‘ปฏิบัติการเสริมพลัง’ รับมือโลกร้อนทางออกวิกฤตที่ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม

เป็นที่แน่ชัดว่า “มนุษย์”  คือต้นตอหลักของปัญหาโลกร้อน จึงจำเป็นต้องสร้างความตระหนักด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อยุติสาเหตุและหาทางรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้น

สภาวะโลกร้อนที่ประเทศไทยกำลังเผชิญมี 2 รูปแบบ

  1. สภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ (Extreme Weather Event) เป็นปรากฎการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์แบบฉับพลัน เช่น ภัยพิบัติน้ำท่วม หรือภัยแล้ง ที่เกิดจากคลื่นความร้อน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวมีจุดเริ่มต้น และสิ้นสุดในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ สามารถประเมินผลกระทบและบริหารจัดการได้ในระดับหนึ่ง
  2. เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป (Slow Onset Event) เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ไม่อาจหยุดยั้งได้ แต่จะค่อย ๆ เกิดขึ้นและสั่งสมไปเรื่อย ๆ ถือเป็นภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อนที่น่ากลัวมากที่สุด เพราะก่อตัวและสร้างผลกระทบอย่างช้า ๆ ซึ่งแนวทางในการรับมือมีเพียง 2 วิธี คือ การปรับตัวและการลดผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะไม่อาจหยุดยั้งปรากฎการณ์ดังกล่าวได้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมส่งผลในระยะยาว และความสูญเสียที่เกิดขึ้นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจย้อนกลับไปอย่างเดิมได้อีก

ตัวอย่าง เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ น้ำแข็งขั้วโลกเริ่มละลาย ระดับน้ำในทะเลเพิ่มสูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของพื้นที่ทะเลทราย สภาพดินที่เปลี่ยนแปลงไป น้ำทะเลกลายเป็นกรด ความเค็มรุกล้ำพื้นที่บนบก  ฯลฯ

กล่าวโดยสรุปก็คือ เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ภูเขาไปจนถึงทะเล คำถามก็คือ แล้วเราจะดำเนินการรับมือกับเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างไร?

กลไกที่จะช่วยจัดการความสูญเสียและความเสียหายจากเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป คือ 1. การเพิ่มความรู้และความเข้าใจต่อแนวทางการจัดการความเสี่ยงแบบเข้มข้น 2. เสริมสร้างการสนทนา การประสานงาน การเชื่อมโยงระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง และ 3. ยกระดับการดำเนินการ และการสนับสนุน รวมถึงด้านการเงิน เทคโนโลยีและการเสริมศักยภาพ

กลไกทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อการยกระดับความเข้าใจ การดำเนินงาน และการสนับสนุนเพื่อหลีกเลี่ยง บรรเทาและจัดการกับการสูญเสียหรือความเสียหายจากผลกระทบทางลบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ตามมาตรา 12ของความตกลงปารีส

ดังนั้นกลไกการทำงานต่าง ๆ ต้องทำงานต่อเนื่อง และต้องเพิ่มการจัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลติดตามความเสี่ยง และความสูญเสีย เช่น บางประเทศที่ได้รับผลกระทบจนไม่มีผืนดินจะอยู่จะให้พวกเขาปรับตัวอย่างไร

สำหรับประเทศไทยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557  ได้มีมติเห็นชอบให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) เป็นหน่วยประสานงานกลางระดับประเทศ (National Focal Point) ด้านปฏิบัติการเสริมพลังความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Action for Climate Empowerment) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า ACE ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้มาตรา 6 ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) หรือมาตรา 12 ในความตกลงปารีส (Paris Agreement)

กิจกรรม ACE มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนต่อการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีเป้าหมายให้ประชาชนมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและมีความพร้อมในการปรับตัวต่อผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผ่านกลไก 6 ด้านที่ต้องประสานหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศในการขับเคลื่อน ประกอบด้วย การศึกษา การฝึกอบรม การสร้างจิตสำนึก การเข้าถึงข้อมูล การมีส่วนร่วมของประชาชน และความร่วมมือระหว่างประเทศ

โดยในปี พ.ศ. 2561 จึงได้มีการจัดทำแผนที่นำทางการเสริมพลังความร่วมมือและเสริมสร้างศักยภาพในเชิงรุกรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการประชุมและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานในประเทศมากกว่า 40 หน่วยงาน โดยแบ่งแผนที่นำทางฯ เป็น 3 ระยะ

1) ระยะเตรียมความพร้อม (พ.ศ. 2562-2563) ครอบคลุมการจัดทำแผนปฏิบัติการ ACE ที่เป็นแผนบูรณาการระดับชาติของภาคส่วนต่าง ๆ และชุดข้อมูลการสื่อสารด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตประจำวันของประชาชนแต่ละกลุ่ม

รวมถึงการจัดทำหลักสูตรการศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมสำหรับการศึกษาในระบบและการฝึกอบรมที่จัดขึ้นโดยภาคส่วนต่าง ๆ

2) ระยะปฏิบัติการและขยายผล (พ.ศ. 2564-2568) ครอบคลุมการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ทันสมัยและเข้าสู่ระบบการศึกษาปกติ พัฒนาศักยภาพของผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change agent) ให้เกิดความเข้มแข็งและครอบคลุมในทุกระดับและทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

รวมทั้งเสริมศักยภาพการจัดการความรู้และแนวปฏิบัติที่ดี (Best practice) ด้านการรุกรับปรับตัวในระดับเมืองและท้องถิ่น พัฒนาระบบติดตามและประเมินผลงานด้าน ACE ที่มีประสิทธิภาพ

และ 3) ระยะสู่ความยั่งยืน (พ.ศ. 2569-2571) มุ่งเป้าให้ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Climate literacy)และมีกลไกการดำเนินงานร่วมกันของภาคส่วนต่าง ๆ ที่สามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน

ดังนั้น การดำเนินงานด้านการเสริมศักยภาพและเสริมพลังความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือได้ว่าเป็นร่มใหญ่ของการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ที่มีผลต่อความอยู่รอดของโลกในศตวรรษนี้ เพราะผลกระทบจากประเด็นสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อมแต่ละประเด็นล้วนส่งผลกลับมาถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยกันทั้งสิ้น

การดำเนินงานด้าน ACE จึงต้องเชื่อมโยงการดำเนินงานกับประเด็นสิ่งแวดล้อมที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมด้วย โดยต้องเชื่อมโยง 6 องค์ประกอบของ ACE เข้าสู่การดำเนินงานด้านการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ การจัดการเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน รวมไปจนถึงการตั้งรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

กิจกรรม ACE  จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างการรับรู้ให้เกิดจิตสำนึก การส่งเสริมการมีส่วนร่วม และการเสริมสร้างศักยภาพในการ “ลด” และ “ปรับตัว” ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะหากมัวรอช้าและไม่ช่วยกัน “หยุดภาวะโลกร้อน” ปัญหาจะไม่ตกอยู่แค่ประเทศไทย แต่หายนะของโลกจะมาถึงรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย