แบคทีเรียใน ‘อึลูกจิงโจ้’ กุญแจสำคัญลดก๊าซมีเทนในตดและเรอของวัว

ในปี 2019 IPCC รายงานว่า 13% -21% ของก๊าซเรือนกระจกจากมนุษย์มาจากภาคเกษตรกรรม ป่าไม้ และการใช้ที่ดิน โดยตัวการปล่อยก๊าซหลักจากภาคเกษตรกรรมคือก๊าซมีเทนที่มาจากฟาร์มปศุสัตว์ ก๊าซมีเทนเกิดขึ้นจากระบบย่อยอาหารของสัตว์โดยเฉพาะสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น วัวและแกะ ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่า หมู เป็ด และไก่

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการพยายามหาทางออกให้กับมลพิษ ‘ตดและเรอ’ ของวัวและแพะ ทั้งเก็บภาษีเรอ เติมส่วนผสมบางอย่างลงในอาหารสัตว์เพื่อป้องกันไม่ให้แบคทีเรียในกระเพาะอาหารผลิตก๊าซมีเทนในขณะที่ย่อยอาหาร พัฒนาวัคซีน รวมไปถึงการรณรงค์ลดการบริโภคเนื้อสัตว์

จากที่กล่าวมาข้างต้น อาหารเสริม สารยับยั้ง และวัคซีนบางชนิดส่งผลเสียต่อการทำงานทางชีวภาพในสัตว์ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น การผลิตน้ำนมของแม่โคลดลง

บทความที่เกี่ยวข้อง

สาหร่ายทะเล ลดก๊าซมีเทนจากการเรอของวัวลงได้ 82%

นิวซีแลนด์เก็บ ‘ภาษีเรอ’ แก้โลกร้อน

ก่อนหน้านี้มีการค้นพบว่าจิงโจ้มีแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ผลิตกรดอะซิติก แทนที่จะเป็นแบคทีเรียที่ผลิตก๊าซมีเทนในระบบทางเดินอาหารส่วนต้นของจิงโจ้ ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตันจึงได้พยายามค้นหาแบคทีเรียชนิดดังกล่าวจากอุจจาระของจิงโจ้ ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างพบว่าแบคทีเรียชนิดดังกล่าวอยู่ในอุจจาระของลูกจิงโจ้เท่านั้น

ทีมวิจัยจึงได้นำแบคทีเรียมาเพาะเลี้ยงก่อนทำการทดลองกับกระเพาะวัวจำลอง โดยพบว่าแบคทีเรียชนิดที่ผลิตกรดอะซิติก แบ่งตัวและเติบโตได้ดีกว่าแบคทีเรียที่สร้างก๊าซมีเทน ซึ่งการแบ่งตัวที่มากและเร็วกว่านั้นเป็นส่วนสำคัญสำหรับกระบวนการย่อยอาหาร ด้วยเหตุนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวกระเพาะจำลองจึงไม่มีก๊าซมีเทนเกิดขึ้น ขณะนี้จึงเริ่มมีการวางแผนการทดสอบกับวัวที่มีชีวิตจริง

การศึกษาวิจัยที่พยายามลดก๊าซเรือนกระจกจากการตดและเรอของวัวนั้นไม่ใช่เรื่องน่าหัวเราะ เพราะก๊าซมีเทนที่ถูกปล่อยออกมาจากระบบการย่อยอาหารดังกล่าวเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่เป็นอันดับสอง และมีศักยภาพในการทำให้บรรยากาศร้อนขึ้นมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 30 เท่า

หากการวิจัยในวัวที่มีชีวิตจริงได้ผล อาจมีการพัฒนาสูตรอาหารหรือวัคซีนต่อไปได้ในอนาคต

ที่มา

  • Feb 14,2023. Baby kangaroo fecal microbes could reduce methane from cows. WASHINGTON STATE UNIVERSITY
  • งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Biocatalysis and Agricultural Biotechnology
  • Feb 14,2023. Baby kangaroo poop may hold the key to reducing cows’ methane emissions. NewAtlas

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่