ก๊าซเรือนกระจกสุดกู่ ‘กระแสน้ำมหาสมุทร’ รวน ภัยพิบัติถี่ขึ้น-รุนแรงขึ้น

by Chetbakers

วิกฤตโลกร้อนส่งผลให้ “กระแสน้ำมหาสมุทร” ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเกิดความผิดปกติ และอาจนำไปสู่การล่มสลายภายในศตวรรษนี้?

กระแสน้ำมหาสมุทร คือ ประเด็นใหญ่ที่นักวิทยาศาสตร์กำลังจับตาและกังวล.ว่า มันระบบการไหลเวียนกำลังเดินเข้าสู่จุดจบหรือไม่ แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจกันก่อนว่า กระแสน้ำมหาสมุทรเป็นกลไกทางธรรมชาติในการควบคุมอุณหภูมิโลก ที่ทำให้ประเทศในแถบละติจูดสูงๆ ไม่ให้แตกต่างจากประเทศในแถบร้อนมากจนเกินไป ซึ่งเป็นกลไกมาจากกระแสน้ำในมหาสมุทรที่เกิดจากแรงดันของเกลือที่เรียกว่า กระแสน้ำเทอร์โมฮาไลน์ (Thermohaline Circulation)

กระแสน้ำที่ว่านี้จะไหลเวียนไปในทุกๆ มหาสมุทรสำคัญของโลกเปรียบเสมือนสายพานลำเลียงขนาดยักษ์ (Global Conveyor Belt) ที่พัดพาน้ำอุ่นจากบริเวณเส้นศูนย์สูตรไปแลกเปลี่ยนกับน้ำเย็นจากแถบขั้วโลกเป็นวงจรไปกลับ

ทำความรู้จักเทอร์โมฮาไลน์คืออะไร

คำว่า Thermohaline มีรากศัพท์มาจากคำว่า Thermo ที่แปลว่า ความร้อน และ Haline ที่แปลว่า เกลือ จุดเริ่มต้นของกระแสน้ำเทอร์โมฮาไลน์เกิดขึ้นที่บริเวณทะเลทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติกใกล้เกาะกรีนแลนด์ อากาศเย็นบริเวณเย็นจัดจนทำให้ผิวของน้ำทะเลเป็นน้ำแข็ง และเกลือที่ละลายอยู่ในน้ำทะเลชั้นบนจะถูกดันลงไปอยู่ในน้ำทะเลชั้นล่าง มวลของน้ำทะเลชั้นล่างที่หนักขึ้น ทำให้มวลของผิวน้ำมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือจมลง และจะไหลลงไปยังเส้นศูนย์สูตร แล้วก็แยกไหลไปสู่มหาสมุทรอื่นทั้ง 5 แห่งทั่วโลก

เมื่อกระแสน้ำเย็นในมหาสมุทรต่างๆ ไหลเวียนมาถึงเขตอบอุ่นก็จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ความหนาแน่นลดลง กลายเป็นกระแสน้ำอุ่นลอยตัวขึ้นสู่ทะเลชั้นบน แล้วไหลกลับไปบรรจบครบรอบที่จุดเริ่มต้นทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติกอีกครั้งจนเป็นวัฏจักร

การไหลเวียนของกระแสน้ำเย็นจะเคลื่อนตัวอ้อมผ่านทางใต้ของทวีปแอฟริกา โดยแยกออกเป็นสองสาย สายหนึ่งมุ่งเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย อีกสายไหลวนรอบขั้วโลกใต้ จากนั้นจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก และกระแสน้ำเย็นสายนี้จะเริ่มลอยตัวขึ้นสู่ระดับผิวน้ำที่ชายฝั่งตะวันตกของอะแลสกา เนื่องจากน้ำเริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้น

กระแสน้ำที่อุ่นที่ลอยตัวขึ้นด้านบนนี้จะไหลย้อนลงมาผ่านทะเลจีนใต้ ไหลไปสมทบกับกระแสน้ำอุ่นที่ไหลกลับจากมหาสมุทรอินเดีย สุดท้ายก็จะไหลย้อนกลับไปยังมหาสมุทรแอตแลนติกผ่านชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ จนไปถึงตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก แล้ววัฏจักรนี้ก็วนเป็นเช่นนี้เรื่อยมา

สายพานลำเลียงกระแสน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกที่เรียกว่า AMOC ย่อมาจากคำว่า Atlantic Meridional Overturning Circulation ถือเป็นส่วนย่อยของสายพานเทอร์โมฮาไลน์ในแอตแลนติก แต่มีบทบาทสำคัญเพราะเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสไหลเวียนของมหาสมุทรทั้งหมด หากสายพานลำเลียงกระแสน้ำชะลอตัวลงสภาพภูมิอากาศโลกก็จะวิบัติ อุณหภูมิแถบซีกโลกเหนือจะแปรปรวนในระดับ 10-15 องศาเซลเซียส สภาพอากาศสุดขั้วจะรุนแรงขึ้น

นอกจากนั้น ประเทศต่างๆ ในเขตละติจูดกลางจะเกิดความหนาวเย็นมากและยาวนาน พายุหมุนในมหาสมุทรต่างๆ จะมีขนาดและทิศทางที่คาดเดาได้ยาก ปัญหาคลื่นความร้อนในยุโรปจะทวีความรุนแรงขึ้น มรสุมเขตร้อนจะรุนแรงขึ้น ปรากฎการณ์ลานีญาและเอลนีโญก็จะไม่มีความแน่นอน ไปจนถึงระดับน้ำทะเลชายฝั่งทั่วโลกก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่นักวิทยาศาสตร์เริ่มกังวล เนื่องจากภาวะโลกร้อนที่รุนแรงมากขึ้นจนเรียกว่าในเวลานี้การควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 2 องศา ไม่น่าจะเอาอยู่ กำลังทำลายการรักษาสมดุลของอุณหภูมิโลก ซึ่งก็มาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของมวลมนุษย์ แน่นอนว่ามีผลอย่างสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิเกาะกรีนแลนด์อุ่นขึ้นต่อเนื่อง ทำให้น้ำจืดปริมาณมหาศาลได้ไหลลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือบริเวณนอกชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการขับเคลื่อนของสายพานลำเลียงน้ำเทอร์โมฮาไลน์ในส่วนของ AMOC นั่นเอง

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก นำโดยสองนักฟิสิกส์อย่าง โยฮันเนส โลห์มันน์ และ ปีเตอร์ ดิทเลฟเซน วิจัยพบว่า ล่าสุดกระแสน้ำ AMOC ในเวลานี้ได้อ่อนกำลังลงถึงระดับต่ำสุดในรอบ 1,000 ปี และยังทวีอัตราเร่งจนเข้าใกล้จุดวิกฤต (Tipping Points) ผลลัพธ์ที่ได้จากแบบจำลองทางภูมิอากาศชี้ว่ากระแสน้ำ AMOC จะอ่อนกำลังลงไป 34-45% ภายในช่วงสิ้นศตวรรษนี้ และอาจหยุดชะงักไปอย่างถาวรในช่วงต้นของศตวรรษหน้า โดยจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการหยุดชะงักอย่างเร็วคือปี 2025 และอย่างช้าคือ 2095 หรือปีที่เป็นไปได้มากที่สุดคือช่วงระหว่างปี 2039-2070

ทั้งนี้ การไหลเวียนช้าลงจนหยุดชะงักของ AMOC จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงกระแสน้ำเทอร์โมฮาไลน์ จนในที่สุดสายพานลำเลียงของมหาสมุทรทั่วโลกก็จะหยุดไหลตามไปด้วย ผลที่เกิดขึ้นคือประเทศต่างๆ ที่อยู่ทางตอนเหนือ เช่น หมู่เกาะอังกฤษ กลุ่มประเทศยุโรป รัสเซีย รวมทั้งมลรัฐทางตอนเหนือของสหรัฐอเมริกาจะต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่หนาวเหน็บ และความร้อนที่สะสมตัวมากขึ้นในแถบศูนย์สูตรจะก่อพายุหมุนเขตร้อนที่ทรงพลัง

ไม่ว่าจะเป็นไต้ฝุ่นในแถบแปซิฟิกตะวันตก เฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกทางตะวันออกของสหรัฐฯ ไปจนถึงไซโคลนในมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงแถบอื่นของโลก ทำให้เกือบทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศในแถบซีกโลกเหนือต้องผจญกับภัยพิบัติถี่มากขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึง AMOC แล้วจะต้องเข้าใจคำว่า กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม (Gulf Stream) ไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะที่ผ่านมามักเกิดความสับสนระหว่าง 2 ปรากฎการณ์นี้

AMOC และ Gulf Stream คนละกระแสน้ำ

AMOC เป็นกระแสน้ำไหลเวียนเหนือจรดใต้​ในมหาสมุทร​แอตแลนติก เป็นสายธารที่ไหลเวียนอยู่ใต้ทะเลลึกถึงระดับ 3,000 เมตร ในขณะที่กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมเป็นสายธารบริเวณใกล้ผิวน้ำที่ขับเคลื่อนด้วยกระแสลมต่างๆ ทั่วโลก

นั่นหมายความว่า AMOC และ Gulf Stream เป็นคนละกระแสน้ำกัน แต่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน…แต่กระแสน้ำที่ว่าทั้งหมดนี้มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก

AMOC เป็นหนึ่งในกระแสน้ำที่มีความสำคัญที่สุดในโลก เพราะเป็นต้นธารการนำพาสารอาหารและน้ำอุ่นภายในมหาสมุทรเขตร้อน ส่งขึ้นไปยังมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ เพื่อถ่ายเทความอบอุ่นให้แก่พื้นที่แถบยุโรปตะวันตก ป้องกันไม่ให้สภาพอากาศหนาวจัด รวมทั้งรักษาอุณหภูมิของประเทศแถบศูนย์สูตรไม่ให้ร้อนจนเกินไป โลกจึงมีสมดุลของอุณหภูมิดังที่มนุษย์สามารถดำรงชีพกันมาโดยตลอด

ในขณะที่กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมจะทำหน้าที่คอยควบคุมรูปแบบของสภาพอากาศทั่วโลก หากกระแสน้ำเหล่านี้หายไปก็จะทำให้ฤดูหนาวมีความรุนแรงมากขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้พื้นที่บางส่วนของยุโรปและสหรัฐ ได้รับผลกระทบจากความหนาวเย็นสุดขีด รวมถึงการเคลื่อนตัวของลมมรสุมในเขตร้อนก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางเลวร้ายด้วย

จะเกิดอะไรขึ้นหากหากกระแสน้ำหยุดไหล

หากสถานการณ์เดินไปถึงจุดเลวร้ายจะเกิดอะไรขึ้น – ในระยะแรก อุณหภูมิน้ำอุ่นที่เส้นศูนย์สูตรที่ไม่มีน้ำเย็นมาเติม จะเกิดปะการังฟอกขาวรวมถึงการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำจำนวนมาก เนื่องจากการขาดสารอาหาร น้ำอุ่นบริเวณนี้ยังก่อให้เกิดพายุหมุนเขตร้อน เช่น ไต้ฝุ่น เฮอริเคน ไซโคลนที่ถี่มากขึ้นและรุนแรงขึ้น ในขณะประเทศที่อยู่ทางตอนเหนือ เช่น หมู่เกาะอังกฤษและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก รวมทั้งมลรัฐทางตอนเหนือของสหรัฐฯ ก็จะพบกับสภาพอากาศหนาวเย็นลงเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม วงจรการหมุนเวียนกระแสน้ำ AMOC จากเหนือจรดใต้เป็นไปอย่างล่าช้ามากอยู่แล้ว แต่หากระดับการชะลอตัวลงยืดเยื้อต่อไป อาจส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศในวงกว้าง ตัวอย่างเช่น หากโลกยังคงร้อนขึ้น น้ำจืดจากการละลายของน้ำแข็งที่ขั้วโลกจะเปลี่ยนแปลงฤดูกาลในแอฟริกาใต้ ทำให้เกิดภัยแล้งที่ส่งผลกระทบผู้คนนับล้าน ยังทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทั่วชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ 

ในทางกลับกัน “กระแสน้ำกัลฟ์สตรีม” เป็นกระแสน้ำมหาสมุทรที่ทรงพลังและอุ่น ซึ่งมีต้นกำเนิดจากอ่าวเม็กซิโก ไหลไปตามชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ และข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังยุโรป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบกระแสน้ำขอบเขตด้านตะวันตกของ AMOC

โดยสรุปก็คือ สายพานลำเลียงขนาดยักษ์แห่งมหาสมุทรของโลก (The Great Ocean Conveyor Belt) ที่เริ่มต้นบริเวณใกล้ขั้วโลกเหนือในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ และจมลงสู่ใต้มหาสมุทร ก่อนเคลื่อนตัวลงทางตอนใต้บริเวณขั้วโลกใต้และแยกเป็นสองทาง คือ มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อกระแสน้ำผ่านบริเวณศูนย์สูตรจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นและยกตัวขึ้นสู่ผิวน้ำกลายเป็นกระแสน้ำอุ่น (Gulf Steam) บางส่วนหมุนตัวทางตะวันตกกลับสู่วงรอบของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ และบางส่วนมุ่งสู่มหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้

โจนาธาน โฟลีย์ นักวิทยาศาสตร์และประธานบริหาร Project Drawdown องค์กรสิ่งแวดล้อมไม่แสวงผลกำไร ระบุว่า “แน่นอนว่า ปัญหา AMOC เป็นเรื่องใหญ่ต่อสภาพภูมิอากาศโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณสำคัญของทะเลแอตแลนติกเหนือ แต่ก็ไม่ได้มีอำนาจมากพอที่จะลำเลียงมวลน้ำปริมาณมหาศาลและขับเคลื่อนอุณหภูมิโลกได้เท่ากับกัลฟ์สตรีม และกัลฟ์สตรีมก็ยังไม่มีวี่แววจะล่มสลายเร็วๆ นี้

“กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมจะไม่ ‘ล่มสลาย’ หรอก ตราบเท่าที่โลกไม่หยุดหมุนและลมไม่หยุดพัด กัลฟ์สตรีมก็จะดำเนินต่อไป ส่วนสายธารที่มีโอกาสหยุดทำงาน คือระบบหมุนเวียนน้ำที่มีขนาดเล็กกว่ามากและอยู่ลึกลงไปใต้ทะเล เรียกว่า AMOC ซึ่งได้รับการสังเกตการณ์และวิเคราะห์โดยนักวิทยาศาสตร์อย่างใกล้ชิด ทั้งสองอย่างนี้มีบทบาทที่แตกต่างกันมากในระบบโลก

“หากสายธาร AMOC ล่มสลาย แน่นอนว่าผลกระทบที่ตามมาย่อมรุนแรง ทั้งอาจนำไปสู่หายนะต่อสภาพอากาศทั่วโลกอย่างต่อเนื่องยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นปริมาณฝน แรงลมมรสุมในแอฟริกาและเอเชีย อุณหภูมิเฉลี่ยของยุโรป ความชื้นของอากาศในแคนาดา ตลอดจนความมั่นคงทางอาหารของหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก” โฟลีย์ ระบุ

กระแสน้ำในมหาสมุทรชุบเศรษฐกิจโลก
สายพานลำเลียงขนาดยักษ์แห่งมหาสมุทรของโลกมีความสำคัญกับวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของโลกหลายประการ
ประการแรก การพบกันของกระแสน้ำอุ่นและกระแสน้ำเย็นบริเวณเขตละติจูดกลางทำให้สภาพภูมิอากาศในบริเวณดังกล่าวไม่หนาวเย็นจนเกินไป จากการที่พื้นผิวน้ำทะเลบริเวณแถบเส้นศูนย์สูตรอุ่นขึ้นเนื่องจากได้รับพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ และกระแสน้ำอุ่นเหล่านี้ไหลไปสู่ขั้วโลกนำพาเอาความอบอุ่นจากเส้นศูนย์สูตรขึ้นไปยังละติจูดที่สูงขึ้นและปลดปล่อยสู่บรรยากาศส่งผลให้อุณหภูมิในเขตละตุจูดกลางไม่หนาวเกินไป เช่น การที่กระแสน้ำอุ่นที่ไหลไปถึงบริเวณฝั่งตะวันตกของสกอตแลนด์จะช่วยทำให้ฤดูหนาวของเกาะบริเตนใหญ่ไม่หนาวจัดจนเกินไปเมื่อเทียบกับเมืองที่อยู่ในระดับละติจูดเดียวกัน ในรัฐ Newfoundland and Labrador ของแคนาดา

ประการที่สอง การไหลเวียนของกระแสน้ำทำให้เกิดการพัดพาแร่ธาตุต่างๆ ในมหาสมุทรไปด้วย และในบริเวณใดก็ตามที่มีการพบกันของกระแสน้ำ เช่น การพบกันของกระแสน้ำอุ่น Gulf Steam และกระแสน้ำเย็น Labrador บริเวณชายฝั่งตะวันออกของแคนาดาและสหรัฐอเมริกา และบริเวณทะเลเหนือของทวีปยุโรป ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลักอย่างหนึ่งที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประชากรบริเวณนี้ คือ การประมง

จากรายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่า ผลผลิตจากการทำประมงแบบจับตามธรรมชาติในมหาสมุทรแอตแลนติกเกือบครึ่งหนึ่งมาจากฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 41) และฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 7) นอกจากนั้นยังพบว่าในเขตละติจูดกลาง และเขตบริเวณที่มีการยกตัวของกระแสน้ำในโลกก็มีความสำคัญต่อการทำการประมง เพราะเป็นแหล่งที่มีการทำประมงมากถึง 2 ใน 3 ของโลก คือ ร้อยละ 45 และร้อยละ 23 ตามลำดับ

ประการที่สาม ความสามารถในการเข้าถึงอาหาร (food accessibility) โดยเฉพาะแหล่งอาหารโปรตีนได้โดยง่ายของประชากร FAO รายงานว่าการบริโภคอาหารโปรตีนจากปลาของประชากรโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.90 ในช่วง 1997 – 2017 เช่น ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นจาก 17.4 กิโลกรัมต่อคน ใน 1961 เป็น 24.4 กิโลกรัมต่อคน ใน 2017 ส่วนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นจาก 5.2 กิโลกรัมต่อคน ใน 1961 เป็น 19.4 กิโลกรัมต่อคน ใน 2017

และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เช่น ทวีปแอฟริกา เพิ่มขึ้นจาก 6.1 กิโลกรัมต่อคน ใน 1961 เป็น 12.6 กิโลกรัมต่อคน ใน 2017 และในภาพรวมพบว่าประชากรในโลกมีความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะอาหารโปรตีนจากปลาเพิ่มมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของการกระจายตัวของการบริโภคโปรตีนจากปลาต่อประชากรในโลกพบว่า ประชากรที่อาศัยในเขตใกล้กับมหาสมุทร โดยเฉพาะบริเวณที่มีการทำการประมงในปริมาณมาก เช่น เขตมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ จะได้รับประโยชน์มากกว่าประชากรในพื้นที่ที่มีดินแดนในภาคพื้นทวีป

แสดงให้เห็นว่าปรากฏการณ์การไหลของกระแสน้ำในมหาสมุทรตามธรรมชาติส่งผลดีต่อการดำรงชีวิต และการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ใกล้กับมหาสมุทรที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากอิทธิพลภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้นภาคพื้นสมุทรและการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างมหาศาล อีกประการหนึ่ง คือ ความสามารถในการเข้าถึงอาหาร ซึ่งจัดว่าเป็น 1 ใน 5 องค์ประกอบหลักของความมั่นคงทางอาหารที่กำหนดโดยสหประชาชาติ

เกิดอะไรขึ้นหากกระแสน้ำมหาสมุทรอ่อนกำลังลง
กรณีเลวร้ายที่สุดของการหยุดไหลของกระแสน้ำมหาสมุทรคือ ความไม่มั่นคงของโลกจากภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นทั่วโลกทั้งทางตรงและทางอ้อม

ผลกระทบทางตรง คือ ความหนาวเย็นมากขึ้นและยาวนานขึ้นของประเทศในเขตละติจูดกลาง เช่น การไหลเวียนของกระแสน้ำอุ่น Gulf Steam ทำให้เกิดการปลดปล่อยความร้อนออกสู่ชั้นบรรยากาศในเขตละติจูดกลาง ส่งผลให้บริเวณดังกล่าวไม่หนาวเย็นจนเกินไป

สเตฟาน ราห์มหสตอร์ฟ นักวิจัยร่วมจาก the Potsdam Institute for Climate Impact Research กล่าวว่า การอ่อนกำลังลงของกระแสน้ำ AMOC น่าจะทำให้เกิดความรุนแรงของพายุที่พัดเข้าสู่สหราชอาณาจักรมากขึ้น เกิดคลื่นความร้อน (heatwave) ในยุโรปเพิ่มมากขึ้น และระดับน้ำทะเลในบริเวณชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกาจะสูงขึ้นในอีก 20 – 30 ปีข้างหน้า

ผลกระทบทางอ้อม ได้แก่ ความไม่มั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะแหล่งโปรตีนที่ได้จากการทำการประมงในอนาคต จากรายงานของ FAO การประมงแบบจับตามธรรมชาติและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของโลกตั้งแต่ 1950 เป็นต้นมาพบว่า ในภาพรวมแม้การทำการประมงในเขตภูมิภาคต่างๆ ของโลกจะเพิ่มขึ้น แต่การทำประมงแบบจับตามธรรมชาติเริ่มมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะในทวีปอเมริกา และทวีปยุโรปในช่วง 2010 – 2018

โลกร้อนทำให้สมดุลของสภาพภูมิอากาศรวน
การอ่อนกำลังลงของกระแสน้ำมหาสมุทรที่เป็นผลพวงจากโลกร้อน ทำให้ระบบการรักษาสมดุลของสภาพภูมิอากาศแปรปรวน สภาวะอากาศหนาวที่มากขึ้นและยาวนานขึ้นคลื่นความร้อนรุนแรงมากขึ้นในยุโรป และระดับน้ำทะเลสูงขึ้นในทางชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐในไม่ช้านี้ นอกจากนั้นอาจส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารของโลกเพิ่มมากยิ่งขึ้น

…นี่คือสัญญาณของโลกที่จะไม่มีวันเหมือนเดิม 

อ้างอิง:
• มี.ค. 03, 2021 . ปัญหาโลกร้อนทำให้การไหลเวียนของกระแสน้ำแอตแลนติก (AMOC) อ่อนแรงลงมากที่สุดในรอบพันปี โดย Mr.Vop, The Standard
• ก.ค. 28, 2023 . วิบัติภูมิอากาศ? เมื่อกระแสน้ำแอตแลนติก (AMOC) ที่คอยรักษาสมดุลภูมิอากาศโลกกำลังจะหยุดไหลเวียน โดย Mr.Vop, The Standard
• Aug 3, 2024 . A critical system of Atlantic Ocean currents could collapse as early as the 2030s, new research suggests
• Angela Fritz By Angela Dewan and Angela Fritz, CNN
• มิ.ย. 2022 . กระแสน้ำมหาสมุทรแอตแลนติกใกล้หยุดไหล จ่อส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก, บีบีซีไทย
• July 27, 2023 . Don’t heed warnings of Day After Tomorrow ocean collapse, says Met Office By Emma Gatten, Telegraph
• What is the Atlantic Meridional Overturning Circulation (AMOC)? . National Ocean Service
• กระแสน้ำกัลฟ์สตรีมที่อ่อนกำลังจะส่งผลอย่างไรกับระบบทะเลโลก . SDG MOV

เครดิตภาพ: https://www.whoi.edu/multimedia/world-thermohaline-circulation-the-conveyor-belt/

Copyright @2021 – All Right Reserved.