ระบบเตือนภัย Air4Thai ไม่ตอบโจทย์?ต้องแก้ตามที่เป็นจริง ปราศจากอคติ และวาระซ้อนเร้น

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Rungsrit Kanjanavanit โดยตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่แก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ของกรมควบคุมมลพิษ หัวข้อ “เหตุใดระบบเตือนภัย Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษจึงไม่ตอบโจทย์”

…ช่วงนี้ มีการแถลงข่าวออกจากทางฝ่ายรัฐบาล บอกประชาชน ให้ติดตามค่าคุณภาพอากาศจากทาง กรมควบคุมมลพิษเท่านั้น เพราะ ข้อมูลจาก App อื่นๆ ไม่น่าเชื่อถือ สร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชน

ผมขอนำคำชี้แจงที่เคยเขียนไว้เมื่อปีก่อน มาให้หลายคนที่ยังไม่ได้อ่าน รับทราบอีกครั้ง

ผมทราบดีครับว่าทาง ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษไม่พอใจที่ทางทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร ของ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกเตือนภัยประชาชน มาสร้างเครื่องมือ สร้างเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศ และสร้างเครือข่ายติดตามรายงานคุณภาพอากาศกันเอง โดยไม่อ้างอิงของกรมควบคุมมลพิษ

ทางรัฐรู้สึกสูญเสียอำนาจถูก disrupt โดยภาคประชาชน จึงแสดงอาการหงุดหงิดอย่างเห็นได้ชัด พยายาม discredit หน่วยงานอิสระอื่นๆ ที่มานำเสนอข้อมูลคุณภาพอากาศ

ผมอยากชี้แจงว่า เหตุใดระบบเตือนภัย Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษจึงไม่ตอบโจทย์

  1. ประชาชน มีความจำเป็นต้องทราบคุณภาพอากาศแบบ real-time

การแปรผันของคุณภาพอากาศในแต่ละช่วงเวลาของวันมีมาก เช่น มักแย่สุดช่วงสายๆ และดีขึ้นช่วงบ่ายถึงเย็น ประชาชนจะได้สามารถปรับกิจกรรมของตนเองได้

ยกตัวอย่างเช่นวันเสาร์ที่ผ่านมาที่ค่า pm2.5 สูง 5-600 ในช่วงเช้า จำเป็นต้องเก็บตัวในบ้าน หรือห้องที่มีเครื่องกรองอากาศ แต่ pm2.5 ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงบ่าย เราก็สามารถออกจากบ้าน ทำกิจกรรมกลางแจ้งได้

ค่าที่แสดงใน Air4Thai เป็นค่าเฉลี่ยเมื่อ 24 ชม. ที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งไม่มีประโยชน์กับการปรับเปลี่ยนกิจกรรมแต่อย่างใด และหากมีค่าสูงมากๆ แต่เป็นเพียงช่วงสั้นๆ ค่าเฉลี่ยจะออกมาดูดี ทำให้คิดว่าไม่มีปัญหา สามารถทำกิจกรรมอะไรก็ได้ตลอดเวลา

  1. สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของ กรม คพ. มีเฉพาะเมืองใหญ่เท่านั้น ไม่สะท้อนค่าที่เป็นจริงตรงตามสถานที่ประชาชนอยู่

ยกตัวอย่างภายใน จ.เชียงใหม่ การกระจายตัวของ AQI ของ อ.เมือง อ.แม่ริม อ.เชียงดาว อ.สะเมิง อาจแตกต่างกันในระดับ 100 ในบางวัน ค่าตรวจวัดที่ศาลากลาง จึงไม่สามารถเป็นตัวแทนของคนที่อยู่รอบนอกได้เลย

ผมคิดว่าปัจจุบันเทคโนโลยีมัน disruptive ขบวนการนี้หมดแล้ว ประชาชนสามารถมีเครื่องวัดส่วนตัวได้เอง เป็นการกระจายอำนาจ empowerment ให้ประชาชน

กรม คพ. ต่อว่าเสมอว่า เครื่องเซี่ยวมี่ของจีน หรือ Dustboy ของ มช. ราคาไม่กี่พัน ไม่ได้มาตราฐานแบบ เครื่องราคา 8 ล้านของ กรม คพ. ข้อนั้นคงมีส่วนจริง แต่จากการทดสอบจากวิศวกรความคลาดเคลื่อนมีไม่มาก มี correlation กันอย่างดี (ค่า R2 ใกล้ 1 เลย) กับเครื่องราคาแพง และน่าจะสะท้อนความจริงกว่าเครื่องราคา 8 ล้าน ที่มีการพ่นไอน้ำอยู่หน้าเครื่อง (อันนี้ขอแซว)

นอกจากนี้ สถานีวัดของ กรม คพ. ยังมีจำนวนมากที่วัด PM2.5 ไม่ได้ วัดได้แต่เพียง PM10 ซึ่งไม่สะท้อนผลทางสุขภาพได้ดีเท่า PM2.5

  1. เหตุที่ ทางทีมเราจำเป็นต้องทำมาตราฐานเอง หรือยึดทาง US AQI มากกว่าของ กรม คพ. เพราะค่ามาตรฐานขั้นต่ำของ PM2.5 ของ กรม คพ. สูงกว่าของ องค์การอนามัยโลก 2 เท่า ( WHO กำหนดค่ามาตรฐานตามหลักฐานทางระบาดวิทยา)

ทำให้การคำนวนค่า AQI ดูมีปัญหาน้อยกว่า ข้ออ้างว่าเราเป็นประเทศกำลังพัฒนา จึงใช้ค่ามาตราฐานสูงกว่า ทางกลุ่มแพทย์ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะไม่หลักฐานใดบอกว่าปอด เส้นเลือดหัวใจคนไทยเราทนมลพิษได้ดีกว่าต่างชาติ

  1. โซนเตือนภัยของ Air4Thai มีสูงสุดเพียงสีแดง (มีผลต่อสุขภาพ) ในขณะที่ในบางวันระดับมลพิษของเราทะลุสเกลที่ผู้ออกแบบ application เตรียมไว้

ผมเข้าใจว่า กรม คพ. หลีกเลี่ยงการเตือนภัยในระดับรุนแรง หรือรุนแรงมาก เพราะเกรงการตื่นตระหนก แต่นั่นทำให้ไม่เกิดความตระหนักในวงกว้าง ประชาชนไม่สามารถป้องกันตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ท้ายนี้ แม้นผมรู้ว่า กรมควบคุมมลพิษคงไม่ชอบขี้หน้าผม ในที่ประชุมหน่วยราชการที่ผ่านมา ก็เอ่ยชื่อผมว่าเป็นผู้ทำให้เกิดความตื่นตระหนกโดยไม่จำเป็น

แต่อยากเรียนท่านว่า ปัญหาหมอกควันที่รุนแรงนี้ ไม่ใช่ความล้มเหลวของการทำงานของท่านโดยตรง

ที่ท่านจะต้องออกมาปกป้องหรือแก้ตัวใดๆ เลยครับ เป้าหมายสำคัญของกรม คพ. คือการปกป้องสุขภาพประชาชนจากมลพิษ ให้ข้อมูลมลพิษที่ตอบโจทย์ในการดูแลสุขภาพของประชาชนครับ

อยากให้ท่าน เปิดใจ รับฟังเสียงประชาคมทางการแพทย์ด้วยครับ ปัญหาทุกอย่างจะแก้ไขได้ ต้องเริ่มจากการรับรู้ปัญหาตามที่เป็นจริง โดยปราศจากอคติ และวาระซ้อนเร้น

วันนี้ อย่ากังวลว่า ประชาชนจะตระหนกเลยครับ วันนี้ประชาชนจำนวนมาก (รวมถึง ผู้มีอำนาจ) ยังไม่ตระหนักมากพอที่จะผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใดๆ เสียด้วยซ้ำ

ประชาคมการแพทย์ไม่มีเจตนาซ้อนเร้นอื่นใดเลย นอกจากความเป็นห่วงสุขภาพของประชาชนอย่างที่สุด

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย