จับกุมค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง ลูกเสือ นกกก และนกกรามช้าง นัดซื้อขายที่โคราชมูลค่านับล้าน

เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์ปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปทส.ตร.) ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  แถลงการจับกุมผู้ต้องหาครอบครอง และค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา พบการขายลูกเสือ ลูกนกกาฮัง และลูกนกกรามช้าง

ทั้งนี้ จากการสืบสวนพบว่าจะมีการขายลูกเสือ ลูกนกกาฮัง และลูกนกกรามช้าง ในบริเวณ ต.ธารปราสาท อ.โนนสูง ซึ่งเคยขออนุญาตประกอบกิจการสวนสัตว์ เมื่อปี 2557 แต่ขาดต่อใบอนุญาตไปตั้งแต่ปี 2562 โดยมีนายเคียง (สงวนนามสกุล) เป็นเจ้าของสถานที่ และเป็นผู้ขายสัตว์ป่าดังกล่าว

นายเคียง เสนอขายลูกเสือ อายุประมาณ 3 เดือน จำนวน 2 ตัว นกกาฮัง 6 ตัว และนกกรามช้าง 2 ตัว หลังการจับกุมเจ้าหน้าที่ได้นำตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยของกลางส่ง สภ.โนนสูง จ.นครราชสีมา เพื่อดำเนินคดีต่อไป

การกระทำดังกล่าว มีความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 17 ในข้อหาร่วมกันมีสัตว์ป่าคุ้มครอง และซากของสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี อัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และมาตรา 29 ในข้อหาร่วมกันค้าสัตว์ป่าคุ้มครองและซากของสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี อัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นกเงือกกรามช้าง

หากพบพยานหลักฐานว่ามีการนำสัตว์ป่า ซึ่งเป็นสัตว์ควบคุมลักลอบเข้ามาจากต่างประเทศอาจเป็นความผิดในข้อหานำเข้าซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าควบคุม (สัตว์ไซเตส) ชากสัตว์ป่าดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาต อัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 23

นายเคียงที่ตกเป็นผู้ต้องหา อายุ 67 ปี ยอมรับว่าเป็นเจ้าของสถานที่ที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้น และรับซื้อสัตว์ป่าคุ้มครองทั้งหมดมาจากบุคคลที่อยู่กรุงเทพฯ โดยนกกาฮังซื้อมาตัวละ 6,000 บาท นกเงือกกรามช้าง ตัวละ 8,000 บาท และลูกเสือโคร่ง ตัวละ 150,000 บาท และขายต่อในราคาร่วมล้านบาท ซึ่งสัตว์ทั้งหมดจะมอบให้กับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เก็บรักษาจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

นกกาฮัง หรือ นกกก

นกกก หรือ นกกาฮัง หรือ นกกะวะ เป็นนกที่มีลำตัวขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มนกเงือก 13 ชนิดที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย มีลำตัวยาวจากหางถึงปาก อาจจะถึง 150 ซม. น้ำหนักหลายกิโลกรัม เป็นนกที่มีอายุยืนได้ถึง 30-40 ปี ประเทศไทยมีทั่วไปเกือบทุกภาคยกเว้นภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน

เคยมีมากที่เกาะตะรุเตา กินผลไม้และสัตว์เล็ก เช่น กิ้งก่า แย้ หนู งู อาศัยอยู่ตามป่าดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบเขา ซึ่งมีต้นไม้สูงๆ ชอบอยู่กันเป็นฝูงเล็ก ๆ ฤดูผสมพันธุ์จะอยู่กันเป็นคู่ ๆ ชอบกระโดดหรือร้อง ขณะหากินร้องเสียงดังมาก เวลาบินจะกระพือปีกสลับกับร่อน เสียงกระพือปีกดังคล้ายเสียงหอบ มีสถานภาพที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

นกเงือกกรามช้าง มีขนาด 110 เซนติเมตร มีขนาดเล็กกว่านกกกเล็กน้อย โหนกเตี้ยแบนมีลอนหยัก จำนวนลอนบ่งบอกถึงอายุของนก คืออายุ 1 ปี มี 1 ลอน ชอบกินผลไม้เป็นส่วนใหญ่ บินได้ไกลมาก หากินได้ทั่วไป มีเสียงร้อง เอิก เอิ๊ก เอิก เอิ๊ก ชอบอาศัยอยู่ตามป่าดงดิบจากที่ราบจนถึงที่สูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล

นกเงือกทุกชนิดช่วยแพร่กระจายพันธุ์เมล็ดพืชป่าได้ตลอดชีวิต ให้ต้นไม้ไปงอกไกล ๆ ตามระยะที่นกเงือกบินหาอาหารไป และผลไม้หลายชนิดก็วิวัฒนาการปรับตัวให้ผ่านระบบการย่อยของนก เพื่อให้เมล็ดพืชมีความเหมาะสมพอดี พร้อมงอกทันทีเมื่อถูกขับถ่ายออกมา

สำหรับเสือโคร่งอาศัยอยู่ในกลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็นทางภาคตะวันออก-ภาคอีสาน และ กลุ่มป่าแก่งกระจาน เสือเป็นสัตว์ที่มีชีวิตสันโดษ ยกเว้นแม่เสือที่มีลูกอ่อน แต่เสือแต่ละตัวจะมีอาณาเขตไม่ไกลกันนัก เสือโคร่งบางตัวอาจมีพฤติกรรมเข้าสังคม เช่น แบ่งปันเหยื่อกันกิน เสือโคร่งจะหลบซ่อนตัวอยู่ในถ้ำ โพรงไม้ และในบริเวณที่มีต้นไม้หนาแน่น เสือโคร่งแต่ละตัวจะมีอาณาเขตอาศัยเป็นของตัวเอง

ในพื้นที่ที่มีเหยื่ออุดมสมบูรณ์ เมื่อเสือโคร่งโตเต็มวัย ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะอาศัยอยู่เพียงลำพัง จนกระทั่งถึงเวลาที่พร้อมจะผสมพันธุ์ ซึ่งตัวเมียอุ้มท้องประมาณ 3 เดือนก่อนคลอดลูกจำนวน 2 – 7 ตัว แต่ส่วนใหญ่ลูกจะรอดชีวิตจนโตเต็มวัยประมาณ 2 – 3 ตัวเท่านั้น เสือโคร่งตัวเมียเท่านั้นที่ทำหน้าที่เลี้ยงลูก ในขณะที่ตัวผู้จะคอยปกป้องอาณาเขตไม่ให้เสือโคร่งตัวผู้อื่น ๆ รุกล้ำ และอาจจะผสมพันธุ์กับเสือโคร่งตัวเมียอื่น ๆ ที่อยู่ในอาณาเขตของตน

เสือโคร่งเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และในประเทศไทยเสือโคร่งมีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และถูกจัดให้เป็นสัตว์ที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์ โดยปัจจัยที่ทำให้จำนวนเสือโคร่งมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว มีปัญหาหลักอยู่ 3 ปัจจัย คือ การถูกล่า จำนวนของเหยื่อลดน้อยลง และพื้นที่ป่าถูกทำลาย

การสืบสวนจับกุมในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนข้อมูลการสืบสวนจากมูลนิธิฟรีแลนด์ หากพบเห็นการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่าแจ้งสายด่วนพิทักษ์ป่า กรมอุทยานฯ 1362 และสายด่วน ศปทส.ตร. 1136

ที่มา: เพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

Related posts

‘เฉลิมชัย’ นำทีมไทยถก COP29 นำเสนอ 5 ประเด็นลดก๊าซ 222 ล้านตัน

ค่าฝุ่นปากีสถานทะลุ 1,900 รั้งอันดับโลก อ้างพัดข้ามพรมแดนจากอินเดีย

โลกจมกองพลาสติก ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต ลดการบริโภค กำจัดอย่างยั่งยืน