Aquamation วิธีย่อยสลายศพ ใช้ของเหลวแทนการเผา ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า

อาร์คบิชอป เดสมอนด์ ตูตู (Desmond Tutu) บาทหลวงชาวแอฟริกาใต้ที่รู้จักจากผลงานในฐานะนักเคลื่อนไหวต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว และสิทธิมนุษยชนจนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เพิ่งจะเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2564 รวมอายุ 90 ปี

มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้คนจดจำอาร์คบิชอป เดสมอนด์ ตูตู มากขึ้นแม้ว่าเขาจะจากโลกนี้ไปแล้วนั่นก็คือ วิธีการจัดการกับศพของเขาด้วยวิธีการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เดสมอนด์ ตูตู ยืนหยัดปกป้องสิ่งแวดล้อมมาตลอดโดยได้กล่าวสุนทรพจน์และเขียนบทความเกี่ยวกับความจำเป็นในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพินัยกรรม เขาจึงขอให้จัดการศพด้วยวิธีทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าการเผาศพ นั่นคือวิธีที่เรียกว่า Aquamation

เครื่องย่อยสลายศพโดยการใช้ของเหลวหรือวิธี Aquamation

Aquamation เป็นคำผสมระหว่าง Aqua (น้ำ) กับ cremation (เผาศพ) มันไม่ใช่การเผาศพด้วยน้ำ แต่เป็นการย่อยสลายศพด้วยสารเคมีของเหลวด้วยกระบวนการที่เรียกว่า ไฮโดรไลซิสแบบอัลคาไลน์ (Alkaline hydrolysis)

ก่อนอื่นศพถูกวางไว้ในภาชนะรับความดันที่เติมด้วยส่วนผสมของน้ำและโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ (น้ำ 95% และด่าง 5%) แล้วให้ความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 160 องศาเซลเซียส แต่รักษาความดันสูงเพื่อป้องกันการเดือด

เมื่อทิ้งไว้ศพจะแตกออกเป็นองค์ประกอบทางเคมีซึ่งใช้เวลาประมาณ 4 – 6 ชั่วโมง อาจใช้อุณหภูมิและความดันที่ต่ำกว่า แต่ในระยะเวลาที่นานกว่า เช่น หากใช้อุณหภูมิ 98 องศาเซลเซียสอาจใช้เวลานานถึง 14 – 16 ชั่วโมง

ผลที่ได้คือของเหลวสีน้ำตาลอมเขียวจำนวนหนึ่ง ประกอบด้วย กรดอะมิโน เปปไทด์ น้ำตาลและเกลือ และเศษกระดูกสีขาวที่มีรูพรุน (แคลเซียมฟอสเฟต) ซึ่งสามารถถูกบดด้วยมืออย่างง่ายดาย ส่วนนี้คือ “เถ้า” จะถูกมอบให้กับญาติของผู้ตาย ของเหลวที่เหลือจะถูกกำจัดผ่านระบบท่อน้ำทิ้งสุขาภิบาล หรือด้วยวิธีอื่น รวมถึงการใช้รดต้นไม้ในสวนหรือพื้นที่สีเขียว

กลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและน่าจะรวมถึง เดสมอนด์ ตูตู เชื่อว่า Aquamation ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า เพราะใช้ไฟฟ้า 90 กิโลวัตต์ชั่วโมง คิดเป็นหนึ่งในสี่ของพลังงานจากการเผาศพด้วยไฟ และผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมลพิษน้อยลง

ข้อมูลจากบริษัท Bio-Response Solutions ที่ให้บริการ Aquamation สรุปสถิติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากการปลงศพแบบนี้ว่า ช่วยประหยัดพลังงานมากกว่า 90% เมื่อเทียบกับการเผาศพด้วยไฟ

และเมื่อเทียบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของการเผาศพด้วยไฟแล้ว การ Aquamation มีแค่ 1 ต่อ 10 ส่วน และเถ้ากระดูกเหลือมากกว่าการเผาไฟ 20%

Aquamation ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในบางประเทศในซีกโลกตะวันตกแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ส่วนในสหราชอาณาจักรก็ริเริ่มดำเนินการในปี 2560 แต่ผู้ให้บริการน้ำในท้องถิ่น Severn Trent Water ปฏิเสธคำขอของสภาท้องถิ่น เนื่องจากไม่มีมาตรฐานอุตสาหกรรมน้ำที่ควบคุมการกำจัดซากมนุษย์ที่เป็นของเหลวลงในท่อระบายน้ำ

ในประเด็นนี้ Bio-Response Solutions ที่ให้บริการ Aquamation ในอเมริกาอธิบายว่า การระบายของเหลวจากการทำ Aquamation ลงสู่ระบบบำบัดน้ำทั่วไปไม่เป็นอันตราย เพราะก่อนหน้านี้บริการงานศพในสหรัฐที่มีการชำระล้างศพก็ระบายน้ำจากกระบวนการดังกล่าวสู่ระบบบำบัดสาธารณะเช่นกัน ซึ่งไม่มีปัญหาอะไร

ข้อมูลจาก
• https://aquamationinfo.com/
• Wikipedia contributors. “Alkaline hydrolysis (body disposal).” Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 4 Jan. 2022. Web. 6 Jan. 2022.
ภาพ: Bio-Response Solutions

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน