อารยธรรมล่มสลายเมืองมายาโบราณปนเปื้อนมลพิษจากสารปรอทอันตราย

เมืองของชาวมายาโบราณในเขตอารยธรรมเมโสอเมริกา Mesoamerica หรืออเมริกากลาง ซ่อนปริศนาที่แสนอันตรายเอาไว้ เพราะใต้ผิวดินมีอันตรายที่คาดไม่ถึงแฝงตัวอยู่นั่นคือ มลพิษจากสารปรอท

ในบทวิจัยที่เผยแพร่ใน Frontiers in Environmental Science นักวิจัยสรุปว่า มลพิษจากปรอทไม่ใช่แค่เกิดในยุคนี้ แต่เกิดตั้งแต่ยุคโบราณจากการใช้ผลิตภัณฑ์ปรอทบ่อยครั้งระหว่าง ค.ศ. 250 ถึง 1100 และทุกวันนี้มลพิษก็ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพของนักโบราณคดีที่ไม่ระวัง

ดร.ดันแคน คุก หัวหน้าทีมวิจัย ซึ่งเป็นรองศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยคาทอลิกออสเตรเลีย กล่าวว่า “มลพิษจากสารปรอทในสิ่งแวดล้อมมักพบได้ในเขตเมืองร่วมสมัยและภูมิทัศน์อุตสาหกรรม การค้นพบปรอทที่ฝังลึกในดินและตะกอนในเมืองมายาโบราณนั้นยากจะอธิบาย จนกะทั่งเราเริ่มสำรวจโบราณคดีของภูมิภาคนี้ซึ่งผลบอกเราว่าเมืองมายาใช้ปรอทมานานหลายศตวรรษ”

เป็นครั้งแรกที่ ดร.ดันแคน คุกและเพื่อนร่วมงานได้ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับความเข้มข้นของปรอทในดินและตะกอนที่แหล่งโบราณคดีทั่วโลกมายาโบราณ ซึ่งพบว่าที่ไซต์จากยุคคลาสสิกซึ่งมีการตรวจวัดโบราณสถานสำคัญในเม็กซิโก เบลิซ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส และเอลซัลวาดอร์ มลพิษจากปรอทสามารถตรวจพบได้ทุกที่ยกเว้นที่เบลิซ

ความเข้มข้นมีตั้งแต่ 0.016 ppm ที่โบราณสถานอักตุนกัน (Actuncan) ไปจนถึง 17.16 ppm ที่ไม่ธรรมดาที่โบราณสถานติกัล (Tikal) สำหรับการเปรียบเทียบ Toxic Effect Threshold (TET) สำหรับปรอทในตะกอนถูกกำหนดเป็น 1 ppm

อะไรทำให้เกิดมลพิษปรอทก่อนประวัติศาสตร์นี้? ผู้เขียนเน้นว่า มีการพบภาชนะปิดผนึกที่เต็มไปด้วยสารปรอทที่เป็นของเหลว ในสถานที่ต่างๆ ของมายา ที่อื่นในภูมิภาคมายา นักโบราณคดีได้พบวัตถุที่ทาสีด้วยสีที่มีสารปรอท ซึ่งส่วนใหญ่ทำมาจากแร่ชาด

ผู้เขียนวิจัยสรุปว่า ชาวมายาในสมัยโบราณมักใช้สีชาดและสีที่มีสารปรอทและผงสำหรับตกแต่ง สารปรอทนี้อาจหลุดออกจากลานบ้าน พื้น ผนัง และเซรามิก แล้วจึงปนเปื้อนลงไปในดินและน้ำ

เนื่องจากปรอทมีน้อยมากในหินปูนที่เป็นสภาทางภูมิศาสตร์ของภูมิภาคมายา พวกเขาคาดการณ์ว่าธาตุปรอทและชาดที่พบในแหล่งมายานั้นเดิมทีสามารถขุดได้จากแหล่งแร่ที่รู้จักในเขตทางเหนือและใต้ของโลกมายาโบราณ และนำเข้ามาที่เมืองโดยผู้ค้าขาย

สารปรอททั้งหมดนี้จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของชาวมายาในสมัยโบราณ ตัวอย่างเช่น ผลกระทบของพิษปรอทเรื้อรัง ได้แก่ ความเสียหายต่อระบบประสาทส่วนกลาง ไต และตับ และทำให้เกิดอาการสั่น การมองเห็นและการได้ยินบกพร่อง อัมพาต และปัญหาสุขภาพจิต

อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ปกครองวัฒนธรรมมายาคนสุดท้ายของเมืองติกัลคือ ราชาสุริยะกาฬ (Dark Sun) ซึ่งปกครองประมาณ ค.ศ. 810 ป่วยเป็นโรคอ้วนทางพยาธิวิทยา จากหลักฐานที่พบในภาพวาดที่หลงเหลืออยู่ วึ่งโรคอ้วนเป็นผลที่ทราบกันดีจากโรคเมตาบอลิซึม ซึ่งอาจเกิดจากพิษปรอทเรื้อรัง

อ้างอิง
“Ancient Maya cities were dangerously contaminated with mercury” NEWS RELEASE 23-SEP-2022. FRONTIERS.
ภาพ ProtoplasmaKid – wikipedia.org

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย