศาลและไม่มีที่สิ้นสุด หากเราไม่ทำลายป่านั้นๆ เสีย การอนุรักษ์ป่าให้อยู่คู่กับมนุษย์จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่ผู้คนคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะสั้นมากกว่า

บัลแกเรียเป็นหนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง พื้นที่กว่าหนึ่งในสามของประเทศถูกปกคลุมโดยป่าธรรมชาติ สัตว์หายาก เช่น หมีสีน้ำตาล เสือภูเขาและหมาป่าถูกพบได้ในป่าของบัลแกเรีย รวมถึงนกและพืชอีกนับร้อยสายพันธุ์


การเป็นประเทศที่ผู้คนและผืนป่าต่างพึ่งผิงกัน ทำให้บัลแกเรียคิดโปรเจกต์ขนาดใหญ่ที่ดึงชุมชนต่างๆ ในประเทศให้เข้ามาช่วยดูแลป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ ทุกฝ่ายต่างช่วยกันดูแลป่าเพื่อให้ความหลากหลายทางชีวภาพยังคงอยู่

กว่า 90% ของผลผลิตจำพวกของป่าและสมุนไพรที่เก็บได้จากป่าในบัลแกเรียถูกขายไปยังเยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ สร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล จนพวกเขากลายเป็นต้นแบบของกลุ่มประเทศบอลข่านในด้านการอยุรักษ์ป่า

ในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา บัลแกเรียได้รับเงินอุดหนุนจากสหภาพยุโรป (อียู) สำหรับโครงการอนุรักษ์ธรรมชาติต่างๆ ไปแล้ว 335.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินทุนเหล่านี้ถูกกระจายไปยังกระทรวงสิ่งแวดล้อมและน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติ องค์กรปกครองท้องถิ่นและองค์กรไม่แสวงผลกำไร เพื่อใช้ในโครงการอนุรักษ์ในประเทศ

อย่างไรก็ดี มิโรสลาฟ คาลูเยรอฟ ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ธรรมชาติในกระทรวงสิ่งแวดล้อมและน้ำของบัลแกเรีย ตระหนักดีว่าเงินทุนเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งของงานอนุรักษ์เท่านั้นและมันไม่ได้การันตีว่าจะช่วยให้ประสบความสำเร็จ เพราะสิ่งที่สำคัญมากกว่าคือข้อมูล

“งานอนุรักษ์ป่าจะกลายเป็นเรื่องยุ่งเหยิงถ้าปราศจากข้อมูล เป้าหมายจะไม่มีวันเป็นจริงได้” คาลูเยรอฟ กล่าว

มาซิโดเนียเหนือเป็นตัวอย่างที่ช่วยยืนยันเรื่องนี้ เพราะแม้ว่าพื้นที่ในประเทศจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับบัลแกเรีย แต่พวกเขากลับล้มเหลวในการส่งเสริมให้คนกับป่าดูแลกันและกันเช่นในบัลแกเรีย สาเหตุหลักเกิดจากการขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ของพืชในพื้นที่และกฎหมายที่ชัดเจน

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กระทรวงสิ่งแวดล้อมของมาซิโดเนียเหนือร่วมกับ UN Environment และมูลนิธิความเชื่อมโยงระหว่างป่ากับมนุษย์ ได้จัดโปรแกรมไปดูงานที่บัลแกเรียเพื่อศึกษาจากความสำเร็จของประเทศเพื่อนบ้านในการอนุรักษ์และสร้างรายได้จากผลผลิตของป่าเข้าประเทศ

การเรียนรู้จากหน่วยงานและองค์กรท้องถิ่นในบัลแกเรียผ่านโปรแกรมนี้จะช่วยให้มาซิโดเนียก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่ผู้คนและผืนป่าต่างพึ่งพาอาศัยกันได้ คนจะสามารถใช้ประโยชน์จากผลผลิตของป่าเพื่อรายได้ ขณะเดียวกันพวกเขาจะช่วยอนุรักษ์ป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืน

อเนล่า สตาเรฟสกา-พานาโยโตว่า ผู้ประสานงานมูลนิธิความเชื่อมโยงระหว่างป่ากับมนุษย์ ระบุว่า การส่งเสริมให้คนเห็นคุณค่าของป่าและผลผลิตต่างๆ ในป่าจะทำให้ป่าได้รับการปกป้องมากขึ้นจากมนุษย์ ซึ่งการมีป่ามากขึ้นย่อมหมายถึงความสามารถในการดูดซับคาร์บอนและมลพิษต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนบนโลกที่มากขึ้น

ปัจจุบันกลุ่มประเทศบอลข่านตะวันตกได้กำหนดให้การปรับปรุงคุณภาพอากาศเป็นวาระสำคัญของชาติ มีการจำกัดให้โรงไฟฟ้าต้องปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 45 ล้านเมตริกตันต่อปี ซึ่งแน่นอนว่านอกจากมาตรการจำกัดการปล่อยมลพิษแล้วพวกเขาจะอนุรักษ์และเพิ่มผืนป่าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอีกด้วย

ที่มา www.worldenvironmentday.global

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน