ห้างดังญี่ปุ่นจับมือสตาร์ทอัพ นำบรรจุภัณฑ์สินค้าวนกลับมาใช้ซ้ำ จุดเปลี่ยนช่วยลดขยะพลาสติก?

เมื่อปีที่แล้ว Aeon ช้อปปิ้งมอลชื่อดังของญี่ปุ่นได้ร่วมมือกับ Loop ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพบรรจุภัณฑ์แบบหมุนเวียน เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ และกำจัดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจำนวนมหาศาลที่ญี่ปุ่นสร้างขึ้นในแต่ละปี (ซึ่งญี่ปุ่นผลิตขยะพลาสติกมากเป็นอันสองของโลก)

แต่ก่อน Aeon ก็เหมือนห้างอื่น ๆ ที่ใช้ภาชนะและบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งกับสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน เช่น อาหาร ผงซักฟอก และแชมพู ซึ่งสร้างขยะมหาศาล แต่ด้วยความร่วมมือกับ Loop พวกเขาจะหันมาใช้ภาชนะหมุนเวียนที่สามารถใช้งานได้หลายครั้ง เช่น สแตนเลสและแก้ว ซึ่งมีความทนทานมากกว่าพลาสติก

Cr. Loop

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ Loop กันก่อน สตาร์ทอัพนี้เปิดตัวปี 2019 บริหาร TerraCycle องค์กรเพื่อสังคมแห่งนวัตกรรมที่มีภารกิจในการหาทาง “กำจัดด้วยการจัดการกับขยะ” (Eliminate the Idea of Waste) โดยรวบรวมและรีไซเคิลขยะที่รีไซเคิลยากผ่านแพลตฟอร์มการรีไซเคิลระดับประเทศ และยังช่วยสรรหาบรรจุภัณฑ์ดี ๆ ให้ผู้ผลิตด้วย

โมเดลของ Loop ก็คือผลักดันให้การนำกลับมาใช้ใหม่เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์หลากหลายหมวดหมู่ทั่วโลก และทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เข้าถึงได้และสะดวกที่สุดสำหรับผู้บริโภคโดยแจกจ่ายผ่านเครือข่ายช่องทางและผู้ค้าปลีกที่มีอยู่ พร้อมกับจ้างหน่วยงานอิสระประเมินอย่างต่อเนื่องว่าโมเดลของพวกเขาเวิร์กไหม

โดย Loop จะนำเสนอบรรจุภัณฑ์ที่ทนทาน น่าใช้ และนำเสนอวิธีที่สะดวกในการซื้อผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้และส่งคืนได้อย่างง่ายดาย ผ่านเครือข่ายระบบการรวบรวมบรรจุภัณฑ์หมุนเวียน พวกเขาเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่งโดยเฉพาะในประเทศตะวันตก จนกระทั่งมาร่วมมือกับ Aeon

Cr. zenbird.media

โมเดลที่ Loop ทำกับ Aeon คือ ผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์ Loop เหล่านี้ในแพ็คเกจแบบใช้ซ้ำได้ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งจะมีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์ปกติเล็กน้อย พร้อมจ่ายเงินมัดจำด้วย และหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์เสร็จแล้ว นำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วลงในกล่องส่งคืน Loop ที่ร้าน Aeon ทุกแห่งจำนวน 29 แห่ง ในเขตปริมณฑลโตเกียว ไซตามะ ชิบะ และโยโกฮามะ

บรรจุภัณฑ์นั้น ๆ จะได้รับสติ๊กเกอร์คิวอาร์โค้ดตั้งแต่แรกซื้อ เมื่อระบบรวบรวมยืนยันว่าเป็นบรรจุภัณฑ์เดียวกัน ภายในเวลาสองสัปดาห์ ผู้บริโภคจะได้รับเงินคืน ซึ่งจะรวมจำนวนเงินมัดจำบวกภาษีการบริโภคของบรรจุภัณฑ์ที่จะโอนเข้าบัญชีธนาคารของผู้บริโภคผ่านทางแอป Loop ระหว่าง 110 เยน (ประมาณ 31 บาท) และ 880 (ประมาณ 254 บาท) เยน ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์

ในลำดับต่อไป บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการทำความสะอาดบรรจุภัณฑ์จะทำความสะอาดสินค้าที่ส่งคืนกลับมา เมื่อเสร็จแล้วก็จะส่งกลับไปยังผู้ผลิตที่จะนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้อีกครั้งโดยเติมสินค้าเข้าไป ดังนั้น มันไม่ใช่การรีไซเคิล แต่เป็นการหมุนเวียนกลับไปใช้ครั้งแล้วครั้งเล่า ตอนนี้ผลิตภัณฑ์ของ Aeon 16 ประเภท อยู่ในโครงการนี้

นอกจากนี้ Loop ยังเปิดเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ให้บริการส่งบรรจุภัณฑ์ที่เติมสินค้าได้และหมุนเวียนใช้ได้ไปส่งให้ถึงมือลูกค้าที่หน้าประตูบ้าน เมื่อเราใช้เสร็จแล้วพนักงานบริษัทก็จะมารับบรรจุภัณฑ์นั้นกลับไป ซึ่งพวกเขาทำแบบบนี้ได้ก็เพราะความมือกับผู้ผลิตที่มีโรงงานรายรอบเขตปริมณฑลของมหานครโตเกียว และจังหวัดคานางาวะ ระยะทางที่ไม่ไกลมากทำใหบริการแบบนี้ลื่นไหลและสะดวก

นี่เป็นความริเริ่มที่อาจจะเปลี่ยนอนาคตของญี่ปุ่นในอีกไม่นาน เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ผลิตขยะพลาสติกมากเป็นอันดับ 2 ของโลก มีขยะพลาสติกมากถึง 9.4 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 37 กิโลกรัมต่อหัว แม้จะพัฒนาล้ำหน้าแค่ไหน แต่ญี่ปุ่นก็ยังรีไซเคิลขยะพลาสติกได้แค่ 25% จนต้องนำขยะไป “ทิ้ง” ในต่างประเทศ

ข้อมูลจาก
• “This company is bringing zero-waste shopping to Japan”. (January 23, 2022). World Economic Forum.
• Tanuvi Joe. (May 27, 2021). “Aeon Launches Products With Loop’s Reusable Packaging In 19 Stores Across Japan”. Green Queen.
• ภาพปก: https://exploreloop.com/Aeon และ https://exploreloop.com/purpose

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย