นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เขียนบทความลงในเพจ บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา มีเนื้อหาระบุว่า ถ้านักวิทยาศาสตร์ นักฟิสิกส์ นักอุตุนิยมวิทยา วิศวกร ร่วมมือช่วยกันแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 คงจะดีไม่น้อย
ปัญหาฝุ่น PM2.5 เหมือนภัยที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งเราทุกคนรู้สึกได้ ความหนักของมันทำให้เราเริ่มกลัว และอยากเห็นมาตรการการแก้ไขปัญหา
คิดเล่นๆ … ถ้าผมมีความรู้ด้าน ฟิสิกส์ วิศวะ ฯลฯ คงจะดีไม่น้อยจะได้ไปช่วยกันแก้ไขปัญหานี้… เพราะการแก้ไขด้วยการใส่หน้ากาก เป็นแค่แก้ปลายเหตุ ส่วนการห้ามคนไม่ให้เผา และเป็นแค่คำพูดซึ่งปฏิบัติไม่ได้จริงก็คงไม่สามารถเป็นความหวังได้ เป็นได้แค่ยาหอม
ถ้าเคยดูหนังเรื่อง Apollo 13 เราอาจจะลองให้วิธีคิดแบบนั้นมาใช้กับสถานการณ์นี้ดูนะครับ .. นักบินอวกาศ 3 คน อยู่ในอวกาศ โดยรู้แน่ว่า เชื้อเพลิงไม่พอ เนื่องจากปัญหาตอน take off จะลงจอดบนดวงจันทร์ตามพันธกิจก็ไม่ได้แน่ แต่ที่สำคัญคือ จะทำอย่างไร ให้ทั้ง 3 คน รอดตาย กลับโลกได้
การระดมสรรพกำลัง คิดหาวิธี และมีการทดลองทำจริงในห้องทดลอง จนสุดท้ายสามารถมี happy ending ที่นำคนกลับมาได้ ไม่ใช่อาศัยโชคชะตา หรือแค่พูดกันลอยๆ
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้เพิ่งเกิด ไม่ได้เกิดเฉพาะประเทศไทย มีองค์ความรู้อยู่แล้วบางส่วน เช่น รู้ว่าการเผา (40%) และท่อไอเสียจากรถยนต์ (25%) เป็นแหล่งที่มาของฝุ่น เมื่อประกอบสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม อันได้แก่ อุณหภูมิ (ต่ำ) ความชื้น (มาก) และความเร็วลม (ต่ำ) ฯลฯ ที่เอื้อให้เกิดการรวมตัวกันของฝุ่น ทำให้ฝุ่นล่องลอย ไม่เกาะติดกับตัวกรอง หรือไม่ตกลงมา หรือไม่ลอยขึ้นไป
เรารู้ว่ามันมีพิษ เพราะมีละอองของ nitrogen และ sulfur ซึ่งเมื่อจับกันเป็นสารพิษ ทำให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุต่างๆ จนถึงเส้นเลือด เพราะซึมเข้าไปในกระแสเลือดได้
เมืองปักกิ่ง มีวิธีแก้ไขปัญหาจนปัญหาฝุ่นลดลง … บ้านเราปัญหาหนักขึ้น เมื่อมีก่อสร้าง และตึกสูงบังลม …. การแก้ไขปัญหาระยะยาว คงต้องมีมาตรการและ ทิศทางที่ชัดเจน ไม่ได้ทำแบบสุภาษิตที่ว่า ตำข้าวสารกรอกหม้อ หรือ ขายผ้าเอาหน้ารอด … แต่การแก้ปัญหาระยะสั้นนี่สำคัญมาก ควรทำแบบมีหลักวิชา ไม่ใช่ฉีดน้ำ ทั้งที่มีการศึกษาว่าฉีดน้ำไม่ได้ผล
ถ้าหากนักวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่มากมายตามมหาวิทยาลัย นักฟิสิกส์ วิศวกร มาช่วยกันคิด ผมว่า คนไทยเก่งไม่แพ้ใครหรอกครับ
ทำยังไง ถึงจะเปลี่ยน สภาพแวดล้อมให้ไม่เหมาะกับการเกิด PM2.5 การเก็บความร้อนให้ค่อยๆ คลายตัวเหมือนการเกิดลมบกลมทะเลได้ไหม การกระตุ้นให้เกิดการไหลของอากาศ เหมือนที่เราทำในอุโมงค์ลมเวลาทดสอบเครื่องบิน ทำการกระตุ้นโดยใช้หลักจลศาสตร์ของของไหล ทำให้เป็นลูกโซ่ เหมือนการเกิดสึนามิของลมได้ไหม กระบวนการสร้างประจุ หรือดูดความชี้นของอากาศที่เป็นแบบ massive ได้ไหม อยากให้ลองนะครับ
ฝากถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการ เพราะชีวิตคนมีค่าครับ ระดมสรรพกำลัง ผมเชื่อว่าคนไทยทำได้ครับ การแก้ปัญหา ฝุ่น PM2.5 ไม่เกินความสามารถ นักวิทยาศาสตร์ไทย