นักวิทยาศาสตร์ฟันธงว่า ความปั่นป่วนของสภาพอากาศเลวร้ายบนท้องฟ้าที่ทำให้สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ “ตกหลุมอากาศ” อย่างรุนแรง และต้องลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิ ไม่ได้มาจากสภาพอากาศแปรปรวนธรรมดา แต่เป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change เนื่องจากผลการศึกษาพบว่า ที่ผ่านมาท้องฟ้ามีความสั่นสะเทือนมากขึ้นถึง 55% เมื่อเทียบกับ 4 ทศวรรษก่อน เนื่องจากภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น
เที่ยวบิน SQ321 สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์มุ่งหน้าจากท่าอากาศยานฮีทโธรว์ในอังกฤษปลายทางสู่ท่าอากาศยานชางงีของสิงคโปร์ ต้องเผชิญหน้ากับพายุลูกใหญ่บนท้องฟ้า โดยเจ้าหน้าที่สายการบินรายหนึ่ง กล่าวว่า หลังจากบินไปได้ประมาณ 10 ชั่วโมง เครื่องบินลำนี้ก็เผชิญกับ “ความปั่นป่วนรุนแรงฉับพลัน” เหนือแอ่งอิรวดีของประเทศเมียนมา ที่ระดับความสูง 37,000 ฟุต
ข้อมูลของเว็บไซต์ FlightRadar24 ระบุว่า ความปั่นป่วนบนเที่ยวบิน SQ321 ของสิงคโปร์แอร์ไลน์ เกิดขึ้นเหนือเมียนมา เมื่อเวลา 07.49 น.จากนั้นเครื่องก็ดิ่งลงในจากความสูง 37,000 ฟุต ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร ในเวลา 3 นาที โดยที่ทุกคนบนเครื่องต้องเผชิญกับคลื่นกระแทกขึ้นลงอย่างรุนแรง จนทำให้เครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER พร้อมผู้โดยสาร 211 คน และลูกเรือ 18 คน ได้รับบาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย
จากการวิจัยพบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อนจะทำให้เกิดความปั่นป่วนของสายการบินรุนแรงมากขึ้นในอนาคต และ “การตกหลุมอากาศ” อาจจะกลายเป็นเรื่องปกติ ซึ่งก็จะกลายเป็น “ความน่ากลัว” และไม่ปลอดภัยสำหรับการเดินทางด้วยสายสายการบินอีกต่อไปหรือไม่?
ตามข้อมูลของ Federal Aviation Administration ระบุว่า ความปั่นป่วนของอากาศเป็นสาเหตุหลักของการบาดเจ็บต่อพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินและผู้โดยสาร และเป็นหนึ่งในประเภทอุบัติเหตุสายการบินที่พบบ่อยที่สุดในปัจจุบัน โดยศูนย์วิจัยบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า ในแต่ละปีสายการบินสหรัฐฯ มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากการบาดเจ็บ ความล่าช้า และความเสียหาย
.
ระดับของความปั่นปวนทางอากาศมี 3 ระดับ
- ความปั่นป่วนเล็กน้อย ซึ่งมักจะพบทุกครั้งเมื่อใช้บริการสายการบินในการเดินทาง โดยกัปตันจะแนะนำให้ผู้โดยสารนั่งรัดเข็มขัดอยู่กับที่ขณะมีอากาศแปปรวน
- ความปั่นป่วนปานกลาง พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมักจะได้รับคำสั่งให้นั่งประจำที่
- ความปั่นปวนที่เลวร้ายที่สุด ถ้าไม่คาดเข็มขัดนิรภัยทุกคนจะถูกเหวี่ยงไปมาในห้องโดยสารและข้าวของกระจัดกระจาย จนทำให้เกิดการบาดเจ็บตามมาอย่างที่สายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ประสบ
ดร.พอล วิลเลียมส์ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศแห่งมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง สหราชอาณาจักร ระบุว่า ความปั่นป่วนของอากาศที่เกิดขึ้นระหว่างเที่ยวบินอาจเกิดจากพายุ ภูเขา และกระแสลมแรง ซึ่งในกรณีสุดท้ายนี้เรียกว่า ความปั่นป่วนในอากาศเเจ่มใส (Clear Air Turbulence) หรือ CAT โดยปรากฎการณ์อาจไม่ปรากฏบนเรดาร์ ทำให้นักบินมองไม่เห็น และไม่สามารถตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางได้ทันท่วงที ซึ่งต่างจากพายุหรือเมฆหรือสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้
อากาศที่อุ่นขึ้นจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระแสลมเจ็ตสตรีม หรือกระเเสลมกรด ทำให้ปรากฏการณ์ความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส หรือ CAT รุนแรงขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือและทั่วโลก
เหนือมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ เป็นหนึ่งในเส้นทางบินที่คึกคักพลุกพล่านที่สุดในโลก ระยะเวลารวมของความสั่นสะเทือนรุนแรงต่อปีเพิ่มขึ้น 55 % ระหว่างปี 1979-2020 ตามที่นักวิทยาศาสตร์พบ นอกจากนี้ยังพบว่า ความสั่นสะเทือนในอากาศแจ่มใสรุนแรงเพิ่มขึ้นจาก 17.7 ชั่วโมง ในปี 1979 เป็น 27.4 ชั่วโมงในปี 2020 (รวมจำนวนระยะเวลาที่เกิดสภาพอากาศปั่นป่วน) ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยเหนือมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ
.
“ความปั่นป่วนของสภาพอากาศได้เพิ่มความรุนแรง ความถี่ และระยะเวลาในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น
ขณะนี้เรามีหลักฐานที่แน่ชัดว่าความปั่นป่วนกำลังเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อเร็วๆ นี้เราได้ค้นพบว่าความปั่นป่วนในอากาศบริสุทธิ์ที่รุนแรงในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือได้เพิ่มขึ้น 55% ตั้งแต่ปี 1979
“การคาดการณ์ในอนาคตล่าสุดของเราบ่งชี้ว่า กระแสน้ำเชี่ยวจะมีความปั่นป่วนรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าหรือ 3 เท่าในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า หากสภาพอากาศยังคงร้อนขึ้น” ดร.พอล วิลเลียมส์ ผู้เขียนรายงานกล่าวระบุ และว่า แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการบินจะปลอดภัยน้อยลง “เครื่องบินจะไม่เริ่มตกลงมาจากท้องฟ้า เพราะว่าเครื่องบินถูกสร้างขึ้นให้มีข้อกำหนดที่สูงมาก และพวกมันสามารถทนต่อความปั่นป่วนที่เลวร้ายที่สุดที่จะเผชิญได้ แม้กระทั่งในอนาคต” วิลเลียมส์กล่าว
.
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของคณะกรรมการความปลอดภัยการขนส่งแห่งชาติ NTSB พบว่า ระหว่างปี 2009-2018 ลูกเรือไม่ได้รับการเตือนใดๆ เกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศแปรปรวน ประมาณ 28% การวิเคราะห์พบว่า ความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใสจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั่วโลกภายในช่วงปี 2050-2080 โดยเฉพาะตามเส้นทางบินที่พลุกพล่านที่สุด และความปั่นป่วนประเภทที่รุนแรงที่สุดจะเพิ่มขึ้นมากที่สุด
ระยะเวลาเฉลี่ยของความปั่นป่วนจะเพิ่มขึ้นโดยปกติแล้วบนเที่ยวบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกในไม่กี่ทศวรรษอาจเพิ่มเป็น 20 นาทีหรือครึ่งชั่วโมง ซึ่งคณะกรรมการความปลอดภัยการขนส่งแห่งชาติ NTSB ที่จัดประชุมในปี 2021 ได้เสนอข้อเสนอแนะให้มีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับการรัดเข็มขัดนิรภัยสำหรับทั้งผู้โดยสารและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน โดยเฉพาะเมื่อการบินในบริเวณใกล้กับพายุฝนฟ้าคะนองและอยู่ต่ำกว่า 20,000 ฟุต
ทั้งนี้ เกิดเหตุการณ์อากาศปั่นป่วนทำนองเดียวกันนี้มาก่อน โดยในเดือน ก.ค. 2023 มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 7 ราย บนเที่ยวบินของสายการบินฮาวายเอี้ยนแอร์ไลน์ที่บินไปยังซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยเครื่องบินกระแทกหลุ่มอากาศอย่างรุนแรงทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 36 ราย ก่อนหน้านั้นบนเที่ยวบินของสายการบินฮาวายเอี้ยนแอร์ไลน์ที่บินจากแอริโซนาไปยังโฮโนลูลูในเดือน ธ.ค. 2022 ก็ทำให้มีผู้โดยสาร 20 คน ต้องเข้ารักษาตัวห้องฉุกเฉิน
.
ผลการศึกษาในเดือน ก.ย. พ.ศ. 2023 คาดการณ์ว่าความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส หรือ CAT จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2050 โดยเฉพาะตามเส้นทางบินที่พลุกพล่านที่สุดมีโอกาสเกิดความปั่นป่วนประเภทรุนแรงที่สุดเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยที่ผ่านมาเครื่องบินประมาณ 65,000 ลำ ประสบกับสภาพอากาศแปรปรวนปานกลางทุกปีในอเมริกา และประมาณ 5,500 ลำ ต้องเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง
อ้างอิง:
https://www.euronews.com/travel/2024/05/21/one-dead-and-others-injured-after-severe-turbulence-hits-london-singapore-flight
https://edition.cnn.com/2024/05/21/world/singapore-airlines-turbulence-bangkok/index.html
https://edition.cnn.com/travel/air-turbulence-climate-getting-worse/index.html?iid=cnn_buildContentRecirc_end_recirc