หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาโลกร้อนที่มีต้นทุนต่ำที่สุดและง่ายที่สุดคือการปลูกป่า และแน่นอนว่ามันเป็นวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดด้วย เพราะกลไกลธรรมชาติสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่ชาวโลกปล่อยออกมาได้ถึง 37%
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เสนอแนะว่า การเพิ่มพื้นป่าไม้และทุ่งหญ้าสะวันนาของโลก จะสามารถจัดเก็บคาร์บอนได้ประมาณหนึ่งในสี่ส่วนที่ชั้นบรรยากาศต้องการเพื่อที่จะจำกัดภาวะโลกร้อนไม่ให้มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งการทำเช่นนี้จะต้องปลูกป่าเพิ่มขึ้น 24 ล้านเฮกเตอร์ (150 ล้านไร่) ทุกปีตั้งแต่บัดนี้จนถึงปี พ.ศ. 2574 (1)
หลังจากนั้นหลายประเทศมีโครงการปลูกป่าครั้งใหญ่ นั่นคือ Bonn Challenge เมื่อปี พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นความพยายามร่วมกันของนานาประเทศที่จะฟื้นคืนผืนป่าให้ได้ 150 ล้านเฮกเตอร์ (937.5 ล้านไร่) ภายในปี พ.ศ. 2563 ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 มีผืนป่าใหม่เพิ่มขึ้น 20 ล้านล้านเฮกเตอร์ (125 ล้านล้านไร่) และในปี พ.ศ. 2558 มี 51 ประเทศประกาศเจตนารมณ์ที่จะปลูกต้นไม้บนพื้นที่ 3.5 ล้านตารางกิโลเมตร ภายในปี พ.ศ. 2574 (2)
ที่น่าสนใจคือ จากการศึกษาที่เผยแพร่เมื่อเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2562 ในวารสาร Nature Sustainability พบว่าพื้นที่สีเขียวทั่วโลกเพิ่มขึ้น 5% ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เทียบเท่ากับป่าฝนแอมะซอนทั้งหมด ในจำนวนนี้ 25% เป็นพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีน (3)
ในปี พ.ศ. 2562 เราเห็นขบวนการปลูกป่าครั้งใหญ่ในหลายประเทศ เช่น ที่เอธิโอเปียมีกิจกรรมการปลูกป่าถึง 350 ล้านต้นในวันเดียว โดยมีอาบีย์ อาเหม็ด (Abiy Ahmed) นายกรัฐมนตรีเอธิโอเปีย เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก และได้รับเสียงชื่นชมไปทั่วโลก เขายังมีเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้ให้ได้ 40,000 ล้านต้น โดยแจกพันธุ์ไม้ให้ประชาชนคนละ 40 เมล็ดพันธุ์
แต่การปลูกป่าขนานใหญ่อย่างที่เกิดขึ้นในเอธิโอเปียอาจไม่ช่วยให้โลกรอดพ้นจากภาวะโลกร้อนได้ แถมยังจะทำให้ปัญหาเลวร้ายลงด้วยซ้ำ
ภายในปี พ.ศ. 2593 โลกจะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือศูนย์ มิเช่นนั้นสภาพภูมิอากาศของโลกจะปั่นป่วนจนแก้ไขให้กลับคืนมาเหมือนเดิมไม่ได้ แน่นอนว่าการปลูกต้นไม้คือวิธีการแก้ปัญหาที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด แต่สิ่งที่โลกต้องการไม่ใช่พื้นที่ปลูกป่าที่มีไม้พันธุ์เดียวกันทั้งผืน เพราะป่าที่ดีจะต้องมีความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อที่จะขับเคลื่อนกลไกดูดซับคาร์บอนได้ดี พูดง่าย ๆ ก็คือมันต้องเป็นป่าที่ไม่ใช่ต้นไม้ชนิดเดียวกันทั้งผืนเหมือนที่กำลังปลูกกันในตอนนี้
ป่าที่ปล่อยให้มีการเติบโตเองตามธรรมชาติหรือมีพันธุ์พืชที่หลากหลายจะสามารถเก็บกักคาร์บอน (Carbon sink) ได้ดีมาก ตรงกันข้ามกับป่าที่เป็นพืชเดี่ยว (Monoculture) ที่เก็บกักคาร์บอนได้น้อยมาก และเมื่อป่าถูกทำลาย เช่น จากการตัดไม้นำไปใช้ในอุตสาหกรรม มันยังจะปล่อยคาร์บอนที่เก็บไว้กลับคืนสู่บรรยากาศอีก ทำให้สถานการณ์โลกร้อนยิ่งแย่ลง
ตัวอย่างเช่น สัดส่วนพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากจีนและอินเดีย แต่การวิจัยพบว่า 32% ของพื้นที่สีเขียวในประเทศจีน และ 82% ในอินเดียมาจากการเพาะปลูกพืชประเภทอาหารอย่างครบวงจร ปริมาณพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นมาจากความต้องการผลิตอาหารในปริมาณมหาศาลเพื่อให้เพียงพอจะเลี้ยงประชากรกว่า 2,000 ล้านคน ดังนั้น ปริมาณการผลิตธัญพืช ผัก ผลไม้และอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 35-40% นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นการตอกย้ำว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในจีนและอินเดียเป็นเพียงมายาภาพโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นการปลูกพืชเดี่ยว (3)
กรณีในเอธิโอเปียก็มีปัญหาการปลูกพืชเดี่ยวเช่นกัน เช่น การปลูกยูคาลิปตัสอย่างขนานใหญ่ ซึ่งเป็นพืชเดี่ยวที่ไม่เอื้อต่อความหลากหลายของระบบนิเวศและยังใช้น้ำมหาศาล เช่นเดียวกับการปลูกพืชเดี่ยวในจีนและอินเดียเพื่อใช้ผลิตอาหารซึ่งใช้น้ำมหาศาลเช่นกัน ยังไม่นับการใช้ปุ๋ยเคมีที่ทำให้ระบบนิเวศไม่เป็นธรรมชาติ ทำให้พื้นที่สีเขียวประเภทนี้ไม่สามารถเป็นที่เก็บกักคาร์บอน หรือ Carbon sink ที่มีประสิทธิภาพได้
หากตัวอย่างในประเทศเหล่านี้ยังไม่ชัด ยังมีตัวอย่างที่น่าสนใจในอดีตกรณีไอร์แลนด์ ซึ่งในปี พ.ศ. 2443 มีพื้นที่ป่าเพียง 1% (4) ทำให้ไอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีผืนป่าน้อยที่สุดในยุโรป นอกจากนี้ไอร์แลนด์ยังพึ่งพาอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างรุนแรง และไอร์แลนด์ยังมีอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ผลิตนมสูงที่สุดในยุโรป ซึ่งหมายความว่าไอร์แลนด์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดประเทศหนึ่งด้วย
แต่ในระยะหลังรัฐบาลไอร์แลนด์ได้เริ่มโครงการปลูกป่า ทำให้มีปริมาณป่าเพิ่มขึ้นเป็น 11% และตั้งเป้าจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 18% ในปี พ.ศ. 2589 นอกจากจะเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าแล้ว ยังหวังว่าการมีพื้นที่สีเขียวมากขึ้นจะช่วยดูดซับคาร์บอนจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ไม่อย่างนั้นไอร์แลนด์จะต้องจ่ายค่าคาร์บอนในอัตราที่สูงมาก
แต่ปัญหาของไอร์แลนด์คือ พื้นที่สีเขียวที่ได้มาเป็นพืชเดี่ยวที่เกิดจากการปลูกต้นสน Sitka (Picea sitchensis) กินพื้นที่มหาศาลไปทั่วประเทศ ซึ่ง Mary Colwell นักเขียนด้านสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อเสียงชาวอังกฤษ ชี้ว่า คาร์บอนจำนวนมากถูกเก็บไว้ในดินพรุและทุ่งหญ้าที่รกร้าง (ซึ่งเป็นสภาพภูมิประเทศของไอร์แลนด์)
หากพื้นที่เหล่านี้ถูกรบกวนด้วยการปลูกต้นไม้ (ด้วยการไถพรวน) และการตัดโค่น (เพื่อถางพื้นที่ปลูกป่าใหม่) จะทำให้คาร์บอนที่เก็บกักไว้ถูกปล่อยสู่บรรยากาศ ดังนั้นการปลูกป่าจึงไม่ได้หมายความว่าจะมีพื้นที่เก็บกักคาร์บอนเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ Mary Colwell ยังระบุอีกว่า ภาคเกษตรยังคงเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลุ่มใหญ่ที่สุดในไอร์แลนด์และตัวเลขการปล่อยจะเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นการปลูกป่าจึงดูดซับคาร์บอนได้ไม่ถึง 4 ล้านตัน ทางออกที่ดีกว่าก็คือการลดอุตสาหกรรมปศุสัตว์ แทนที่จะปลูกต้นสนในผืนดินที่ไม่เหมาะสม (5)
The Economist ได้สัมภาษณ์ Simon Lewis ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สภาพภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัย UCL โดยเขาบอกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ป่าที่ปลูกผ่านโครงการ Bonn Challenge เป็นพืชเดี่ยว ซึ่งจากข้อมูลนี้ The Economist ยังขยายความต่อไปอีกว่า ผืนป่าพืชเดี่ยวสามารถกักคาร์บอนได้เพียง 1 ใน 40 ส่วนของศักยภาพการเก็บกักคาร์บอนของป่าธรรมชาติ (2)
ทางออกของปัญหานี้คือการหันมาปลูกป่าที่เติบโตอย่างเป็นธรรมชาติและมีความหลากหลายของพันธุ์พืช โดยผืนป่าได้รับการดูแลและเก็บเกี่ยวประโยชน์อย่างสมดุลโดยคนท้องถิ่นในลักษณะของป่าชุมชน
แต่เรื่องนี้ก็ยังมีความท้าทายก็คือ การปล่อยให้ป่าโตอย่างเป็นธรรมชาติมักไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหรือเอกชน เพราะยากต่อการประเมินผลสำเร็จ ในขณะที่การปลูกพืชเดี่ยวยังสามารถแปลงเป็นเงินได้ด้วย
ดังนั้นนักวิชาการจึงพยายามหาทางผลักดันการปลูกป่าธรรมชาติหรือป่าชุมชนให้เป็นรูปแบบหนึ่งของการจ่ายค่าทดแทนการปล่อยก๊าซคาร์บอน (Carbon Payment) เพื่อเป็นแรงกระตุ้นในการสร้างผืนป่าที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดคาร์บอนจริง ๆ และเป็นการลดปัญหาโลกร้อนที่มีประสิทธิภาพมากกว่า (2)
อ้างอิง
- Lewis, Simon L. et al. (2 April 2019). “Restoring natural forests is the best way to remove atmospheric carbon”. Nature.
- The Economist. (18 September 2019) “Climate change: the trouble with trees”. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=EXkbdELr4EQ
- Chen et al. (2019). “China and India lead in greening of the world through land-use management”. Nature Sustainability.
- Carroll, Rory. (7 July 2019). “The wrong kind of trees: Ireland’s afforestation meets resistance”. The Guardian.
- Colwell, Mary. (7 October 2018). “A forestry boom is turning Ireland into an ecological dead zone”. The Guardian.