‘เลียงผา’ นักสู้แห่งขุนเขา กับ 3 ปัจจัย สูญพันธุ์

“เลียงผา” นักสู้แห่งขุนเขา 1 ใน 21 สัตว์ป่าสงวน ของประเทศไทย กับ 3 ปัจจัย แนวโน้ม (ใกล้) สูญพันธุ์  สภาพแวดล้อม บุกรุกป่า ฆ่าเพื่อทำยา

การอวดโฉมของ “เลียงผา” สัตว์ที่ขึ้นชื่อว่า เป็นนักปีนหน้าผาผู้เก่งกาจ และพบเจอได้ยาก ปรากฎอยู่บนยอดเขาหินปูนสูงชัน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ สะท้อนให้เห็นถึงความมีอยู่ และความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้ ด้วยเพราะ “เลียงผา” นับเป็น 1 ใน 21 สัตว์ป่าสงวน ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์

“เลียงผา” เยียงผา หรือโครำ (Serow) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Capricornis sumatraensis เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม จำพวกแกะ แพะ หรือ สัตว์กีบคู่ กินพืชเป็นอาหาร อยู่ในวงศ์ Bovidae อาศัยอยู่ตามภูเขาที่มีหน้าผาสูงชัน ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 200 ไปจนถึงที่ระดับ 2,200 เมตร ปกคลุมด้วยป่าทึบ มีความสามารถในการปีนป่ายที่สูงชันได้อย่างคล่องแคล่ว โดยสามารถทำความเร็วในการขึ้นที่สูงได้ถึง 1,000 เมตร ด้วยเวลาเพียง 15 นาที

เลียงผา 

เลียงผา ลักษณะทางกายภาพ

เลียงผามีลักษณะคล้ายกับ กวางผา สัตว์เคี้ยวเอื้อง มีกีบเท้าคู่ โดยมีความสูง 70 – 80 เซนติเมตร ความยาวของลำตัว 107 – 137 เซนติเมตร และตัวผู้มีน้ำหนัก 30 – 60 กิโลกรัม ในขณะที่ตัวเมีย มีน้ำหนักน้อยกว่าที่ 25 – 45 กิโลกรัม และทั้งคู่มีเขาสั้นตรง ปลายงอนไปทางด้านหลัง แต่เขาของตัวผู้ จะหนากว่าเล็กน้อย

สีขนของเลียงผา ส่วนมากเป็นขนสีน้ำตาลเข้ม ในช่วงฤดูร้อน และจะเปลี่ยนเป็นสีเทาอ่อน ในช่วงฤดูหนาว โดยมีความโดดเด่น บริเวณด้านหลังของศีรษะ เป็นรอยสีขาวตัดกัน และ มีแถบสีดำชัดเจนใต้สะโพก ซึ่งพวกมันมีขนหยาบ 2 ชั้น ขนสามารถเปลี่ยนได้ตามอายุ และ สภาพแวดล้อมอีกด้วย

นอกจากนั้น เลียงผายังมีเสียงร้องหวีด สำหรับใช้ในการเตือนภัยในฝูง ว่ากำลังมีอันตรายเข้ามาใกล้ โดยตัวที่สามารถสังเกตเห็นได้ จะหยุดชะงักทันที และส่งเสียงหวีดแหบผิดปกติ หรือบางครั้งก็เป็นเสียงแหลมยาว พวกมันจะหันมอง ในทิศทางเดียวกัน และจ่าฝูงจะส่งสัญญาณ กระทืบพื้นด้วยกีบเท้า เพื่อให้หลบหนี

เลียงผา ในประเทศไทย

เลียงผาสามารถพบเห็นได้ ในประเทศไทย ตามหน้าผา ภูเขาสูงชัน ซึ่งมีวิวัฒนาการ ในการปรับตัวให้เหมาะสม กับแหล่งที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะ แต่อาจพบเห็นไม่ง่ายนัก เนื่องจากว่ามีประชากรน้อย และเป็นสัตว์ป่าสงวนหายาก โดยยังพบในป่าเบญจพรรณ ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี และบริเวณหน้าผาหินชั้นตามลาดเขาในป่าดงดิบเขา แต่ในปัจจุบันสามารถพบร่องรอยของเลียงผาในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าไผ่ ป่าฟื้นฟูตามธรรมชาติ พื้นที่เกษตร ป่าเบญจพรรณ ไร่ร้าง ป่าเต็งรังและทุ่งหญ้า แต่อย่างไรก็ตาม เลียงผามักใช้พื้นที่ภูเขาที่มีหน้าผาสูงชันมีป่าปกคลุมเป็นหลัก

ข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พบว่า นับตั้งแต่ที่เริ่มทำการศึกษาเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่อาศัย และพฤติกรรมของเลียงผา ตั้งแต่ปี 2528 ถึงแม้ว่าเลียงผาจะมีถิ่นกำเนิดอยู่ในหลายจังหวัดของประเทศ แต่จำนวนที่เหลืออยู่ในแต่ละแห่งมีน้อย บางแห่งแทบจะหาไม่ได้อีก

เลียงผาที่พบในอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด

เลียงผา ปัจจัยสูญพันธุ์

  • สภาพแวดล้อมของป่า ที่เป็นที่อาศัยที่เปลี่ยนไปด้วยมลภาวะต่างๆ ส่งผลให้สัตว์ป่าเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย อาจทำให้จำนวนของเลียงผาลดลงไปตามสภาพแวดล้อม
  • การบุกรุกป่า เพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตร ทำให้หลายพื้นที่ในปัจจุบัน เลียงผาถูกไล่ต้อนให้อยู่ตามภูเขาสูง โดยเฉพาะภูเขาหินปูน รวมทั้ง การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย บริเวณชายเขาหินปูน ที่เลียงผามักจะลงมาหาน้ำ หาอาหารในที่ต่ำ ทำให้พื้นที่หากินลดลง และถูกล่าได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ การระเบิดภูเขา เพื่อผลิตปูนซีเมนต์ และหินคลุก เป็นการทำลายถิ่นที่อยู่ที่ปลอดภัยของเลียงผาโดยตรง เลียงผาจึงลดจำนวนประชากรลงอย่างมาก
  • ปัจจัยการสูญพันธุ์ที่น่าสนใจในอดีต คือ เลียงผา ถูกเชื่อว่า เป็นสัตว์ที่ใช้น้ำมันในการรักษาบาดแผลที่ได้รับบาดเจ็บจากการพลัดตกเขา หรือบาดแผลจากการถูกยิง หรือสมานกระดูกที่หักได้ จึงมีการล่าเพื่อเอาน้ำมันเลียงผา ใช้ในการรักษาบาดแผล และสมานกระดูก ทำให้ในอดีตเลียงผาถูกล่าเป็นจำนวนมาก

ข้อมูลในวิกิพีเดีย ระบุว่า เลียงผาแต่ละตัวสามารถสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการขายน้ำมันเลียงผาได้อย่างมหาศาล ด้วยการนำหัวและกระดูกของเลียงผา ไปต้มกับน้ำมันมะพร้าว แล้วใส่ขวดขนาด 100-150 ซีซี ขายกันในราคาขวดละ 10 บาท รายได้จึงขึ้นอยู่กับปริมาตรน้ำมันมะพร้าวที่ใส่ลงไป

ปัจจุบัน เลียงผาอยู่ในสถานะ เป็น “สัตว์ป่าสงวน” ตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ถูกบรรจุไว้ในบัญชีเลขที่ 1 (Appendix II) ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) และมีสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ Vulnerable (VU) ตามบัญชีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ (IUCN Red List)

การพบ เลียงผา ในอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จึงแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าผืนนี้ และถือป็นสัญญาณที่ดี ในการอนุรักษ์ ดูแลผืนป่า และสัตว์ป่า ให้เกิดความยั่งยืน

อ้างอิง : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

วิกิพีเดีย

สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Office, Thailand

https://4pg.co/

ขอบคุณภาพ : อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด – Khao Sam Roi Yot National Park

Related posts

‘ปลาหมอคางดำ’ ทำลายระบบนิเวศ ยื่นฟ้องศาลเอาผิดเสียหายหมื่นล้าน

งานวิจัยชี้ หมาพันธุ์เดียวกัน แต่นิสัยต่าง เพราะ อยู่ที่คนเลี้ยง

ลาก่อน ‘โบบิ’ สุนัขที่อายุยืนที่สุดในโลก