กลุ่มประมงพื้นบ้านค้านร่าง พ.ร.บ.การประมงฉบับใหม่ที่จะเข้าวาระ 3 วันที่ 25 ธ.ค.นี้ ระบุเปิดช่องทำลายห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศอย่างร้ายแรง
ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ได้ถูกบรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่สอง ในวันที่ 25 ธ.ค. 2567 เวลา 9.00 น. โดยร่าง พ.ร.บ.การประมง ฉบับนี้เป็นการแก้ใข พ.ร.ก.การประมง ปี 2558 ซึ่งในชั้นการแก้ไขของกรรมาธิการในวาระสอง ทางกลุ่มประมงพื้นบ้านได้ตั้งข้อสังเกตว่า มีความไม่ชอบมาพากล
“..ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านร่วมลงมติแก้ใข 413 เสียง โดยไม่มีใครคัดค้าน รวมถึงมีทั้งประมงพื้นบ้าน และพาณิชย์ ร่วมเข้าแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ วาระสอง
ถึงแม้สัดส่วนจะเป็นการจัดตั้ง บล็อคเสียงตั้งแต่ชั้นแรก การแก้ใขหลายมาตราใช้เหตุผล และหาข้อสรุป แต่มีความไม่ชอบมาพากลในเรื่องของมาตรา 69
ในการอนุญาตใช้อวนตาถี่เท่ามุ้งกันยุง จับสัตว์น้ำในทะเลโดยการใช้คำที่ เหมือนห้าม แต่อนุญาต ซึ่งถ้าไม่ทำความเข้าใจจะนึกว่าห้าม แต่เป็นการซ่อนคำ
ในกฎหมาย การโหวต มาตรา 69 ให้ผ่านในชั้นกรรมาธิการ แน่นอนการจัดตั้งเสียงโหวตตั้งแต่ต้น ทำให้ชนะในการโหวต”
นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.การประมง ฉบับที่จะเข้าสภาในฐานะที่เป็นชาวประมงตั้งแต่เด็กน้อย นี่คือความเลวร้าย ของท้องทะเล ไม่ใช่ความก้าวหน้า
มาตรา 69 รัฐบาลที่มาจากการปฎิวัติ ไม่อนุญาตให้ทำ
มาตรา 69 ระดับสากลโลก อียู ทั่วโลก ไม่อนุญาตให้ทำ
มาตรา 69 ทุกรัฐบาลในประเทศไทย ตั้งแต่มีประเทศไทยไม่อนุญาตให้ทำการประมงด้วยวิธีการนี้ ทุกอย่างพิสูจน์ด้วยข้อมูล และงานวิจัยจึงขอคัดค้านมาตรา 69 ในการใช้มุ้งจับสัตว์น้ำด้วยวิธีการปั่นไฟแล้วล้อม
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา นายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย พร้อมคณะได้เข้ายื่นหนังสือเพื่อขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาทบทวนการแก้ไขมาตรา 69 ซึ่งอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนด พ.ศ.2558 พ.ศ. ….สภาผู้แทนราษฎร
นายปิยะ กล่าวว่า สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ เป็นการรวมตัวกันของชาวประมงพื้นบ้านที่มีฐานะยากจนและประสบปัญหาในการดำรงชีพชีพทั่วประเทศ เห็นว่าการแก้ไขมาตรา 69 ซึ่งมีการอนุญาตให้ใช้อวนล้อมปั่นไฟจับสัตว์น้ำด้วยอวนตาถี่จะส่งผลกระทบต่อชาวประมงพื้นบ้านและทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างรุนแรง เนื่องจากเครื่องมืออวนตาถี่ที่ตีวงล้อมจับเป็นเครื่องมือที่เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำวัยอ่อนและพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจอย่างหนัก
โดยประเทศไทยห้ามใช้โดยเด็ดขาดมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2526 และยังยืนยันกำหนดไว้ในกฎหมายประมงปื 2558 “ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เชนติเมตร ทำการประมงในเวลากลางคืน” แม้จะอ้างว่า ให้ทำที่เขต 12 ไมล์ทะเลนับจากแนวทะเลชายฝั่ง แต่พื้นที่ดังกล่าวเป็นทั้งเส้นทางเดิน และแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำวัยอ่อนสัตว์น้ำหายาก
รวมทั้งเป็นพื้นที่ทำประมงพื้นบ้านอย่างมีนัยสำคัญ จึงขอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณายับยั้งการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำวัยอ่อน ด้วยอวนล้อมปั่นไฟจับสัตว์น้ำด้วยอวนตาถี่ โดยการสนับสนุนการทบทวนการแก้ไขมาตรา 69 แห่งร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พ.ศ. …. ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระ 3 ด้วย
ด้าน นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ผ่านเฟซบุ๊กเพจ Wichoksak Ronnarongpairee ว่า มีการเสนอให้ยกเลิกความในมาตรา 69 แห่ง พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 เดิมที่กำหนดไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตรทำการประมงในเวลากลางคืน” และเขียนใหม่ว่า
“มาตรา 69 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตรทำการประมงในเขตสิบสองไมล์ทะเลนับจากแนวทะเล ชายฝั่งในเวลากลางคืน การทำการประมงนอกเขตพื้นที่สิบ สองไมล์ทะเลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และ พื้นที่ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด”
ความหมายที่แท้จริงของการแก้ไขก็คือ “การเปิดให้อุตสาหกรรมปั่นไฟล่อสัตว์น้ำแล้วอนุญาตให้ใช้ “อวนล้อมจับ” ที่มีขนาดตาอวนเล็กกว่า 2.5 ซม.ทำได้โดยให้เริ่มทำที่ 12ไมล์ทะเล และในทางปฏิบัติของเครื่องมือประมงไทยนั้น อวนชนิดเดียวที่อนุญาตให้ใช้ต่ำกว่า 2.5 ซม. คือ “อวนที่มีขนาดช่องตาอวนสองด้านรวมกันได้เท่ากับ 6 มิลลิเมตร หรือเท่ากับด้านละ 3 มิลลิเมตร
นายวิโชคศักดิ์ กล่าวว่า การทำประมงด้วยช่องตาอวนเช่นนี้ไม่ว่าจะใช้ทำในพื้นที่ใดในเวลากลางคืน ล้วนเป็นการประมงทำลายพันธ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจ ตัดตอนการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อนก่อนวัยอันควร และทำลายห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศอย่างร้ายแรง
ขณะที่ Environmental Justice Foundation Thailand (EJF) ระบุว่า ขอเชิญติดตามกระบวนการนิติบัญญัติในการพิจารณา พ.ร.บ. การประมง ดังกล่าวโดยมีประเด็นน่าติดตามทั้งประเด็นการทำประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้าน สิ่งแวดล้อม และแรงงาน เช่นมาตราดังต่อไปนี้
– มาตรา 10/1-11/1: การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและแรงงานเด็กในสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำ
– มาตรา 69: อวนล้อมจับปั่นไฟจับสัตว์น้ำด้วยอวนตาถี่
– มาตรา 85/1: การขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเล
– และอื่นๆ
สำหรับมาตรา 14 ระบุไว้ในร่างกฎหมายนี้ว่า มาตรา 23 ให้ยกเลิกความในมาตรา 69 แห่ง พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 69 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตรทำการประมงในเขตสิบสองไมล์ทะเลนับจากแนวทะเลชายฝั่งในเวลากลางคืน…การทำการประมงนอกเขตพื้นที่สิบสองไมล์ทะเลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และพื้นที่ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวต้องกำหนดในเรื่องการใช้แสงไฟล่อไว้ด้วย”
อ่านร่าง พรบ. การประมง: https://tinyurl.com/bd7h6j9s