เปลี่ยนวิธีจัดการ ‘ตอซังข้าว’ ลด PM2.5 ด้วย ‘จุลินทรีย์ย่อยสลาย’

Field stubble fire in Selangor, Malaysia.

เปลี่ยนวิธีจัดการ “ตอซังข้าว” จากการเผา ด้วย “จุลินทรีย์ย่อยสลาย” ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตัวกำเนิดฝุ่นพิษ PM2.5 ความสำเร็จของ นักวิจัยไทย

การเผา “ตอซังข้าว” เป็นหนึ่งในวิธีการ ที่เกษตรกรชาวนาใช้ เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกข้าว ในรอบถัดไป หรือเพื่อต้องการกำจัดวัชพืช และแมลงศัตรูพืช เพราะเป็นวิธีจัดการที่สะดวกและง่าย ค่าใช้จ่ายน้อย แต่วิธีนี้ นำมาซึ่งมลพิษทางอากาศ และก่อให้เกิดฝุ่นพิษ PM2.5 โดยพบว่า พื้นที่นาข้าว 1 ไร่ จะมีปริมาณตอซัง และฟางข้าว โดยเฉลี่ยปีละ 650 กิโลกรัม นั่นหมายความว่า เมื่อมีการเผาตอซังข้าวเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อมลพิษทางอากาศ และสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญ

จากข้อมูลระบุว่า การเผาตอซังข้าว ปล่อยก๊าซพิษและฝุ่นละอองจำนวนมากสู่บรรยากาศ รวมถึง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งการเผาตอซังทั่วประเทศ สามารถปล่อยก๊าซ CO2 ได้ถึง 27 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนต่อปี โดยเฉพาะเจ้าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เมื่อเกิดการเผา จะทำให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5 ที่มีความเข้มข้นสูง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และการเผา ยังปล่อยก๊าซไนโตรเจน (NOx) และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ และสุขภาพ

ผลกระทบจากการเผาตอซังข้าวมีอะไรบ้าง

นอกจากการเผาตอซังข้าว จะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เพราะได้มีการปล่อยทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ฝุ่น PM2.5 และก๊าซไนโตรเจน และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หากสัมผัสกับเขม่าควันและฝุ่นละออง จากการเผาตอซังข้าว สามารถทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง

ผลกระทบต่อสุขภาพ

  • ระบบทางเดินหายใจ : ผู้ที่มีโรคภูมิแพ้หรือปัญหาทางเดินหายใจจะมีอาการแสบตา ไอ จาม และหายใจลำบาก
  • ผลกระทบทางร่างกาย : อาจทำให้เกิดอาการปวดหัว แน่นหน้าอก หรือคลื่นไส้ได้

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

  • ทำให้โครงสร้างของดินเปลี่ยนแปลงไป อนุภาคของดินจับตัวกันแน่นและแข็ง ทำให้รากพืชแคระแกร็น ไม่สมบูรณ์และอ่อนแอ การหาอาหารลดลง รวมทั้งเชื้อโรคพืชสามารถเข้าทำลายได้ง่าย
  • สูญเสียอินทรียวัตถุและธาตุอาหารในดิน คาร์บอนและอินทรียวัตถุในดิน เมื่อถูกเผาจะกลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูญเสียไปในบรรยากาศ ส่วนธาตุอาหารจะแปรสภาพให้อยู่ในรูปที่สามารถสูญเสียไปจากดินได้ง่าย
  • ทำลายจุลินทรีย์และแมลงที่เป็นประโยชน์ในดิน ทำให้ปริมาณและกิจกรรมของจุลินทรีย์ดินลดลง เช่น กิจกรรมการเปลี่ยนก๊าซไนโตรเจนจากบรรยากาศ ให้อยู่ในรูปของสารประกอบไนโตรเจนที่พืชใช้ประโยชน์ได้ การแปรสภาพอนินทรีย์ฟอสฟอรัสให้อยู่ในรูปของฟอสเฟตที่ละลายน้ำได้ และการย่อยสลายอินทรียสารเป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน นอกจากนั้น ตัวอ่อนของแมลงศัตรูพืช เช่น ตัวห้ำ ตัวเบียน ที่อาศัยอยู่ในดิน หรือตอซังพืช รวมทั้งจุลินทรีย์ที่สามารถควบคุมโรคพืชถูกเผาทำลายไป ซึ่งหากระบบนิเวศของดินไม่สมดุล จะทำให้การแพร่ระบาดของโรคเกิดได้ง่ายขึ้น
  • สูญเสียน้ำในดิน การเผาตอซังข้าว ทำให้ผิวดินมีอุณหภูมิสูงถึง 90 องศาเซลเซียส น้ำในดินจะระเหยสู่บรรยากาศอย่างรวดเร็ว ให้ความชื้นของดินลดลง

การแก้ปัญหาการเผาตอซังข้าว

มีหลายทางเลือกในการจัดการ “ตอซังข้าว” ที่ไม่ใช้การเผา ซึ่งมีประโยชน์ทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเกษตรกร

  • ไถกลบ : การไถกลบตอซังและฟางข้าว ช่วยให้วัสดุเหล่านี้ย่อยสลายเป็นปุ๋ยในดิน ซึ่งช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและลดการใช้ปุ๋ยเคมี
  • ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ : สามารถนำเศษวัสดุการเกษตรมาผลิตเป็นปุ๋ยหมัก เพื่อใช้ในการปรับปรุงดิน โดยลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยเคมี
  • ใช้เป็นอาหารสัตว์ : ฟางข้าวและตอซัง สามารถนำมาใช้เป็นอาหารสำหรับสัตว์ เช่น โค กระบือ โดยการอัดฟางเป็นก้อน หรือหมักเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ
  • ผลิตพลังงานทดแทน : วัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น ฟางข้าว สามารถนำมาใช้เป็นชีวมวลเพื่อผลิตพลังงานทดแทน เช่น การอัดแท่งฟางเพื่อใช้ในครัวเรือน
  • สร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์แปรรูป : ตอซังและฟางข้าว สามารถนำไปใช้ในการผลิตสินค้าต่างๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์จากฟาง หรือของที่ระลึก ทำให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติม
  • คลุมดิน : การใช้ฟางข้าวคลุมดินช่วยรักษาความชื้นในดินและป้องกันวัชพืช ซึ่งส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืช
  • เพาะเห็ด : ฟางข้าวสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุเพาะเห็ด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร

นักวิจัยไทย พัฒนาจุลินทรีย์ย่อยสลาย “ตอซังข้าว” โดยไม่ต้องเผา ลดฝุ่น PM2.5

และอีกหนึ่งวิธีการ ที่เรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จของนักวิจัยไทย คือการใช้จุลินทรีย์ในการย่อยสลาย โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ที่ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี เพื่อทำการศึกษา และพัฒนากลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซังข้าว เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการลดกิจกรรมการเผาตอซังข้าวของเกษตรกร

โดย ห้องปฏิบัติการทดสอบการการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ (BioD) ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ ได้ศึกษาและพัฒนากลุ่มจุลินทรีย์ “BioD I วว.” ที่มีประสิทธิภาพย่อยสลายตอซังข้าว รวมถึงการออกแบบชุดบ่มเลี้ยงฯ ที่มีระบบให้อากาศ และระบบควบคุมการทำงานแบบอัตโนมัติ สามารถผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ฯ “BioD I วว.” ได้อย่างต่อเนื่อง

โดยกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซังข้าว “BioD I วว.” จะใช้ระยะเวลาประมาณ 5-10 วัน ทำให้ตอซังข้าวนิ่ม ไถกลบได้ง่าย และไม่ส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของข้าวและเป็นมิตรต่อระบบนิเวศ ในเบื้องต้นมีการนำไปใช้จริงแล้วมากกว่า 10 พื้นที่ใน จ.ปทุมธานี (ช่วงพฤษภาคมถึงกันยายน 2567)

ทั้งนี้ จุลินทรีย์ย่อยสลาย สามารถนำไปใช้ได้ทุกพื้นที่ ตามความสะดวกและทรัพยากรที่มีอยู่ในมือของเกษตรกร เช่น ใช้โดรนในการฉีดพ่น ใช้ถังฉีดพ่น หรือละลายน้ำและขังน้ำไว้เพียง 7 วัน สามารถทำให้ตอซังและฟางข้าวนุ่ม เปื่อยยุ่ย ไม่ติดล้อรถที่มาตีนาในขั้นตอนเตรียมดิน โดยลักษณะของน้ำในแปลงนาที่หมักด้วยจุลินทรีย์ชนิดนี้ จะมีสีฟางข้าว ไม่มีกลิ่นเหม็น โดยรวมจะใช้เวลาน้อยกว่าการขังน้ำโดยไม่มีการเติมจุลินทรีย์ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถเริ่มการทำนาได้เร็วขึ้นจากเดิม

อย่างไรก็ตาม วว. ได้ยื่นจดอนุสิทธิบัตรชุดบ่มเลี้ยงหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพย่อยสลายตอซังข้าวเรียบร้อยแล้ว และพร้อมให้คำแนะนำปรึกษาแก่วิสาหกิจชุมชน เกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย  เพื่อการสนับสนุนให้ภาคการเกษตรลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้อย่างเป็นรูปธรรม

อ้างอิง :

Related posts

14 มกราคม ‘วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้แห่งชาติ’ ร่วมปกป้องผืนป่าไทย

ผลวิจัย จับคนมาวิ่งใน ‘ฝุ่น PM2.5’ พุ่งสูง พังทั้งเลือด-ปอด

เปิดอาชีพ ‘ทักษะสีเขียว’ ที่โลกกำลังต้องการ ปี 2025