นวัตกรรมการปลูกป่า
บินโดรนหว่าน 4 หมื่นเมล็ดต่อวัน
ทางลัดช่วยฟื้นฟูโลก

by IGreen Editor

บริษัทสตาร์ทอัพในออสเตรเลียกำลังสร้าง “กองทัพของโดรนยิงเมล็ดพันธุ์พืช” โดยการนำฝักเมล็ดพันธุ์พืชซึ่งออกแบบมาเป็นพิเศษนำขึ้นไปยิงจากท้องฟ้าลงสู่พื้นดินเพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่ป่า

เป็นการใช้โดรนต่อสู้การตัดไม้ทำลายป่า “โดรนของเราแต่ละตัวสามารถหว่านเมล็ดได้กว่า 40,000 เมล็ดต่อวัน” แอนดรูว์ วอล์คเกอร์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง AirSeed Technologies กล่าวและว่า “เมื่อเทียบกับวิธีการแบบเดิมมันเร็วกว่า 25 เท่า และก็ถูกกว่า 80% ด้วย”

พวกเขาตั้งเป้าปลูกต้นไม้ 100 ล้านต้นภายในปี 2567 โดยโดรนแต่ละตัวจะบรรจุเมล็ดที่คัดเลือกมาเป็นพิเศษซึ่งเข้ากันได้ดีกับถิ่นที่อยู่ด้านล่าง

เมล็ดเหล่านี้ผลิตขึ้นโดยใช้ชีวมวลเหลือทิ้ง มีสารเคลือบคาร์บอนที่ช่วยป้องกันการกัดแทะจากนก แมลง และหนู เมื่อฝนตกเมล็ดดังกล่าวจะอุ้มน้ำเพื่อให้เมล็ดงอกออกมา ซึ่งแต่ละเมล็ดจะมีสารอาหาร แร่ธาตุ และโปรไบโอติกทั้งหมดที่พืชต้องการผสมอยู่ เพื่อเป็นอาหารแก่ระบบราก และการเจริญเติบโต

“มันปกป้องเมล็ดพันธุ์จากสัตว์ป่าประเภทต่าง ๆ แต่ยังสนับสนุนเมล็ดเมื่องอก และช่วยส่งมอบสารอาหารและแหล่งแร่ธาตุทั้งหมดที่จำเป็น พร้อมกับโปรไบโอติกบางชนิดเพื่อเพิ่มการเจริญเติบโตในระยะเริ่มต้น” วอล์คเกอร์กล่าว

ทั้งนี้ การบินโดรนในแต่ละครั้งเส้นทางบินจะคงที่และยิงเมล็ดพันธุ์ไปตามที่กำหนดไว้ล่วงหน้า รวมทั้งมีการบันทึกพิกัดของเมล็ดพืชแต่ละชนิดที่ยิงไปด้วยเพื่อช่วยให้บริษัทสามารถประเมินสุขภาพของต้นไม้เมื่อเติบโตได้

“เราตระหนักดีว่าจำเป็นต้องฟื้นฟูสุขภาพของดิน ฟื้นฟูจุลินทรีย์ในดิน และจำเป็นต้องฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยเบื้องต้นสำหรับสัตว์” วอล์คเกอร์กล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ปลูกต้นไม้ไปแล้วมากกว่า 50,000 ต้น และตั้งเป้าที่จะปลูกให้ครบ 100 ล้านต้นภายในปี 2567

ที่ผ่านมาโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า โลกสูญเสียพื้นที่ป่า 70,000 ตารางกิโลเมตรทุกปี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีขนาดประมาณประเทศโปรตุเกส จึงเรียกร้องให้ตัวเลขนี้ลดลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2568 และยุติการตัดไม้ทำลายป่าสุทธิทั่วโลกภายในปี 2573

แต่ด้วยอัตราการตัดไม้ทำลายป่าที่ไม่น่าจะบรรเทาลงในเร็ว ๆ นี้ มาตรการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ของ AirSeed นี้จึงมีความจำเป็นในปัจจุบันมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อลดผลกระทบที่รุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

AirSeed ไม่ได้ดำเนินงานเพียงลำพัง แต่ได้พัฒนาระบบการปลูกโดยใช้โดรนเพื่อต่อสู้กับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพร่วมกับบริษัทสตาร์ทอัพอีกสองแห่ง คือ Dendra และ Biocarbon Engineering ซึ่งมีเป้าหมายที่จะช่วยต่อสู้กับการตัดไม้ทำลายป่าด้วยเทคโนโลยีการทิ้งเมล็ดพืชเช่นเดียวกัน

โดรนติดกล้องบินตรวจสอบการทำสวนปาล์มน้ำมันต่อสู้กับการใช้ที่ดินผิดกฎหมาย และการตัดไม้ทำลายป่าในมาเลเซีย, ที่มา: Michael-MK-Khor-@flickr.jpg

ข้อมูลจาก WWF ระบุว่า โลกของเรากำลังสูญเสียป่า ไม่ว่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไฟป่า หรือการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ต้นไม้และป่าไม้ลดลงเรื่อย ๆ WWF ประมาณการว่าทุกปีเรากำลังสูญเสียพื้นที่ป่าไป 75,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 28,958 ตารางไมล์

กล่าวอีกนัยหนึ่งนั่นคือสนามฟุตบอล 27 แห่งที่หายไปทุกนาที ถึงเวลาแล้วที่เราจะลงมือทำครั้งใหญ่ด้วยการปลูกป่าบนโลกใบนี้เพิ่ม ซึ่งการแก้ปัญหาแบบเดิมอาจต้องใช้ความพยายาม เสียค่าใช้จ่ายสูง และอาจใช้เวลานาน ดังนั้น ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วจะช่วยให้ทำสิ่งนี้ง่ายขึ้น นั่นก็คือการใช้เทคโนโลยีโดรนปลูกต้นไม้

โดยปัจจุบันมีมูลนิธิที่มีชื่อเสียง และบริษัทร่วมทุน และองค์กรอื่น ๆ ได้หันมาใช้โดรนในกระบวนการปลูกป่า โดยแต่ละกระบวนการอาจจะแตกต่างกัน แต่โดยรวมเป็นวิธีการที่จะลดการตัดไม้ทำลายป่าและทำให้โลกกลับมาเป็นสีเขียวอีกครั้ง

ทั้งนี้ ในการประชุม COP26 ที่ผ่านมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ผู้นำระดับโลกมากกว่า 100 คนให้คำมั่นที่จะหยุดการตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของที่ดินภายในสิ้นทศวรรษ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนของรัฐและเอกชน 19 พันล้านดอลลาร์เพื่อลงทุนในการปกป้องและฟื้นฟูป่าไม้

คำสัญญาดังกล่าวออกเป็นแถลงการณ์ร่วมระหว่างการเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศ COP26 ในเมืองกลาสโกว์ ได้รับการสนับสนุนจากบรรดาผู้นำของประเทศต่างๆ เช่น บราซิล อินโดนีเซีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งคิดเป็น 85% ของป่าไม้ทั่วโลก หรือครอบคลุมพื้นที่ป่ามากกว่า 13 ล้านตารางไมล์

อ้างอิง:

  • Ben Anthony Horton (Jan 05, 2022) “This Australian start-up wants to fight deforestation with an army of drones” . Euronews
  • Bojan Kitanovic · Drones News· (Nov 17, 2020) “Drones plant Trees to end deforestiom it the world” . The Drones world
  • (Nov 4, 2021) “Over 100 global leaders pledge to end deforestation by 2030” Reuters

Copyright @2021 – All Right Reserved.