ร้านอาหารในสตอกโฮล์มให้พนักงานสวมผ้ากันเปื้อนที่สามารถดักจับก๊าซเรือนกระจกจากอากาศที่ทำจากผ้าฝ้ายได้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมนำร่องของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก H&M ท่ามกลางความพยายามของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ถูกมองว่ามีส่วนในการสร้างผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลก
เป็นที่ทราบกันว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอมีส่วนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก ซึ่งยักษ์ใหญ่ด้านแฟชั่นกำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในการแก้ไขปัญหานี้ เนื่องจากผู้ซื้อตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อการใช้เสื้อผ้าที่มากขึ้นและเป็นต้นเหตุทำอุณหภูมิโลกสูงขึ้น
สถาบันวิจัยสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแห่งฮ่องกง (HKRITA) ได้พัฒนาสารละลายที่มีส่วนผสมของเอมีน (amine) ซึ่งใช้บำบัดผ้าฝ้าย เส้นใย เส้นด้าย หรือผ้า โดยทำให้ฝ้ายสามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อเก็บรักษาไว้ได้
“โรงไฟฟ้าหลายแห่งต้องขจัดคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในอากาศก่อนที่จะปล่อยไอเสีย เราคิดว่า ทำไมเราไม่ลองทำซ้ำกระบวนการทางเคมีนั้นกับเส้นใยฝ้าย” เอดวิน เคห์ ซีอีโอของ HKRITA กล่าวกับรอยเตอร์
เสื้อยืดสามารถดูดซับคาร์บอนได้ประมาณหนึ่งในสามของสิ่งที่ต้นไม้ดูดซับต่อวัน และเป็นกระบวนการทางเคมีที่ค่อนข้างง่าย โดยผ้ากันเปื้อนในโครงการนำร่องผลิตขึ้นที่ซัพพลายเออร์ของ H&M ในอินโดนีเซีย โดยใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ของโรงงาน
มูลนิธิ H&M กล่าวว่า นวัตกรรมนี้อาจเป็นตัวเปลี่ยนเกมในการลดการปล่อย CO2 ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม โครงการเพื่อพัฒนาสิ่งทอดูดซับ CO2 นั้นยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น
อ้างอิง:
(May 20, 2022) “H&M-backed project pilots CO2-capturing aprons at Stockholm restaurant” . Reuters
Doloresz Katanich with Reuters (Jun 06, 2022) “These aprons absorb CO2: Wearable tech could transform the restaurant industry” . Euronews