ข่าวดีต้อนรับปี 2568! “เต่ามะเฟือง” สัตว์ป่าสงวนที่เสี่ยงสูญพันธุ์ วางไข่รังแรก 127 ฟอง สร้างความหวังใหม่ให้กับการอนุรักษ์ สัญญาณที่ดีต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ช่วยรักษาสมดุลและความหลากหลายทางชีวภาพ
เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2568 สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 (สทช.6) ได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา ว่า พบร่องรอยการขึ้นวางไข่ของเต่าทะเล บริเวณชายหาดทุ่งดาบ ม.1 ต.เกาะพระทอง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 จึงมอบหมายเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยให้ประสานการปฏิบัติงานกับนักวิชาการกลุ่มสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธ์ ศวอบ.ภูเก็ต
จากการตรวจสอบ พบร่องรอย “เต่ามะเฟือง” บริเวณชายหาด แต่มีสภาพเลือนไม่สมบูรณ์ พื้นที่บริเวณหลุมมีร่องรอยการขุดหาไข่ เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจวัดความกว้างรอยพายคู่หน้าได้ 165 ซม. ขนาดอก กว้าง 78 ซม. และทำการขุดหาไข่จนพบไข่เต่าที่ระดับความลึก 65 ซม. ตรวจวัดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไข่ได้ 5.52 ซม. ตำแหน่งวางไข่ พิกัด UTM ระบบ WGS 84 417382 E 998689 N ซึ่งอยู่ในแนวน้ำทะเลท่วมถึง และมีต้นไม้อยู่ใกล้ ซึ่งจะส่งผลต่อหลุมฟักไข่
ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าว อยู่ห่างไกลรถยนต์เข้าไม่ถึง ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการเฝ้าระวังดูแล และการจัดเก็บข้อมูลด้านวิชาการ จึงประสานปรึกษากับนักวิชาการกลุ่มสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธ์ ศวอบ. และมีความเห็นร่วมกันให้ย้ายไข่เต่านำไปฟักและเฝ้าระวังดูแล บริเวณหาดคึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เต่ามะเฟืองเคยขึ้นมาวางไข่
เจ้าหน้าที่จึงทำการย้ายไข่ พร้อมตรวจนับไข่ทั้งหมดได้รวมจำนวน 127 ฟอง ไข่ดี 82 ฟอง ไข่ลม 44 ฟอง และพบไข่แตกในหลุม 1 ฟอง จากนั้น จึงนำไข่ดีมาขุดหลุมฟักบริเวณหาดคึกคัก จัดทำคอกชั่วคราวเพื่อป้องกันภัยคุกคามตามธรรมชาติ ซึ่ง สทช.6 จะได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังดูแลหลุมฟักไข่เต่า จนกว่าลูกเต่าจะฟักและลงสู่ทะเลได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 55-60 วัน พร้อมจะได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ผู้ที่จะเข้ามาเยี่ยมชมหลุมฟักไข่เต่า ต่อไป
เต่ามะเฟือง 1 ในสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย
เต่ามะเฟือง (Leatherback Turtle) หรือเต่าเหลี่ยม ชื่อวิทยาศาสตร์ Dermochelys coriacea เป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ในบรรดาสัตว์เลื้อยคลานทั้งหมด โดยมีความยาวถึง 2.5 เมตร และน้ำหนักประมาณ 900 กิโลกรัม กระดองของมันไม่มีแผ่นเกล็ดแข็ง แต่มีลักษณะเป็นหนังหุ้มคล้ายผลมะเฟือง มีสันนูน 7 สัน สามารถดำน้ำได้ลึกถึง 1,280 เมตร
เต่ามะเฟืองเหลืออยู่กี่ตัว
เต่ามะเฟือง นับเป็นเต่าทะเลที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูงสุด เมื่อเปรียบเทียบกับเต่าทะเลที่มีอยู่ 7 ชนิดทั่วโลก ทำให้สถานภาพปัจจุบันของเต่ามะเฟืองอยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากการลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จากการทำลายแหล่งวางไข่และการติดอวนจับปลา โดยพบว่าในปี 2566 มีแม่เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่เพียงไม่ถึง 10 ตัวต่อปี แม้จะมีการเพิ่มขึ้นของการวางไข่ในบางปี แต่โดยรวมแล้วอัตราการรอดชีวิตของลูกเต่ายังคงต่ำ และมีการลักลอบเก็บไข่เป็นปัญหาใหญ่
ปัจจุบัน เต่ามะเฟือง จึงจัดอยู่ในสถานภาพการอนุรักษ์ในระดับโลก คือ มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable : VU) โดย IUCN และสถานภาพการอนุรักษ์ในประเทศไทยเป็น “สัตว์ป่าสงวน” ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
ซึ่งการวางไข่ของเต่ามะเฟือง ไม่เพียงแต่เพิ่มจำนวนประชากรไม่ให้สูญพันธุ์เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลายด้าน ทั้งการควบคุมประชากรแมงกะพรุนในทะเล เพราะเป็นอาหารหลักของเต่ามะเฟือง รวมทั้งการฟื้นฟูระบบนิเวศชายหาด เพราะการวางไข่ ช่วยสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในบริเวณชายหาด และส่งเสริมการเจริญ
เต่ามะเฟือง สูญพันธุ์เพราะ
เต่ามะเฟืองกำลังเผชิญกับความเสี่ยงสูญพันธุ์จากหลายปัจจัย ได้แก่
- การติดเครื่องมือประมง: เต่ามักติดอยู่ในอวน หรือเครื่องมือประมง ทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
- ขยะทะเล: การกินขยะพลาสติกที่คล้ายแมงกะพรุนส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยและตาย
- การพัฒนาชายฝั่ง: การก่อสร้างและกิจกรรมมนุษย์ทำลายพื้นที่วางไข่
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบต่อเต่ามะเฟืองในหลายด้าน:
- การเดินทางหาอาหาร: อุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นทำให้เต่าต้องเดินทางหาอาหารไกลขึ้นถึง 2 เท่า ส่งผลให้ต้องใช้พลังงานมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะวางไข่น้อยลง
- การกำหนดเพศ: อุณหภูมิของทรายที่ใช้ในการวางไข่ส่งผลต่อเพศของลูกเต่า หากอุณหภูมิสูงเกินไป จะทำให้ลูกเต่าเกิดเป็นเพศเมียมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่ออัตราการเกิดในอนาคต
- การวางไข่นอกฤดู: มีรายงานว่าแม่เต่ามะเฟืองเริ่มวางไข่นอกฤดูปกติ ซึ่งแสดงถึงความสับสนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ปัจจัยเหล่านี้รวมกัน ทำให้จำนวนประชากรเต่ามะเฟืองลดลงอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ซึ่งการวางไข่ครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นข่าวดีสำหรับการอนุรักษ์เต่ามะเฟืองเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญาณที่ดีต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ช่วยรักษาสมดุลและความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะมันมีบทบาทสำคัญในการควบคุมประชากรแมงกะพรุนและการฟื้นฟูชายหาด การอนุรักษ์เต่ามะเฟือง จึงเป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือกันทั้งชุมชนและภาครัฐ เพื่อให้สัตว์ป่าสงวนชนิดนี้สามารถอยู่รอดและเจริญเติบโตต่อไปในธรรมชาติของมัน.