Asparagopsis taxiformis คือชื่อวิทยาศาสตร์ของสาหร่ายทะเลชนิดหนึ่ง มันมีชื่อลำลองว่า “สาหร่ายบานสีแดง” ก็เพราะว่ามันสีแดงผสมกับสีเขียวนั่นเอง
สาหร่ายชนิดนี้เป็นอาหารของชาวเกาะฮาวายมานาน และนิยมใส่กันในอาหารยอดนิยมของฮาวายที่เรียกว่า “โปเก” ซึ่งเป็นยำปลาดิบหั่นลูกเต๋าที่เสิร์ฟเป็นอาหารเรียกน้ำย่อย หรืออาหารจานหลัก
แต่ในเวลานี้สาหร่ายนี้กำลังเป็นความหวัง ในปี 2014 นักวิจัยที่สถาบัน CSIRO ได้พบว่า อาหารสัตว์เคี้ยวเอื้องที่กินสาหร่ายสีแดงเพียง 1-2% จะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากกการขับถ่ายของพวกมันได้กว่า 90%
หลังจากการค้นพบครั้งนั้นทำให้เกิดความสนใจที่จะเพาะเลี้ยงสาหร่าย Asparagopsis กันขึ้นมาเพราะการเก็บเกี่ยวจากแหล่งธรรมชาติไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการในวงกว้างและยังไม่มีการทำฟาร์มเลี้ยงมันจริง ๆ จัง ๆ ด้วย
การเก็บเกี่ยวสาหร่ายชนิดนี้จากแหล่งธรรมชาติยังจะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศอย่างมหาศาล การเพาะ Asparagopsis ถูกเสนอเพื่อเป็นแนวทางในการเพิ่มผลผลิตและยังพยายามขับเคลื่อนให้ต้นทุนการปลูกให้ต่ำลง เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อและโคนมทั่วโลกสามารถนำไปใช้ได้
นับตั้งแต่ปี 2018 สตาร์ทอัปและสถาบันต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น KTH Royal Institute of Technology บริษัท Volta Greentech และบริษัท Symbrosia จากมหาวิทยาลัยเยลในสหรัฐอเมริกาต่างกำลังทำงานเพื่อขยายพันธุ์สาหร่ายชนิดนี้
ในส่วนของ Symbrosia ได้ดำเนินการทดลองปลูกสาหร่าย Asparagopsis เชิงพาณิชย์ครั้งแรกของโลกในปี 2020 และพบว่ามีเทนในลำไส้ของสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อกินเนื้อและกินนมลดลงมากกว่า 75%!
ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาคือ SeaGraze เป็นการปลูกสาหร่ายสีแดงโดยใช้แสงแดดและน้ำทะเลในฮาวาย ใช้กระบวนการทำฟาร์มที่เรียกว่า aquaculture (การเพาะเลี้ยงในน้ำ) ใช้น้ำจืดเป็นศูนย์และกำจัดของเสียทางชีวภาพด้วย
ขั้นตอนต่อไป พวกเขาแปรรูปสาหร่ายเป็น SeaGraze โดยใช้พลังงานหมุนเวียน 100% มันคืออาหารสัตว์ที่ปลอดภัยต่อการบริโภคสัตว์ทุกชนิด โดยตอนนี้เน้นที่วัว แกะ แพะ และควาย
แล้วมันทำงานอย่างไร? ในระหว่างการหมักในลำไส้ของกระบวนการย่อยอาหารของวัว SeaGraze จะลดก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติทางเคมีโดยไม่ส่งผลกระทบต่อกรดไขมันที่ช่วยให้วัวผลิตผลิตภัณฑ์ เช่น นม ขนสัตว์ และเนื้อสัตว์
แล้วถ้าสัตว์ไม่กินอาหารจากสาหร่ายนี้จะเกิดอะไรขึ้น? ในกระบวนการหมักในท้องสัตว์โดยทั่วไป H2 (ไฮโดรเจน) และ CO2 (คาร์บอนไดออกไซด์) จะรวมกันภายในกระเพาะอาหารเพื่อสร้าง CH4 (มีเทน) ที่ปล่อยออกมาเมื่อใดก็ตามที่วัวเรอ
อย่างไรก็ตาม ด้วย SeaGraze ก๊าซ H2 จะถูกบล็อกจาก C (คาร์บอน) ทำให้ลด methanogens (แบกทีเรียที่ผลิตมีเทน) ตามธรรมชาติผ่านการย่อยอาหาร
นอกจากบริษัท Symbrosia แล้วยังมีผลิตภัณฑ์ชื่อ FutureFeed ที่พัฒนาโดยสถาบัน CSIRO ในออสเตรเลียจนในปี 2020 ได้รับรางวัล Food Planet Prize มูลค่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับผลิตภัณฑ์สาหร่าย Asparagopsis ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนในปศุสัตว์
และยังมีบริษัท Blue Ocean Barns ในฮาวาย ทำการปลูกสาหร่าย Asparagopsis ในถังแนวตั้งบนบกใกล้ชายฝั่ง โดยใช้น้ำทะเลลึกเพื่อให้อุณหภูมิและสารอาหารที่เหมาะสม โดยเน้นการขายที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเกษตรกรได้รับคำสั่งตามกฎหมายให้ลดการปล่อยก๊าซมีเทน
ข้อมูลจาก
- https://symbrosia.co/seagraze
- Marchant, Gabriella (19 December 2020). “Australian ‘super seaweed’ supplement to reduce cattle gas emissions wins $1m international prize”. ABC News.
- Jesse Klein (August 12, 2020). “5 feed companies that could relieve the cow burp methane problem”. Greenbiz.
- Wikipedia contributors. “Asparagopsis taxiformis.” Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 19 Feb. 2022. Web. 2 May. 2022.
ภาพ Jean-Pascal Quod – The uploader on Wikimedia Commons received this from the author/copyright holder.