โลกกำลังก้าวสู่ยุคการบินไร้มลพิษ แอร์บัสทดลองเชื้อเพลิงน้ำมันพืช ช่วยลดคาร์บอน 53-71%

แอร์บัส (Airbus) ผู้ผลิตเครื่องบินชั้นนำของโลกจากฝรั่งเศส ก้าวไปอีกขั้นด้วยการทำการบินครั้งแรกด้วยเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน หรือที่เรียกว่า “SAF” แบบ 100% และที่น่าสนใจก็คือ SAF ที่นำมาขับเคลื่อนเครื่องบินนี้ทำมาจากน้ำมันพืช!

เครื่องบินแอร์บัส A380 ออกเดินทางจากสนามบินบลาญัค ในเมืองตูลูสของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 25 มี.ค. เวลา 08.43 น. ตามเวลาท้องถิ่นด้วยเชื้อเพลิง 27 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่ทำจากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วและไขมันที่เหลือใช้อื่น ๆ กับเครื่องยนต์ Rolls-Royce Trent 900 โดยเที่ยวบินนี้ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 

น้ำมันที่นำมาใช้ บริษัท TotalEnergies ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานของฝรั่งเศสเช่นกัน ได้จัดหา SAF ที่ไม่ผสมจำนวน 27 ตัน สำหรับเที่ยวบินนี้โดยผลิตในแคว้นนอร์ม็องดี ใกล้กับเมืองเลออาฟวร์ ประเทศฝรั่งเศส 

SAF ที่นำมาใช้กับเครื่องบินครั้งแรกทำจากเอสเทอร์ (กรดไขมันของกลีเซอรีน) และกรดไขมันที่ผ่านกระบวนการไฮโดรโพรเซสซิง (HEFA) ปลอดสารอะโรเมติกส์และกำมะถัน และโดยหลักแล้วประกอบด้วยน้ำมันสำหรับประกอบอาหารที่ใช้แล้ว เช่นเดียวกับไขมันเหลือทิ้งอื่น ๆ 

นี่เป็นเครื่องบินแอร์บัสประเภทที่สามที่บินด้วย SAF ในอัตราส่วน 100% ตลอดระยะเวลา 12 เดือน ลำแรกคือเครื่องบินแอร์บัส A350 ในเดือน มี.ค. 2021 ตามด้วยเครื่องบินทางเดินเดี่ยวรุ่น A319neo  ในเดือน ต.ค. 2021 และตามด้วย A380 ในปี 2022

ส่วนเที่ยวบินที่สองของปี 2022 บินด้วย SAF ด้วยเครื่องบินลำเดียวกันมีกำหนดบินจากตูลูสไปยังสนามบินนีซในวันที่ 29 มี.ค. เพื่อทดสอบการใช้ SAF ในระหว่างการบินขึ้นและลงจอด

แอร์บัสบอกว่าการใช้ SAF ที่เพิ่มขึ้นเป็นหนทางสำคัญในการบรรลุความทะเยอทะยานของอุตสาหกรรมการบินในการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยมีสถิติสำคัญที่สรุปไว้ในรายงาน Waypoint 2050 ที่ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมการบินว่า SAF สามารถมีส่วนในการลดคาร์บอนที่จำเป็นถึง 53% ถึง 71% 

ปัจจุบันเครื่องบินแอร์บัสทุกลำได้รับการรับรองให้บินด้วยส่วนผสมของ SAF ผสมกับน้ำมันก๊าดสูงสุดถึง 50% เป้าหมายคือการบรรลุการรับรองการใช้งาน SAF ในอัตราถึง 100% ภายในสิ้นทศวรรษนี้

เครื่องบิน A380 ที่ใช้ในการทดสอบนี้เป็นเครื่องบินแบบเดียวกับที่เพิ่งเปิดตัวในชื่อ ZEROe Demonstrator ของแอร์บัส ซึ่งเป็นเครื่องทดสอบการบินสำหรับเทคโนโลยีแห่งอนาคตและเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำเครื่องบินไร้มลพิษเครื่องแรกของโลกออกสู่ตลาดภายในปี 2035

ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการบินถูกโจมตีมาตลอดว่าเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยข้อมูลจาก ATAG ระบุว่า การบินมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 12% จากแหล่งการขนส่งทั้งหมด เทียบกับ 74% จากการขนส่งทางถนน แต่เพราะการบินปล่อยก๊าซอันตรายสู่ชั้นบรรยากาศโดยตรงมากกว่า และมีกระแสเรียกร้องให้ชาวโลกลดการเดินทางทางอากาศที่ไม่จำเป็นลง

รายงาน Waypoint 2050 คาดการณ์ว่าภายในปี 2050 ผู้โดยสารประมาณ 1 หมื่นล้านคนจะบินในแต่ละปี สร้างรายได้ 22 ล้านล้าน แต่หากไม่มีการแทรกแซงการบินในลักษณะนี้จะก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 2,800 ล้านตัน และต้องใช้เชื้อเพลิงมากกว่า 620 ล้านตัน

รายงานนี้ตั้งสมมติฐานว่า การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อาจลดลงหลังจากเทคโนโลยีและการดำเนินงานด้วยการใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืนเป็นหลัก โดย 90% ของเชื้อเพลิงจะถูกแทนที่ด้วย SAF ด้วยปัจจัยลดการปล่อย 100% ภายในปี 2050 (ประมาณ 380 Mt ของ SAF )

Interesting Engineering รายงานว่า แอร์บัสเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมการบินที่ปรับตัวแล้ว โดยในปี 2019 แอร์บัสประกาศจะหยุดการผลิตเครื่อง A380 ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยอ้างว่ามีความต้องการต่ำและต้นทุนการผลิตสูง 

อย่างไรก็ตาม แอร์บัสยังพบว่า A380 เป็นรุ่นที่เหมาะสำหรับทดสอบเทคโนโลยีที่ยั่งยืน เนื่องจากภายในที่กว้างขวาง และในเดือน ก.พ. ยักษ์ใหญ่ด้านการบินรายนี้ประกาศเป้าหมายที่จะใช้เครื่องบินแบบเดียวกับที่ใช้ในเที่ยวบินทดสอบ SAF ในเดือนนี้ เพื่อทดสอบเครื่องยนต์ไฮโดรเจนภายในปี 2026

ข้อมูลจาก

  • “First A380 powered by 100% Sustainable Aviation Fuel takes to the skies”. (28 March 2022). Airbus.
  • “Waypoint 2050”. Aviation Benefits Beyond Borders. Retrieved 3 April 2022.
  • Chris Young” (31 March 2022). A massive Airbus A380 flew using 100% sustainable fuel made from cooking oil”. Interesting Engineering. 

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

‘สารเคมีตลอดกาล’ ภัยร้ายคุกคาม ทุกอณูบนโลก อยู่ในทุกผลิตภัณฑ์ที่ใช้