‘Ancient Lights’ สิทธิเจ้าของบ้าน ต้องได้รับแสงสว่างที่เพียงพอ ใครผุดอาคารบังหน้าต่างเจอฟ้อง

ประเด็นสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีแค่เรื่องมลพิษต่อสุขภาพ แต่ยังครอบคลุมทุกเรื่อง รวมถึงมลพิษทางสายตาและการเข้าถึงองค์ประกอบธรรมชาติในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นการเข้าถึงแสงสว่าง

เป็นที่รู้กันว่าประเทศซีกโลกเหนือมีท้องฟ้าที่อึมครึม ดังนั้นหน้าต่างบ้านจึงมักมีขนาดใหญ่เพื่อเปิดรับแสง แต่จนแล้วจนรอดมักมีปัญหาข้าง ๆ บ้านมาสร้างตึกบังแสงซะงั้น

บางประเทศจึงมีกฎหมายที่เรียกว่า “สิทธิ์ในการรับแสง” (Right to light) เช่น ในกฎหมายอังกฤษที่ให้สิทธิ์แก่เจ้าของอาคารที่มีหน้าต่างมายาวนานในระดับหนึ่งสามารถเข้าถึงระดับความสว่างที่เพียงพอได้

เครดิต: coalholesoflondon.wordpress.com

สิทธิเป็นที่รู้จักกันตามประเพณีว่า “แสงโบราณ” (Ancient Lights) ส่วนในกฎหมายของญี่ปุ่นก็มีแนวคิดที่เปรียบเทียบกันได้ที่เรียกว่า “นิชโชเค็ง” (Nisshōken) แปลตามตัวอักษรว่า “สิทธิในแสงแดด”

ในอังกฤษ เจ้าของอาคารที่มีหน้าต่างซึ่งได้รับแสงธรรมชาติเป็นเวลา 20 ปีขึ้นไปมีสิทธิ์ที่จะห้ามการก่อสร้างหรือสิ่งกีดขวางอื่นใดบนที่ดินที่อยู่ติดกันซึ่งจะบังแสงเพื่อกีดกันการส่องสว่างผ่านหน้าต่าง

ในใจกลางกรุงลอนดอน ใกล้กับไชน่าทาวน์และโคเวนต์การ์เดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตรอกซอกซอยด้านหลังจะมีป้ายที่เขียนว่า “แสงโบราณ” สามารถมองเห็นได้ชัดเจนตามหน้าต่างแต่ละบาน บอกสิทธิ์ไม่ให้คนละเมิด

ที่อังกฤษมีคดีความเรื่องบังแสงจนต้องฟ้องร้องกันและเป็นฎีกาที่ชื่อ Colls v Home and Colonial Stores ในปี 1904 เจ้าของบ้านที่ชื่อ Colls ฟ้องร้องต่อทางการว่าบริษัท Home and Colonial Stores จะสร้างตึกสูงข้างบ้านเขาซึ่งมันจะบังแสง

ทางการมีคำตัดสินว่า “เจ้าของแสงโบราณย่อมมีสิทธิได้รับแสงสว่างที่เพียงพอตามความคิดของมนุษย์ทั่วไป (หมายถึงไม่ต้องอยู่มืด ๆ ในเงา) เพื่อการใช้ประโยชน์และความเพลิดเพลินในบ้านของตนอย่างเป็นบ้านเรือนควรเป็น”

เครดิต: Paul Farmer

ในอังกฤษและบางประเทศนั้น แม้แต่การสร้างรั้วที่สูงเกินไปเพื่อบังวิวเพื่อนบ้านหรือก่อกวนหรือแม้แต่เพราะไม่ชอบหน้าเพื่อนบ้านก็ทำไม่ได้ เพราะมีกฏหมายห้าม เรียกกฎหมายนี้ว่า Spite fence (รั้วไม่ชอบขี้หน้าข้างบ้าน)

เช่นในกรณีของคดี Wilson v. Handley ในแคลิฟอร์เนีย ปี (2002) วิลสันสร้างบ้าน 2 ชั้นในที่ของเธอ แต่แฮนด์ลีย์ที่เป็นเพื่อนบ้านของเธอไม่ชอบการต่อเติมนี้ และตอบโต้ด้วยการปลูกต้นไม้ใหญ่ขนาดกับที่ดินของทั้งคู่

ต้นไม้นี้จะเติบโตสักวันหนึ่งแล้วจะบังวิวมุมมองของวิลสันไม่ให้มองเห็นภูเขาหิมะแชสต้า (Mount Shasta) อันสูงตระหง่าน วิลสันจึงฟ้องแฮนด์ลีย์ ฐานบังวิวของเธอ

ศาลอุทธรณ์แห่งแคลิฟอร์เนียตัดสินว่าต้นไม้ที่ปลูกขนานกับแนวที่ดินเพื่อขัดขวางมุมมองของเพื่อนบ้านถือเป็น “รั้วไม่ชอบขี้หน้าข้างบ้าน” และผิดกฎหมายภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย

กลับมาที่เรื่องแสง บางครั้งที่การออกแบบอาคารใหญ่ไปบังแสงไม่รู้ตัว ทำให้ต้องมีการออกแบบใหม่เพื่อเปิดช่องให้แสงเข้าถึงบ้านที่ติดป้าย Ancient Lights แต่บางครั้งเจ้าของบ้านก็ขอชดเชยเป็นตัวเงินได้ ถ้าไม่ต้องการให้เปลี่ยนแบบ

ในสหรัฐอเมริกาเคยมีกฎหมายแบบนี้ แต่ศาลตัดสินให้เป็นโมฆะไปแล้ว จนกระทั่งในปี 1984 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนียได้ผ่านข้อเสนอ K (Proposition K) ที่ช่วยปกป้องแสงธรรมชาติให้กับธรรมชาติ

ข้อเสนอนี้ห้ามการก่อสร้างอาคารใดๆ ที่สูงกว่า 40 ฟุต (12.2 ม.) ที่ทอดเงาในสวนสาธารณะ เว้นแต่คณะกรรมการวางแผนจะตัดสินว่าเงานั้นไม่มีนัยสำคัญต่อสวนสาธารณะ

ในขณะที่รัฐแมสซาชูเซตส์มีกฎหมายที่คล้ายคลึงกันในการห้ามสร้างตึกที่ทอดเงาทับสวนสาธารณะ “บอสตัน คอมมอน” สวนกลางเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา และพื้นที่เปิดสาธารณะที่สำคัญอื่น ๆ
.
สำหรับประเทศเขตร้อนอย่างบ้านเรา การสร้างสวนสาธารณะอาจไม่คำนึงถึงเรื่องแสงจากตึกทับสวนมากนัก เพราะความร้อนและแดดที่จ้าอย่างรุนแรงทำให้เราต้องการเงามากกว่าแสง

ข้อมูลจาก
• Wikipedia contributors. “Right to light.” Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 7 Dec. 2021. Web. 4 Feb. 2022.
• Wikipedia contributors. “Spite fence.” Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 4 Feb. 2022. Web. 4 Feb. 2022.

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย