นักวิจัยพบฟอสซิลกิ้งกือใหญ่ที่สุด
ลำตัวยาว 2.6 เมตร หนัก 50 กิโลฯ

by IGreen Editor

นักวิจัยในสหราชอาณาจักรพบฟอสซิลกิ้งกือที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งมีความยาวเท่ากับรถยนต์และคาดว่าน่าจะมีชีวิตในช่วงยุคคาร์บอนิเฟอรัส ระหว่าง 359 ล้านถึง 299 ล้านปีก่อน

ฟอสซิลกิ้งกือยักษ์ที่ค้นพบคือ Arthropleura เป็นสกุลกิ้งกือที่อาศัยอยู่ในอเมริกาเหนือและยุโรป ซึ่งมีอายุประมาณ 326 ล้านปี ในกลุ่มหินทรายที่แตกเป็นเสี่ยง ๆ บนชายหาดในนอร์ธัมเบอร์แลนด์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษในเดือนพฤษภาคม 2018 ชิ้นส่วนโครงกระดูกภายนอกยาว 75 ซม.และกว้าง 55 ซม. ซึ่งหมายความว่ากิ้งกือตัวนี้จะมีความยาวประมาณ 2.6 เมตร และหนักประมาณ 50 กิโลกรัม

การศึกษานี้ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the Geological Society วันที่ 20 ธันวาคม 2021 โดยดร.นีล เดวีส์ นักธรณีวิทยาจาก Department of Earth Sciences แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในอังกฤษ

หนึ่งในทีมวิจัยระบุว่า ฟอสซิลนี้น่าจะเป็นสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในยุคคาร์บอนิเฟอรัส ซึ่งเป็นเรื่องที่โชคดีมากเพราะบริเวณที่พบไม่ใช่พื้นที่ที่จะมีฟอสซิล และการค้นพบนี้ก็โดยบังเอิญจากการเดินผ่านของอดีตนักศึกษาปริญญาเอก

ฟอสซิลกิ้งกือยักษ์ที่ค้นพบคือเปลือกนอกที่ลอกคราบแล้ว ตามปกติจะไม่กลายเป็นฟอสซิล เพราะจะสลายตัวอย่างรวดเร็ว แต่อันนี้ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีเป็นพิเศษ “ดูเหมือนเปลือกนี้จะถูกกลบด้วยทรายหลังจากลอกคราบได้ไม่นาน” ดร.เดวีส์กล่าว “มันอยู่ในพื้นที่ที่อดีตเคยเป็นแม่น้ำ ดังนั้นคาดว่ามันน่าจะตกลงไปในแม่น้ำสายเล็ก ๆ และถูกฝังตัวลงเป็นตะกอนอย่างรวดเร็ว”

ฟอสซิล Arthropleura อื่น ๆ เคยถูกค้นพบในเยอรมนี แต่ฟอสซิลใหม่นี้เป็นฟอสซิลที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดที่เคยค้นพบมา

จากการศึกษาพบว่า กิ้งกือ Arthropleura จะพบได้มากในบริเวณเส้นศูนย์สูตร ซึ่งในขณะนั้นน่าจะใกล้เคียงกับสหราชอาณาจักรในปัจจุบัน

เส้นศูนย์สูตรของโลกไม่ได้ตั้งตรงเสมอไป สามารถเคลื่อนที่เปลี่ยนมุมได้ หรือที่เรียกว่าการหันเหขั้วโลก (True Polar Wonder) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อดาวเคราะห์หรือดวงจันทร์เคลื่อนที่รอบแกนของมัน ทำให้ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของขั้วเหนือและขั้วใต้เปลี่ยนไป

ภูมิอากาศแบบเขตร้อนของอังกฤษในช่วงยุคคาร์บอนิเฟอรัส มีแนวโน้มว่าจะทำให้สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเหล่านี้เติบโตได้ในขนาดที่ไม่ธรรมดา

“มันอาจจะเป็นแค่สภาพแวดล้อมที่เหมาะกับพวกมันเท่านั้น พวกมันจะมีอาหารมากมายจากต้นไม้และพืช และไม่มีการแข่งขันกับสัตว์อื่นมากนัก” ” ดร.เดวีส์กล่าว

จากสภาพภูมิอากาศที่ทำให้สัตว์เลื้อยคลานสามารถเจริญเติบโตบนบกได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนมาถึงในช่วงต้นยุคเพอร์เมียน (Permian) ระหว่าง 299 ล้านถึง 252 ล้านปี ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของเส้นศูนย์สูตรมาสู่ตำแหน่งปัจจุบัน ทำให้กิ้งกือ Arthropleura ต้องเผชิญกับการแข่งขันมากขึ้น ในขณะที่ทรัพยากรน้อยลง และในที่สุดก็สูญพันธุ์

อ้างอิง:

Harry Baker (December 20,2021) “Scientists find fossil of largest arthropod to ever live, a car-sizemillipede.” Livescience.

Harry Baker (October 26,2021) “Earth tipped on its side (and back again) in ‘cosmic yo-yo’ 84 million years ago” Livescience.

Copyright @2021 – All Right Reserved.