ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมทะเลจากนครศรีฯยื่นลาออก 6 คน อ้างผิดหวังนโยบาย ‘วราวุธ’

ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมทะเลจากนครศรีธรรมราช ยื่นหนังสือลาออกอย่างเป็นทางการต่อปลัดกระทรวงทรัพย์ ให้เหตุผลผิดหวัง “วราวุธ” ไม่มีนโยบายปกป้องทรัพยากรทางทะเลที่ชัดเจน

ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 6 คน ได้แก่ นายวิรชัช เจะเหล็ม (อำเภอหัวไทร) นายไกรศล หมื่นแก้ว (อำเภอปากพนัง) นายประยุทธ์ เเซ่ลิ่ม (อำเภอเมือง) นายสมชาย ฉลาดแฉลม (อำเภอสิชล) นายราเชษฐ์ โต๊ะล่า (อำเภอสิชล) และนางพิมพาภรณ์ ทองเเซม (อำเภอขนอม) ได้ยื่นหนังสือลาออกอย่างเป็นทางการต่อนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)

บุคคลทั้งหมดได้ชี้แจงเหตุผลในการลาออกว่า กระทรวง ทส. โดยการนำของนายวราวุธ ศิลปอาชา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการไม่มีนโยบายที่ชัดเจนและสามารถตอบสนองความต้องการในอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะและชายฝั่งได้อย่างแท้จริง โดยนายสมชายหนึ่งในผู้ทรงฯ เปิดเผยว่า กระทรวง ทส.มีความสำคัญมาก และใกล้ชิดกับประชาชนในฐานะมีหน้าปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ในขณะเดียวกันกลับพบว่า ทุกวันนี้มีหลายหน่วยงานทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กระทรวงกลับไม่กล้าที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นสมบัติของประชาชน ปล่อยให้เกิดการทำลายทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 6 คนได้นำเสนอปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ผ่านมา ดังนี้
– ประเด็นการกัดเซาะชายฝั่ง กระทรวง ทส. เปิดช่องว่างทางกฎหมายให้เกิดการทำลายชายหาดโดยโครงสร้างกำแพงกันคลื่นนั้นไม่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งทำให้ชายหาดใน จ.นครศรีธรรมราช และพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน เผชิญกับโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นที่ทำลายชายหาดหลายพื้นที่และมีความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับประชาชนในพื้นที่

ในขณะที่ ทช.ไม่ยอมนำโครงการกำแพงกันคลื่นกลับมาทำอีไอเอ ไม่มีผู้แทนของกรมไปร่วมเวทีเพื่อทวงติง หรือให้ข้อมูลเพื่อการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

– ประเด็นการบริหารจัดการองค์กรของ ทช.ที่ผ่านมานั้นไม่มีนโยบายและหน้าที่ที่ชัดเจนในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างแท้จริงยังขาดงบประมาณ บุคลากร และการสนับสนุนให้ชุมชนชายฝั่งได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงอยากให้กระทรวง และ ทช. ได้ทบทวนนโยบาย และหน้าที่ต่อการบริหารจัดการทรัพยากรที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนและประโยชน์ได้มีส่วน

– ประเด็นเพิ่มเติม ขอให้ชะลอการประกาศพื้นที่อุทยานในอำเภอขนอม เนื่องจากจะกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนที่ใช้ประโยชน์ทรัพยากรในพื้นที่จำนวนมาก แต่ให้สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน

ทั้งนี้ภายหลังจากการพูดคุยกับปลัดกระทรวงทรัพย์ ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 6 ได้แถลงว่า ปลัดกระทรวงรับปากว่าจะเร่งประสานหน่วยงานต่างๆ เช่น ประเด็นการกัดเซาะชายฝั่ง และการประกาศอุทยาน ให้เกิดการดำเนินการตามที่กลุ่มได้เรียกร้องและจะแจ้งความคืบหน้าให้ผู้ทรงคุณวุฒิทราบ

สำหรับคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จ.นครศรีธรรมราช มีการสรรหาและประกาศแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2564 ทั้งหมด 8 คน และมีการยื่นลาออกในครั้งนี้ 6 คน

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่