ผลการวิจัยฝุ่นตอกย้ำ PM2.5 เสี่ยงโรคพุ่มพวง-รูมาตอยด์ ไทยติดกลุ่มตายก่อนวัยอันควร

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวโรนา ประเทศอิตาลีทำการศึกษาวิเคราะห์การได้รับฝุ่นละอองขนาดเล็ก คือฝุ่น PM10 และ PM2.5  ซึ่งผลิตโดยแหล่งต่าง ๆ เช่น รถยนต์และโรงไฟฟ้าโดยเฉลี่ยในระยะยาวระดับความเข้มข้นของฝุ่น PM10 ถ้าสูงถึง 30 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และ PM2.5 สูงถึง 20 มคก./ลบ.ม. โดยทั่วไปถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์

ผลการศึกษาสรุปว่า การได้รับอนุภาคฝุ่น PM10 และ PM2.5 ที่สูงกว่าระดับสูงในระยะยาวโดยรวมมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิต้านตนเอง หรือโรค Autoimmune Diseases (หรือ​โรค​พุ่มพวง​ เป็นภาวะที่เกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติไปเกิดขึ้นกับส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย) สูงขึ้น 12% และ 13% ตามลำดับ

พวกเขาพบกว่า การสัมผัสกับมลพิษอากาศสูงกว่าค่าเฉลี่ยในภาคเหนือของอิตาลี คือหุบเขาโป (ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมหลักและมีการจราจรหนาแน่น) และพื้นที่ใกล้เมืองอื่น ๆ พบความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัส PM10 กับความเสี่ยงในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคภูมิต้านตนเอง

แต่พวกเขาบอกว่า ที่น่าสังเกตคือ โมเลกุล PM2.5 ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็ก จะได้รับผลกระทบจากฝนและสภาพอากาศน้อยกว่าเมื่อเทียบกับ PM ที่มีขนาดใหญ่กว่า แท้จริงแล้วความเข้มข้นของ PM2.5 มักจะไม่ผันผวนเมื่อถูกฝน และให้ผลแม่นยำมากกว่า PM10 หากจะใช้เป็นปัจจัยสำรวจผลกระทบต่อมนุษย์จากมลพิษอากาศเรื้อรัง

พวกเขายังพบว่า การได้รับมลพิษอากาศ (ฝุ่น PM ต่าง ๆ) ในระดับสูงเป็นเวลานานมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เพิ่มขึ้นประมาณ 40% ความเสี่ยงต่อโรคลำไส้อักเสบเช่น โรคโครห์น รวมทั้งอาการลำไส้ใหญ่บวมเป็นแผลเพิ่มขึ้น 20% และความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 15% ต่อโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น ลูปัส

รายงานระบุว่า ส่วนประกอบหลักของมลพิษอากาศคือฝุ่นละออง ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ซับซ้อนขององค์ประกอบทางเคมี เช่น โลหะหนัก วัสดุคาร์บอน สารมลพิษอินทรีย์ที่คงอยู่ สารประกอบระเหย และโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน และก๊าซอื่น ๆ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ โอโซน และซัลเฟอร์ไดออกไซด์

หลักฐานแสดงให้เห็นว่า สารเหล่านี้สามารถทำให้เกิดการอักเสบได้หลายอย่าง บางอย่างมีอาการรุนแรง เช่น ในปอด การได้รับ PM2.5 ยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยการเกิดเนื้อร้ายของเนื้องอก การได้รับฝุ่นอาจส่งผลเสียต่ออวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ รวมทั้งระบบปอด หัวใจและหลอดเลือด และระบบประสาทส่วนกลาง 

เฟลิซิตี้ กาวินส์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการอักเสบและเวชศาสตร์ปริวรรตที่มหาวิทยาลัยบรูเนล ลอนดอน กล่าวกับ Guardianว่า “การศึกษานี้สนับสนุนหลักฐานเพิ่มเติมที่ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการสัมผัสกับมลพิษอากาศและโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกัน”

เมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า มลพิษอากาศเป็นหนึ่งในความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อสุขภาพ ถ้ามีการลดระดับมลพิษอากาศ ประเทศต่าง ๆ ก็จะสามารถลดภาระโรคจากโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ มะเร็งปอด และโรคทางเดินหายใจทั้งเรื้อรังและเฉียบพลัน รวมทั้งโรคหอบหืดได้

แต่มันไม่ง่าย เพราะในปี 2019 พบว่า 99% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในสถานที่ที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์คุณภาพอากาศของ WHO และมลพิษอากาศภายนอกอาคาร ในทั้งเมืองและพื้นที่ชนบทคาดว่าจะทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร 4.2 ล้านคนในปี 2016

นอกจากมลพิษอากาศภายนอกอาคารแล้ว ควันในร่มยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงต่อผู้คนราว 2,600 ล้านคนที่ทำอาหารและทำให้บ้านร้อนด้วยชีวมวล เชื้อเพลิงน้ำมันก๊าด และถ่านหิน ส่วนใหญ่กลุ่มนี้อยู่ใประเทศรายได้น้อย

ประมาณ 91% ของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง และมีจำนวนมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก นั่นหมายความว่าประเทศไทยรวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย และอย่างที่เห็นเราเจอปัญหาฝุ่น PM ถี่ขึ้นและยาวนานขึ้นเรื่อย ๆ 

ข้อมูลจาก

  • Adami G, Pontalti M, Cattani G, et alAssociation between long-term exposure to air pollution and immune-mediated diseases: a population-based cohort studyRMD Open 2022;8:e002055. doi: 10.1136/rmdopen-2021-002055
  • Anna Bawden. (15 Mar 2022). “Air pollution linked to higher risk of autoimmune diseases”. Guardian.
  • “Ambient (outdoor) air pollution”. (22 September 2021). WHO

ภาพ – Muntaka Chasant / wikipedia

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

‘สารเคมีตลอดกาล’ ภัยร้ายคุกคาม ทุกอณูบนโลก อยู่ในทุกผลิตภัณฑ์ที่ใช้