ผลกระทบจาก “พ.ร.ก.ประมง มาตรา 69” แก้ไขใหม่ นักอนุรักษ์ ชี้ จาก 90% นำเข้าปลาทู สัตว์น้ำเศรษฐกิจหลัก สู่การสูญเสีย 1 แสนล้านบาท และอาจพากลับไปสู่ยุค “ทะเลร้าง” อีกครั้ง
พลันร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 เห็นชอบในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2567 ทำให้กฎหมายฉบับนี้ ผ่านสภาฯ เข้าสู่การพิจารณาของชั้นวุฒิสภา ทำให้กลุ่มเครือข่ายประมง ออกโรงคัดค้าน พร้อมติด #หยุดม.69 คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ประมง มาตรา 69 ด้วยสาระของ “พ.ร.ก.ประมง มาตรา 69” ใหม่ ระบุว่า “ห้ามใช้อวนล้อมจับในเขต 12 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งในเวลากลางคืน” นั่นหมายความว่า หากอยู่นอกเขต 12 ไมล์ทะเล จะสามารถใช้อวนล้อมจับที่มีช่องตาเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตรได้ รวมถึงใช้งานในเวลากลางคืนได้ด้วย นั่นจึงเป็นสาเหตุทำให้เครือข่ายประมง และกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กังวลใจ
พ.ร.ก. ประมง มาตรา 69 คืออะไร
มาตรา 69 ใน พ.ร.ก. ประมง 2558 เดิมที ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับ ที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทําการประมงในเวลากลางคืน”
ทว่าร่างกฎหมายประมงใหม่ในมาตรา 23 ระบุว่า ให้ยกเลิกความในมาตรา 69 แห่ง พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงในเขตสิบสองไมล์ทะเลนับจากแนวทะเลชายฝั่งในเวลากลางคืน”
จากข้อความที่กำหนดใน พ.ร.ก.ประมง มาตรา 69 “เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตร” นั่นหมายความว่า ความห่างของช่องว่างของอวน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตาอวน” จะมีขนาดเล็กมาก เท่ากับมุ้ง ที่เราใช้คลุมเตียงนอน (ชาวบ้านจึงเรียกว่า “อวนตามุ้ง”)
ตาอวนที่มีความถี่แบบนี้ จะส่งผลให้เวลาทำการประมง สัตว์น้ำวัยอ่อน หรือลูกสัตว์น้ำขนาดเล็ก ติดมากับอวนด้วย หรือเรียกว่าจับสัตว์น้ำพลอยได้ (By-catch) ซึ่งหากใช้อวนที่มีตาห่างขึ้นไปหน่อย ก็จะมีช่องว่างเพียงพอให้สัตว์น้ำขนาดเล็กไม่ถูกจับ
กรีนพีซ ประเทศไทย ให้ข้อมูลถึงสิ่งที่น่ากังวล ต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ อาจส่งผลเสียร้ายแรงต่อระบบนิเวศทางทะเลและความยั่งยืนของการประมงในไทย
- แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกคุกคาม
นอก 12 ไมล์ทะเล ยังคงเป็นพื้นที่ที่สัตว์น้ำวัยอ่อนอาศัยและเจริญเติบโต การใช้อวนตาถี่ในบริเวณนี้ จะทำให้ลูกปลาขนาดเล็กจำนวนมากถูกจับและนำไปขายเป็น ปลาป่น ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์
- ไฟล่อปลาและอวนล้อมทำลายล้าง
อวนล้อมมักใช้ไฟล่อที่มีความสว่างสูงมาก ซึ่งสามารถล่อปลาจากเขตชายฝั่งเข้ามาติดอวนได้ แม้จะอยู่นอก 12 ไมล์ทะเล สัตว์น้ำวัยอ่อนและปลาขนาดเล็กที่ถูกจับไป จะไม่สามารถเติบโตเพื่อแพร่พันธุ์ต่อ ทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล
ไทยเคยเจอ “ทะเลร้าง” มาแล้วในอดีต
ย้อนกลับไปช่วงปี 2520-2530 การประมงแบบทำลายล้าง เคยทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ทะเลร้าง” ชาวประมงพื้นบ้านต้องออกเรือไปไกลกว่าเดิม ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น บางคนต้องเลิกอาชีพ และไปเป็นลูกจ้างในเรือพาณิชย์ และหลายพื้นที่ในทะเลไทย ไม่มีสัตว์น้ำเพียงพอที่จะทำประมง หลังจากวิกฤตครั้งนั้น ชาวประมงพื้นบ้านเริ่มรวมตัวกันเพื่อฟื้นฟูทะเล ทำงานอนุรักษ์ และพยายามผลักดันให้เกิดระบบการประมงที่ยั่งยืน
กฎหมายผ่าน จะเกิดอะไรขึ้น?
- การแก้ไขมาตรา 69 ในลักษณะนี้ อาจพาเรากลับไปสู่ยุคที่ทะเลร้างอีกครั้ง
- งานฟื้นฟูที่ผ่านมาหลายสิบปีจะสูญเปล่า ความพยายามของชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนต่างๆ ในการอนุรักษ์สัตว์น้ำและทะเลจะถูกทำลายลงทันที
- ระบบนิเวศจะเสียสมดุล ลูกปลาที่มีความสำคัญต่อห่วงโซ่อาหารและการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำจะลดลง ส่งผลกระทบต่อทะเลในระยะยาว
- ชาวประมงพื้นบ้านจะเดือดร้อน การประมงเชิงพาณิชย์แบบทำลายล้างจะทำให้ทรัพยากรลดลง ชาวประมงพื้นบ้านต้องออกเรือไกลขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น และขาดรายได้
เมื่อกฎหมายประมงเปิดทางสู่หายนะ: ความเสี่ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจไทย
ด้าน วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย มองว่า พ.ร.ก.ประมง มาตรา 69 เปิดทาง “เครื่องมืออุตสาหกรรมประมงชนิดใหม่” อวนล้อม 3 มิล มุ่งจับสัตว์ทะเลขนาดเล็กและสัตว์น้ำวัยอ่อน โดยเฉพาะ ดังนั้น โศกนาฏกรรมทางทะเล ทำปลาทูไทยล่มสลาย จนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นปริมาณ 90% ของการบริโภคคนไทยทั้งหมด ซึ่งมีปริมาณรวมประมาณ 3-4 แสนตัน หรือ 300-400 ล้านกิโลกรัม ต่อปี
วิโชคศักดิ์ โพสต์บนเฟซบุ๊กว่า หากคำนวณมูลค่า ปลาทูในมูลค่าตลาด 80-100 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นเงิน 30,000,000,000 – 40,000,000,000 บาท (สามหมื่นถึงสี่หมื่นล้านบาท) เป็นตัวเลขความเสียหาย ขาดดุล หลุดรุ่ยทางเศรษฐกิจ ที่คนไทยต้องแบกรับ ในทุกๆ ปี นี่แค่สัตว์น้ำเศรษฐกิจหลัก เพียงชนิดเดียว ในจำนวนสัตว์น้ำเศรษฐกิจ กว่า 700 ชนิดในทะเลไทย ที่มีมูลค่าสูงกว่าปลาทู เช่น
- ปลาอินทรี 200 บาทต่อกิโลกรัม
- ปูม้า 300 บาทต่อกิโลกรัม
- กุ้งแชบ๊วย 400 บาทต่อกิโลกรัม ฯลฯ
สัตว์น้ำเศรษฐกิจเหล่านี้ ล้วนอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ที่จะถูกเครื่องจักรล้างผลาญชนิดใหม่นี้ ทำลายได้ในทันที
“สำหรับผม คำนวณและเชื่อว่า เราคนไทยสูญเสียเม็ดเงิน เพราะการบริหารทรัพยากรทรงคุณค่า แบบปู้ยี่ปู้ยำเช่นนี้ ไม่ต่ำกว่าปีละ 100,000,000,000 บาท (หนึ่งแสนล้านบาท) ซ้ำๆ ซ้ำๆ ทุกปี ทุกปี” วิโชคศักดิ์ แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กด้วยความกังวล
อวนล้อมจับ ภัยเงียบที่ทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำไทย
ทั้งนี้ มีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับการประมงในไทย โดยเฉพาะการใช้อวนล้อมจับที่มีขนาดตาข่าย 2.5 เซนติเมตรในเวลากลางคืน ซึ่งจะได้รับอนุญาตให้ทำได้ในพื้นที่ 12 ไมล์ทะเลจากฝั่ง แต่ปัญหาคือพื้นที่นี้เป็นเส้นทางอพยพของลูกปลาวัยอ่อน
ประวัติการใช้อวนล้อมจับ : อวนชนิดนี้ถูกห้ามใช้มาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของอุตสาหกรรมประมงไทยเมื่อ 50 ปีก่อน ไม่ใช่เพราะถูกรังแก หรือบังคับให้เลิกใช้ในปี 2558 ตามที่มีการอ้างในการพิจารณาขั้นกรรมาธิการ
ผลกระทบจากอวนช้อน, อวนยก, อวนครอบ: แม้แต่อวนที่มีขนาดตาข่าย 3 มิลลิเมตร (หรือ 6 มิลลิเมตร ตามวิธีวัดในอุตสาหกรรม) ก็ยังสามารถจับสัตว์น้ำขนาดเล็กได้มากมาย เช่น ปลากะตักขนาด 3-5 เซนติเมตร ทำให้ปลาทูและสัตว์น้ำเศรษฐกิจอื่นๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้คนไทยต้องแบกรับต้นทุนจากราคาสัตว์น้ำที่เพิ่มขึ้น
บทสรุป: การอนุรักษ์ทะเลไม่ใช่เรื่องของชาวประมงพื้นบ้านเพียงกลุ่มเดียว แต่เป็นเรื่องของทุกคน เพราะทะเลเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของเรา สิ่งที่ภาคประชาสังคมต้องการคือ กฎหมายที่ปกป้องระบบนิเวศทางทะเล การสนับสนุนการประมงพื้นบ้านที่ยั่งยืน และการคุ้มครองพื้นที่อนุรักษ์ทะเลของชุมชน
อ้างอิง :