มลพิษอากาศเสี่ยง ‘หัวใจเต้นผิดจังหวะ’ เฉียบพลัน

การศึกษาใหม่เผยมลพิษอากาศไม่เพียงส่งผลต่อปอดแต่ยังรบกวนจังหวะการเต้นของหัวใจ

หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Heart Arrhythmias) คือภาวะที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ อาจเต้นเร็วเกินไป ช้าเกินไป หรือไม่สม่ำเสมอ ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่โรคหัวใจที่ร้ายแรงกว่าได้ ปัจจุบันโรคนี้ส่งผลกระทบต่อประชากรประมาณ 59.7 ล้านคนทั่วโลก

เพื่อตรวจสอบว่ามลพิษอากาศมีความเชื่อมโยงกับปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ นักวิจัยจีนได้ประเมินการสัมผัสมลพิษทางอากาศรายชั่วโมงและข้อมูลอาการของหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลทั้งหมด 2,025 แห่งใน 322 เมืองของจีน

ผลจากการศึกษาภายใน 2-3 ชั่วโมงแรกของการสัมผัสมลพิษอากาศ 6 ชนิด มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยความเสี่ยงจะยังคงอยู่เป็นเวลา 24 ชั่วโมง

การศึกษานี้พบผู้ป่วย 190,115 รายที่เริ่มมีอาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบเฉียบพลัน โดยมีอาการอ่อนเพลีย อ่อนแรง หน้ามืด เป็นลม หายใจถี่ และเจ็บหน้าอก

มลพิษอากาศที่มีความเชื่อมโยงกับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้แก่ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ โอโซน ฝุ่นละออง PM10 เช่น ละอองเกสร สปอร์ และชิ้นส่วนของพืชและแมลง และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5

ในบรรดามลพิษทั้ง 6 ชนิด ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) มีความสัมพันธ์กับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมาก ยิ่งเปิดรับการสัมผัสมากอาการยิ่งชัดเจนและรุนแรง

ดร.เหรินเจี๋ย เฉิน หนึ่งในผู้ศึกษากล่าวว่า “แม้ว่าจะยังไม่เข้าใจกลไกที่แน่ชัด แต่ความสัมพันธ์ระหว่างมลพิษทางอากาศกับการโจมตีของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบเฉียบพลันที่เราสังเกตเห็นนั้นมีความเป็นไปได้ทางชีวภาพ”

ถึงการศึกษานี้จะดำเนินการในจีนประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องมลพิษทางอากาศระดับสูง แต่นักวิจัยเชื่อว่าหลักฐานเชื่อมโยงผลกระทบมลพิษอากาศต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดที่ได้รับการตีพิมพ์จะช่วยเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญในการจัดการปัฐหามลพิษอากาศและปกป้องประชากรที่เปราะบางอย่างเร่งด่วน

ที่มา

  • May 1, 2023. Air pollution associated with increased risk of irregular heartbeat. Scimex
  • May 1, 2023. Hourly air pollution exposure and the onset of symptomatic arrhythmia: an individual-level case–crossover study in 322 Chinese cities. CMAJ

Related posts

มหาอำนาจโลกในมือ ‘ทรัมป์’ จุดจบการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ?

ค่าฝุ่นปากีสถานทะลุ 1,900 รั้งอันดับโลก อ้างพัดข้ามพรมแดนจากอินเดีย

โลกจมกองพลาสติก ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต ลดการบริโภค กำจัดอย่างยั่งยืน