การเมืองโคลอมเบียเด็ดขาด ดึงชุมชนร่วมมือ Saveป่าแอมะซอน 36%

ข่าวดีสุดๆ สำหรับวงการนักอนุรักษ์อเมริกาใต้ เมื่อป่าฝนผืนที่ใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง “แอมะซอน” ในโคลอมเบียลดการบุกรุกลงได้ถึง 36% ภายในปีเดียว

การบุกรุกป่าในโคลอมเบียลดลงในระหว่างปี 2022 และ 2023 ซึ่งเป็นผลจากการรณรงค์มาหลายปีโดยนักเคลื่อนไหวชนพื้นเมืองที่มีวิถีชีวิตพึ่งพาป่าแอมะซอน ขณะเดียวกันหลังจากประธานาธิบดีมีนโยบายดึงชุมชนร่วมมือในการอนุรักษ์ และจำกัดการขยายตัวของธุรกิจการเกษตรทำให้สามารถสร้างสถิติใหม่การรุกป่าที่ลดลงต่ำที่สุด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของโคลอมเบีย ซูซานา มูฮามัด บอกกับนักข่าวว่า สถิตินี้มีป่าจำนวน 44,262 เฮกตาร์ที่ไม่ถูกตัด ซึ่งเป็นที่ข่าวดีมาก แต่ยังไม่สามารถกล่าวได้ว่าสงครามสิ้นสุดแล้ว ยังคงต่อสู้กับการทำผิดกฎหมายต่อไป

ข้อมูลนี้ถูกเปิดเผยในขณะที่โคลอมเบียเตรียมเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดความหลากหลายทางชีวภาพของสหประชาชาติ หรือ COP16 ที่จะจัดขึ้นในเมืองกาลีในเดือน ต.ค. ที่จะถึงนี้

โคลอมเบียลดการตัดไม้ทำลายป่าได้อย่างไร
เมื่อได้รับเลือกตั้งในปี 2022 ประธานาธิบดี กุสตาโว เปโตร ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะหยุดยั้งอัตราการตัดไม้ทำลายป่าที่สูงเป็นประวัติการณ์ในแอมะซอน โดยจำกัดการขยายตัวของธุรกิจการเกษตรที่รุกคืบเข้าไปในป่า พร้อมกับการสร้างเขตอนุรักษ์ที่ชุมชนพื้นเมืองมีส่วนร่วมในการอาศัยอยู่กับป่าได้

นอกจากนั้นยังใช้นโยบายการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลและกองกำลังติดอาวุธปฏิวัติโคลอมเบีย-กองทัพประชาชน หรือ ฟาร์ก (FARC) ในพื้นที่ รวมถึงใช้นโยบายทางการเงินจูงใจเกษตรกรในการร่วมอนุรักษ์ป่า ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้อัตราการตัดไม้ทำลายป่าในโคลอมเบียลดลง อย่างไรก็ตาม ข่าวดีที่ว่านี้อาจไม่ต่อเนื่อง เพราะโคลอมเบียอาจจะเชิญกับสภาพอากาศแห้งแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญหลังจากนี้

สำหรับ ป่าแอมะซอนในโคลอมเบียมีพื้นที่ 1 ใน 3 ของป่าแอมะซอนทั้งหมดที่มีพื้นที่ 2.6 ล้านตารางไมล์ หรือประมาณ 6.7 ล้านตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 9 ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ได้แก่ บราซิล โบลิเวีย เปรู โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เวเนซุเอลา กายอานา ซูรินาเม และเฟรนช์เกียนา โดยพื้นที่ราว 60% ของบราซิล โดยรวมมีพื้นที่ราวครึ่งหนึ่งของทวีปยุโรป

ป่าแอมะซอนเป็นปอดของโลก สามารถช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำลายชั้นบรรยากาศโลกเฉลี่ยปีละกว่า 2,000 ล้านตัน ป่าฝนแห่งนี้จึงเป็นแหล่งสำคัญในการชะลอภาวะโลกร้อน ที่สำคัญมากกว่านั้นลุ่มน้ำแห่งนี้เป็นศูนย์กลางความหลากหลายทางชีวภาพที่ไม่เหมือนที่ใดในโลก 

อย่างไรก็ตามใน ปี 2566 สำนักข่าว Reuters ได้เผยแพร่ข้อมูลจากหน่วยงานวิจัยอวกาศ Inpe (National Institute for Space Research) สถานการณ์พื้นที่ป่าที่ถูกทำลายไปในช่วงเดือน เม.ย.อยู่ที่ 328.71 ตารางกิโลเมตร ซึ่งปกติแล้วค่าเฉลี่ยเดิมจะอยู่ที่ประมาณ 455.75 ตารางกิโลเมตร นั่นเท่ากับการทำลายป่าลดลง หลังจาก ลูลา (Luiz Inacio Lula da Silva) ประธานาธิบดีคนล่าสุดของบราซิลเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งเขาได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะยุติการตัดไม้ทำลายป่าลงให้ได้

ต่างจากสมัยของประธานาธิบดีโบลโซนาโร (Jair Bolsonaro) ที่ได้ตัดเงินทุนและลดเจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมลง แต่สนับสนุนการขยายพื้นที่การเกษตรเพื่อทำฟาร์มและเหมืองแร่ในพื้นที่คุ้มครองเพิ่มมากขึ้น

อ้างอิง:
• Deforestation in Colombia fell to historic low in 2023: How did they achieve the drop?. Euronews
• เรื่องน่ายินดีของโลก… การตัดไม้ในป่าแอมะซอนกำลังลดลง ปอดของโลกกำลังจะกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง. เว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
• รู้จักป่าแอมะซอน “ปอดของโลก” ที่กำลังถูกคุกคามจากมนุษย์. Thairath Online
• เมื่อการทำลายป่าแอมะซอนทำให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศเลวร้ายขึ้นไปอีก. Greenpeace

เครดิตภาพ: Thomson Reuters Foundation/Fabio Cuttica

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่