มลพิษอากาศ ปัจจัยเร่งกระดูกพรุนในหญิงวัยทอง

ระดับมลพิษอากาศที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับการสูญเสียความหนาแน่นขอมวลกระดูก โดยเฉพาะที่กระดูกสันหลังส่วนเอวในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

นักวิจัยสหรัฐอเมริกาได้คัดกลุ่มศึกษาซึ่งเป็นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนอายุ 50-79 ปี จากหลากหลายพื้นที่ในสหรัฐ เพื่อทำการเก็บข้อมูลมวลกระดูกเทียบกับมลพิษอากาศในพื้นที่ที่อาศัยตลอดช่วง 6 ปี

จากการวิจัยพบว่าความเข้มข้นมลพิษอากาศที่สูง ส่งผลให้สูญเสียมวลกระดูกมากกว่าถึง 2 เท่า โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอว

การค้นพบนี้เน้นย้ำถึงผลกระทบจากการสัมผัสก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ตัวการสำคัญทำลายมวลกระดูก ซึ่งขยายผลการวิจัยก่อนหน้าของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่พบว่าก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ไม่ได้อันตรายต่อระบบทางเดินหายใจเท่านั้นแต่มีส่วนทำให้มวลกระดูกสูญเสียด้วย

การวิจัยก่อนหน้านี้ได้ศึกษากลุ่มคนไข้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน โดยพบว่าคนไข้โรคกระดูกพรุนที่อาศัยในพื้นที่ที่ความเข้มขนมลพิษสูงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลด้วยอาการกระดูกหักเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับคนไข้โรคกระดูกพรุนที่อาศัยในพื้นที่ที่มลพิษอากาศน้อยกว่า

ดร. Diddier Prada จากทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่าการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงวัยทอง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ความหนาแน่นกระดูกจะลดลงและแตกหักง่าย แต่ยังเพิ่มปัจจัยเสี่ยงจากการสัมผัสมลพิษอากาศด้วย

“นี่จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อลดมลพิษอากาศจากรถยนต์ดีเซลและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในวงกว้างเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน ไม่เพียงแต่ลดจำนวนการเสียชีวิตลง แต่ยังลดการรับรับรักษาในโรงพยาบาล และค่าใช้จ่ายลดได้อีกด้วย”

ในสหราชอาณาจักรก็ได้ทำการศึกษาพบความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศ ความหนาแน่นของกระดูกที่ลดลง และภาวะกระดูกหักที่เพิ่มขึ้น

ดร. Richard Abel จากคณะแพทยศาสตร์แห่ง Imperial College London ให้ความเห็นเกี่ยวกับงานศึกษาของสหรัฐฯ ว่า “การอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษอากาศสูงเพียง 5 ปี อาจนานพอที่จะลดความหนาแน่นของแร่ธาตุกระดูกที่สะโพก นี่เป็นข้อค้นพบที่น่ากังวลเนื่องจากมวลของกระดูกที่ต่ำคือปัจจัยเสี่ยงใหญ่ที่สุดที่จะทำให้กระดูกสะโพกหัก โดย 1 ใน 3 สามารถทำให้พิการได้”

ขั้นตอนการวิจัยถัดไปที่สำคัญคือการศึกษากลไกทางสรีรวิทยาเพื่อยืนยันว่าการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศทำลายสุขภาพกระดูกจริงหรือไม่

ไนโตรเจนออกไซด์เป็นก๊าซพิษที่ออกมาระหว่างการเผาไหม้เชื้อเพลิงทั้งในโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม หรือไอเสียจากรถยนต์ดีเซล

ที่มา

  • March 10, 2023. Air pollution ‘speeds up osteoporosis’ in postmenopausal women. The Guardian
  • Article Volume 57, 101864, March 2023. Air pollution and decreased bone mineral density among Women’s Health Initiative participants. The Lancet
  • November 9, 2017. Bad Break: Osteoporosis-Related Bone Fractures Linked to Air Pollution. publichealth.columbia

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย