ปิดฉาก ‘ฟาร์มแรดขาว’ 2 พันตัว เตรียมปล่อยป่าอนุรักษ์เพื่อฟื้นฟู

องค์กรไม่แสวงผลกำไรชนะประมูลฟาร์มปศุสัตว์ในแอฟริกาใต้ได้แรดขาวไป 2,000 ตัว 

African Parks องค์กรพัฒนาเอกชนด้านการอนุรักษ์ ผู้บริหารจัดการพื้นที่คุ้มครอง 22 แห่ง ใน 12 ประเทศของแอฟริกา ออกแถลงการณ์ประกาศว่า ได้ซื้อกิจการเพาะพันธุ์แรดของ จอห์น ฮูม มหาเศรษฐีนักอนุรักษ์ชาวแอฟริกาใต้ เป็นที่เรียบร้อย ด้วยความตั้งใจที่จะฟื้นฟูและปรับปรุงสายพันธุ์แรด

ย้อนไปเมื่อเดือนเมษายน จอห์น ฮูม เจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ Platinum Rhino ในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นฟาร์มแรดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ประกาศเปิดประมูลฟาร์มปศุสัตว์ซึ่งมีแรดขาวสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ประมาณ 2,000 ตัว เนื่องจากประสบปัญหาการเงินไม่สามารถบริหารฟาร์มต่อไปได้ โดยเสนอราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 356 ล้านบาท โดยราคาดังกล่าว ไม่รวมที่ดิน อุปกรณ์ และสัตว์อื่นๆ ในฟาร์ม 

จอห์น ฮูม เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ก่อนจะประกาศประมูลว่า เขาตกหลุมรักสัตว์เหล่านี้โดยบังเอิญ และซื้อแรดตัวแรกมาเลี้ยงหลังเกษียณด้วยความฝันที่จะทำฟาร์ม ซึ่งหลังจากนั้น 30 ปี เขาก็มีแรดขาวตอนใต้ 2,000 ตัวในฟาร์ม

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาเขาใช้ทรัพย์สมบัติและเงินเก็บจากการทำธุรกิจรีสอร์ท่องเที่ยวไปกับภารกิจช่วยแรดที่กำลังสูญพันธุ์ จนกระทั่งวันนี้อายุ 81 ปี เขาไม่มีอะไรเหลือเลยนอกจากแรด 2000 ตัว ที่ดิน 50,000 ไร่

“ฉันใช้เงินออมตลอดชีวิตกับประชากรแรดนั้นมา 30 ปีแล้ว และในที่สุดฉันก็หมดเงิน” เขากล่าว

ฟาร์มแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองเคลิกส์ดอร์ป ห่างจากโจฮันเนสเบิร์กประมาณ170 กม. มีระบบการป้องกันเข้มงวด ตามเอกสารการประมูลระบุว่าในแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายในการป้องกันอยู่ที่ 15 ล้านบาท

เพื่อป้องกันการล่าแรด จอห์นได้ตัดนอแรดออก ซึ่งการตัดนอแรดเป็นวิธีที่รัฐบาลและกลุ่มอนุรักษ์สัตว์ในแอฟริกานิยมทำ  ซึ่งการตัดนอแรดหากทำถูกวิธีมันจะงอกใหม่ได้เองตามธรรมชาติ และการตัดนอจะช่วยลดความเครียดของแรดจากภาวะเสี่ยงของการถูกไล่ล่าได้

African Parks ระบุในแถลงการณ์ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะย้ายแรดไปยังพื้นที่คุ้มครองทั่วทวีป เพื่อช่วยรักษาอนาคตของสายพันธุ์นี้ต่อไป และถึงแม้การประมูลจะสิ้นสุดลงแต่ก็ยังไม่มีการเปิดเผยราคาสุดท้ายที่ African Parks เสนอ

80% ของประชากรแรดอยู่ในทวีปแอฟริกา ทำให้ที่นี่กลายเป็นแหล่งที่มี

การลักลอบล่านอแรดมากที่สุด โดยนายทุนคือกลุ่มลูกค้าตลาดมืดในเอเชีย ซึ่งมีความเชื่อว่านอแรดสามารถใช้เป็นยาเพื่อรักษาโรคต่างๆ ตั้งแต่ ลดไข้ หยุดเลือดกำเดา โรคหลอดเลือดสมอง จนถึงบรรเทาอาการจากโรคมะเร็ง 

หลังจากถูกล่าจนใกล้สูญพันธุ์ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 แรดขาวตอนใต้ก็กลายเป็นเรื่องราวความสำเร็จในการอนุรักษ์ โดยประชากรแรดตอนใต้ขาวเพิ่มขึ้นจากน้อยกว่า 40 เป็นประมาณ 13,000 ตัวในปัจจุบัน เนื่องมาจากแผนการคุ้มครองและการผสมพันธุ์ แต่อย่างไรก็ตามจำนวนดังกล่าวได้ลดลงจาก 20,000 ตัวในปี 2555 เนื่องจากการลักลอบล่าสัตว์

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) จัดให้แรดขาวอยู่ในประเภทใกล้ถูกคุกคาม ในขณะที่แรดขาวตอนเหนือสูญพันธุ์ไปแล้ว โดยเหลือเพียงตัวเมีย 2 ตัวที่ไม่ได้ผสมพันธุ์ถูกกักขังในเคนยา

ที่มา

  • Sep 5, 2023.African Parks buys conservationist John Hume’s rhinos, plans to rewild 2 000 in 10 years. News24
  • Apr 24, 2023. Former billionaire to auction world’s biggest rhino farm after spending his fortune to save the animals. CBS News
  • Apr 24, 2023. WATCH | South African rhino lover John Hume seeks billionaire successor. News24
  • Jun 5, 2020. Dozens of rhinos dehorned to prevent coronavirus lockdown poaching surge. CBS News

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน