‘ปลาหมอคางดำ’ เอเลียนอันตราย ที่ ‘ตัวร้าย’ ไม่ต้องรับผิดชอบ?

ใครต้องรับผิดชอบต่อกรณี “ปลาหมอคางดำ” เอเลียนสัตว์น้ำที่ระบาดใน 13 จังหวัด เนื่องจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนผู้นำเข้าต่างบ่ายเบี่ยง

“ปลาหมอคางดำ” เอเลี่ยนสปีชีส์ที่กำลังระบาดอยู่ในหลายจังหวัดและเป็นตัวการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ในระบบอาหารของประเทศในขณะนี้ สะท้อนการครอบงำของ “อำนาจทุน” กับ “รัฐไทย” จนแทบแยกกันไม่ออก igreenstory ชวนไปลำดับเหตุการณ์ดูว่า “เอเลียน” ตัวร้ายที่แฝงตัวอยู่ในกระบวนการนี้หน้าตาเป็นอย่างไร

1) เป็นไปได้อย่างไรที่หน่วยงานรัฐอย่าง “กรมประมง” อ้อมแอ้มที่จะตอบคำถามเรื่อง “ปลา” อย่างตรงไปตรงมา เพราะชื่อ “กรมประมง” และเป็นหน่วยงานควบคุมการนำเข้าส่งออกสัตว์น้ำ แต่ปลาหมอแหวกว่ายอยู่ในลำน้ำของประเทศมาผ่านมา 14 ปี ระบาดไปใน 13 จังหวัด และกระทั่งเวลานี้ปลาหมอเอเลียนได้ขยายพันธุ์มาดำผุดดำโผล่อยู่ในคลองผดุงกรุงเกษมข้างๆ ทำเนียบรัฐบาล

2) ข้อมูลจากกรมประมงล่าสุด ระบุว่า ปลาหมอสีคางดำ (Blackchin tilapia) หรือชื่อวิทยาศาสตร์คือ (Sorotheodon Melanotheron) เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน (Alien Species) กระจายไปใน 13 จังหวัดชายฝั่งแถบอ่าวไทย ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เพราะพวกมันกินลูกปลา ลูกกุ้ง และลูกหอยเป็นอาหาร ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่มีบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ เนื่องจากปลาหมอชนิดนี้มันร้ายกาจสามารถอยู่ได้ทั้งสภาพน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย รวมทั้งแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ออกลูกได้คราวละ 500 กว่าตัว

3) ปลาที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาไม่สามารถว่ายน้ำข้ามทะเลมาได้ ต้องมีมีบริษัทนำเข้ามา ไม่ใช่อยู่ๆ ปลาหมอคางดำก็โผล่ขึ้นเหนือน้ำมาให้ชาวบ้านเห็นเป็นครั้งแรกที่ จ.สมุทรสงคราม เมื่อราวปี 2555 และจากนั้นพบการระบาดมากขึ้นในปี 2559

4) จากการสำรวจการแพร่กระจายในปี 2560 โดยกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง พบว่าใน จ.สมุทรสงคราม และเพชรบุรี มีปลาหมอคางดำระบาดในพื้นที่เลี้ยงกุ้งของทั้งสองจังหวัดรวมกันไม่ต่ำกว่า 1,573 ตัน หรือราว 30 ล้านตัว ประมาณการมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 150-350 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้ในปี 2561 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ปลาชนิดนี้เป็นสายพันธุ์ต่างถิ่นที่มีความสำคัญสูงที่จะต้องมีการควบคุม และกำจัด

5) ต่อมาสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงครามจึงได้ดำเนินโครงการการรับซื้อปลาหมอสีคางดำ ตามโครงการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติในระยะเร่งด่วน (ตั้งแต่ 24 ก.ค. 2561 สิ้นสุดการรับซื้อ 31 ส.ค. 2561) นอกจากนั้นในรายงานเรื่อง “การแพร่กระจายและขอบเขตการรุกรานของปลาหมอสีคางดำในพื้นที่ชายฝั่งและพื้นที่ใกล้เคียง” โดยนักวิจัยกรมประมงซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2566 ระบุว่า การเก็บข้อมูลการแพร่ระบาดของปลาสายพันธุ์นี้ 2 ช่วง คือ เดือน พ.ย. ปี 2562 และ เดือน มี.ค. 2564 บริเวณพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก พื้นที่อ่าวไทยตอนบน และพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง รวมถึงได้ศึกษาความชุกชุมการแพร่ระบาดใน 3 ลำน้ำ ได้แก่ ลำน้ำประแสร์, ลำน้ำเพชรบุรีและสมุทรสงคราม, และลำน้ำสวี ผลการศึกษาพบว่า การระบาดของปลาหมอคางดำมีความน่ากังวล เนื่องจากการแพร่กระจายอยู่ในระดับรุกราน

6) คำถามคือ ที่มาของปลาหมอคางดำเริ่มต้นจากจุดไหน มีหลักฐานอะไรให้พอเข้าใจได้บ้าง เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส. กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอสีคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย บอกกับบีบีซีไทยว่า ทางอนุกรรมาธิการจะเชิญบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เข้ามาชี้แจงกรณีการขออนุญาตนำเข้าปลาหมอสีคางดำ เมื่อ 14 ปีที่แล้ว

7) ณัฐชา บอกว่า มีหลักฐานการนำเข้าปลาสายพันธุ์นี้อย่างเป็นทางการในปี 2553 โดยคณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพ กรมประมง (Institute Biosafety Committee: IBC) อนุญาตให้ CPF นำเข้าปลาหมอสีคางดำ จำนวน 2,000 ตัว เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล และมีศูนย์ทดลองอยู่ที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โดยบริษัทเริ่มยื่นขออนุญาตนำเข้าตั้งแต่ปี 2549 (ใช้เวลารวบรวมพันธุ์ปลา 3 ปี)

8) ผ่านมาถึงปี 2555 เริ่มพบการระบาดของปลาหมอคางดำตามแหล่งน้ำธรรมชาติใน ต.ยี่สาร สถานที่เดียวกับแล็ปที่เอกชนตั้งอยู่ ซึ่งไทยพีบีเอสรายงาน เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา ว่า ศูนย์ทดลองของ CPF ที่ ต.ยี่สาร อยู่ติดกับคลองธรรมชาติ 3 แห่ง คือ คลองหลวง คลองดอนจั่น และคลองบางยาว ซึ่งปัจจุบันพบการระบาดของปลาหมอสีคางดำในคลองเหล่านี้ด้วย

9) ในปี 2560 มีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่าได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของปลาหมอสีคางดำใน จ.สมุทรสาคร และเพชรบุรี ส่งผลให้ทาง กสม. ตรวจสอบเรื่องการละเมิดสิทธิชุมชนกรณีเกษตรกรได้รับผลกระทบ แต่ไม่ได้ตรวจสอบเรื่องการนำเข้าของเอกชน

10) ปลาหมอคางดำที่นำเข้าในปี 2553 จำนวน 2,000 ตัว นำเข้ามาจากประเทศกานา (Ghana) เป็นปลาที่มีขนาดเล็ก ใช้เวลาขนส่ง 32 ชั่วโมง ทำให้ปลารอดเพียง 600 ตัว จากนั้นบริษัทได้นำปลาที่เหลือไปปล่อยในระบบปิด ผ่านไป 1 สัปดาห์ เหลือปลารอดเพียง 200 ตัว และทยอยตายภายใน 3 สัปดาห์ จากนั้นได้ส่งตัวอย่างปลาให้กรมประมงด้วยวิธีการดอง จำนวน 50 ตัว และตัดสินใจทำลายปลาที่เหลือโดยใช้สารคลอรีนเข้มข้น และฝังกลบซากปลาตามด้วยการโรยปูนขาวทับ เพราะพิจารณาแล้วว่าการวิจัยเพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ไม่น่าสำเร็จ และแจ้งกรมประมงให้ทราบด้วยวาจา แต่ไม่ได้ทำรายงานอย่างเป็นทางการ

11) คำอธิบายในขั้นตอนนี้ของกรมประมงต่อ กสม.ค่อนข้างคลุมเครือ โดยระบุว่า สาเหตุการระบาดของปลาหมอคางดำอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากการทำผิดเงื่อนไขอนุญาตนำเข้า หรือการลักลอบนำเข้าแบบผิดกฎหมาย และไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า แหล่งที่มาหรือสาเหตุการระบาดคืออะไร (เสมือนชี้ช่องว่าอาจจะมีการระบาดจากสาเหตุอื่น ปัญหาไม่ใช่มาจากล็อตนำเข้า 2,000 ตัว)

12) อย่างไรก็ตาม มติของคณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพหรือ IBC เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2549 ที่มีมติเห็นชอบให้ CPF นำเข้าปลาหมอคางดำได้นั้น มีเงื่อนไขระบุไว้ด้วยว่า ทางผู้นำเข้าต้องเก็บครีบและตัวอย่างนำส่งให้กรมประมง และเมื่อวิจัยเสร็จแล้วต้องแจ้งผลการวิจัยให้กรมประมงทราบด้วย รวมทั้งต้องระมัดระวังไม่ให้มีการแพร่ระบาดลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งนี้ หากการวิจัยไม่สำเร็จก็ต้องรายงานและเก็บซากปลาส่งให้กรมประมง

13) ทาง กสม. มีความเห็นว่า การที่ทางผู้วิจัย (CPF) ไม่ได้รายงานผลการทดลองและการตายของปลาหมอคางดำให้กับกรมประมงเป็นลายลักษณ์อักษร ถือว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่น แต่ไม่ได้ระบุว่าทางบริษัทต้องรับผิดชอบอย่างไรต่อกรณีนี้ มีเพียงคำแนะนำกรมประมงให้ตั้งคณะทำงานควบคุมการระบาด และจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการรุกรานของปลาสายพันธุ์นี้

14) มีรายงานว่า ที่ผ่านมากรมประมงต้องใช้งบประมาณในการับซื้อปลาหอมคางดำที่ระบาดตามแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อนำไปกำจัดวงเงินสูงถึง 11 ล้านบาท (สมุทรสงครามเป็นหนึ่งในนั้น) และในปี 2565 กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง ยังได้ศึกษาวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในเขตพื้นที่ชายฝั่งของไทยจากโครงสร้างพันธุกรรมประชากร โดยรวบรวมตัวอย่างปลาจาก 6 จังหวัด ตั้งแต่ จ.สมุทรปราการ ลงไปถึงสุราษฏร์ธานี และนำมาวิเคราะห์เครื่องหมายพันธุกรรมไมโทคอนเดรียล (Mitochondrial DNA) ที่ตำแหน่ง D-Loop

15) ผลการศึกษาพบว่า ปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดในไทยนั้นมีแหล่งที่มาร่วมกัน แต่ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ามาจากแหล่งใด เนื่องจากความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมที่ประเมินโดยใช้ Mitochondrial DNA ที่ตำแหน่ง D-Loop ไม่ได้แสดงรูปแบบของประชากรที่ชัดเจน ทีมวิจัยจึงมีข้อเสนอแนะว่า มีความจำเป็นต้องเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ของสัตว์น้ำที่นำเข้ามาในประเทศ เพื่อสามารถนำมาอ้างอิงทุกครั้งเมื่อเกิดการระบาด ซึ่งจะช่วยให้การวิเคราะห์และพิสูจน์แหล่งประชากรต้นกำเนิดเป็นไปได้ง่ายและถูกต้องมากขึ้น

16) ความพยายามในการค้นหา DNA อาจไม่ง่ายและมีอุปสรรค หากหน่วยงานรัฐบ่ายเบี่ยงการตรวจสอบ โดยเฉพาะตัวอย่างปลาที่ถูกดองเก็บรักษาไว้ที่กรมประมง ซึ่งนักวิจัยของ CPF อ้างว่าได้ส่งตัวอย่างปลา จำนวน 50 ตัวให้กับกรมประมงไปแล้ว รวมทั้งปลาตายที่เหลือก็ได้นำซากไปฝังกลบที่ ต.ยี่สาร ซึ่งต่อมาได้มีการสร้างอาคารทับพื้นที่ดังกล่าวไปแล้ว โดย บัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง บอกกับบีบีซีไทย เมื่อ 10 ก.ค.ว่า เบื้องต้นไม่พบว่าทางกรมประมงมีตัวอย่างปลาหมอคางดำที่ถูกนำเข้ามาในปี 2553 จากการสอบถามเจ้าหน้าที่เบื้องต้นไม่พบว่ามีการเก็บรักษาดองปลาไว้ (บริษัทไม่ได้ส่งมาให้)

17) ล่าสุด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกำกับดูแลกรมประมง ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องที่มาของการระบาดปลาหมอคางดำ การจะไปโทษบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง ต้องทำงานให้ละเอียด

18) เมื่อ 16 ก.ค. 2567 เปรมศักดิ์ วนัชสุนทร จากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้เปิดแถลงข่าวตอนหนึ่งว่า บริษัทมีการทบทวนย้อนหลังสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 14 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การนำเข้าในเดือน ธ.ค. 2553 ถึงวันทำลาย (ปลาตาย) ในเดือน ม.ค. 2554 ยืนยันว่า “เนื่องจากปลามีสุขภาพไม่แข็งแรงจึงมีการตายต่อเนื่องจนเหลือเพียง 50 ตัว บริษัทจึงตัดสินใจหยุดการวิจัยในเรื่องนี้ โดยมีการทำลายซากปลาตามมาตรฐานและแจ้งต่อกรมประมง พร้อมส่งตัวอย่างซากปลา ซึ่งดองในฟอร์มาลีนทั้งหมดไปยังกรมประมงในปี 2554”

19) คำแถลงนี้เกิดขึ้น 1 วัน หลังจาก บัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ออกมายืนยัน เมื่อ 15 ก.ค. ว่า ไม่มีหลักฐานว่า บริษัทได้นำส่งปลาหมอคางดำมายังกรมประมง โดยอ้าง “สมุดเบอร์ 2” เล่มสีน้ำเงินของกรมที่ไม่ปรากฎหลักฐานการนำส่งแต่อย่างใด โดยอธิบดีกรมประมงยังกล่าวย้ำว่า “เอกชนถ้ามีเอกสารก็ต้องเอาข้อเท็จจริงมาแถลง และถ้ามีอยู่ ณ วันนี้อยู่ในครอบครองที่ใดก็ต้องเอามาเพื่อพิสูจน์ ของอย่างนี้เขาพิสูจน์กันได้ แต่เอกชนต้นเรื่องต้องพิสูจน์ให้ได้ กรมประมงถ้าเรามี เราก็ต้องเอาไปพิสูจน์ให้ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้คือข้อเท็จจริงที่สังคมถามหา และอยากให้เกิดข้อเท็จจริงขึ้นให้ได้”

20) เมื่อฝ่ายหนึ่งในฐานะ “ทุน” ที่เป็นผู้นำเข้า บอกว่า ปลาตายเกือบหมด เหลือวิจัยแค่ 50 ตัว และได้ส่งตัวอย่างให้หน่วยงานรัฐคือ “กรมประมง” แล้ว แต่กรมประมงบอกว่า ไม่มีหลักฐานปลาที่ถูกดองใดๆ ส่งมา ท้าให้เอกชนนำหลักฐานมาแสดงอีกด้วย ทำให้เวลานี้เกษตรกรซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง คงมึนงงกับการคลี่คลายปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำในเวลานี้ว่า ถึงที่สุดแล้วจะมีใครในประเทศนี้แสดงความรับผิดชอบหรือจัดการกับ “เอเลียน” ตัวร้ายที่กำลังบ่อนทำลายระบบนิเวศสังคมไทยได้บ้าง

ข้อมูลอ้างอิง:
10 ก.ค. 2567 . ปลาหมอสีคางดำที่แพร่กระจายอยู่ในขณะนี้ มาจาก CPF จริงหรือไม่ ? .บีบีซีไทย
16 ก.ค. 2567 . กรมประมง ยันไม่พบข้อมูลส่งตัวอย่างนำเข้า “ปลาหมอคางดำ” . ThaiPBS
16 ก.ค. 2567 . ศูนย์วิจัยสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ ยืนยัน ทำลาย ปลาหมอคางดำ สิ้นซากตั้งแต่ปี54 หนุนรัฐแก้ปัญหา . Matichon Online

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย

เร่งกองทุน Loss and damage ช่วยประเทศเปราะบางสู้วิกฤตโลกเดือด