‘เพนกวิน แมวน้ำ วาฬ’ นับล้าน รับความเสี่ยงน้ำแข็งยักษ์ A68 ปล่อยน้ำจืดลงทะเล 1.5 แสนล้านตัน

ภูเขาน้ำแข็ง A68 เคยถูกบันทึกให้เป็นภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลกในช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะได้แตกตัวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ขณะนี้ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลีดส์หวั่นเกรงและจับตาว่า หากมันอาจเกยไหล่ทวีปหรือเข้าชนเกาะจอร์เจียใต้ซึ่งเป็นดินแดนโพ้นทะเลของอังกฤษและเป็นที่อยู่ของนกเพนกวิน ประชากรแมวน้ำ และวาฬ จำนวนนับล้านอาจจะได้รับผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร

เครดิตภาพ NASA

ที่มากกว่านั้นนักวิทยาศาสตร์จาก British Antarctic Society (BAS) ระบุว่า การปล่อยน้ำจืดที่ค่อย ๆ ละลายมาเรื่อยจะสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศของเกาะบริเวณนั้นเป็นเวลากว่าทศวรรษหรือมากกว่านั้น ซึ่งจนถึงเดือนมีนาคม 2021 ภูเขาน้ำแข็งได้ปล่อยน้ำจืดลงมหาสมุทรแล้วจำนวน 1.52 แสนล้านตัน ซึ่งเทียบเท่ากับสระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิก 61 ล้านสระ

เครดิตภาพ NASA

ปัญหาไม่ได้จบแค่น้ำจืดละลายลงสู่ทะเล แต่น้ำที่ค่อย ๆ ละลายออกมามีสารที่อาจส่งผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์ทะเลรอบเกาะ ทั้งในแง่ของการหมุนเวียนของมหาสมุทรและห่วงโซ่อาหาร เช่น อาจเปลี่ยนประเภทของแพลงก์ตอนที่เจริญเติบโตที่นั่นและอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง

“นี่เป็นน้ำที่ละลายปริมาณมหาศาล สิ่งต่อไปที่เราต้องการเรียนรู้ก็คือว่า มันส่งผลกระทบเชิงบวกหรือเชิงลบต่อระบบนิเวศทั่วจอร์เจียใต้” แอนน์ บราคมานน์ -ฟอล์กแมนน์ นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยลีดส์ในสหราชอาณาจักรในฐานะผู้เขียนนำของการศึกษาวิจัยกล่าว

ศ.เกเรนท์ ทาร์ลิง นักสมุทรศาสตร์ชีวภาพ กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้จากหุ่นยนต์ร่อนสำรวจแอนตาร์กติกของอังกฤษในบริเวณใกล้เคียงกับ A68 และเครื่องมืออื่น ๆ เผยให้เห็นสัญญาณที่รุนแรงมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์แพลงก์ตอนพืชรอบ ๆ A68 และก้นมหาสมุทรด้วย ซึ่งพบสัญญาณการตกตะกอนที่รุนแรงมาก

เครดิตภาพ NASA

แน่นอนว่าช่วงเวลาสำคัญช่วงหนึ่งกำลังใกล้ถึงจุดสิ้นสุดที่ก้อนน้ำแข็งยักษ์ที่กลายมาเป็น A68a ที่ถือเป็นก้อนแม่ และค่อย ๆ แตกมุ่งหน้าเข้าใกล้เขตอบอุ่นในจอร์เจียใต้มากขึ้น ซึ่งเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาวัดขนาดได้ประมาณ 5,100 ตารางกิโลเมตร แต่เมื่อเข้าใกล้คงจะบางลงมากซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อประชากรสัตว์ในบริเวณนั้นได้บ้าง โดยบางลูกได้แตกเป็น A68b, A68c และอื่นๆ แต่ในที่สุด A68a ก็เดินทางเป็นเวลาสามปีครึ่งและครอบคลุมระยะทาง 4,000 กิโลเมตร ในเดือนเมษายนปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตามโดยรวมแล้วภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้สูญเสียน้ำแข็งไปแล้วประมาณ 1 ล้านล้านตัน

สำหรับภูเขาน้ำแข็ง A68 หลุดออกจากหิ้งน้ำแข็ง Larsen-C ที่ขอบคาบสมุทรแอนตาร์กติกในเดือนกรกฎาคม 2017 และแทบจะไม่ขยับเลยเป็นเวลาหนึ่งปี จากนั้นก็เริ่มเคลื่อนตัวไปทางเหนือด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้นตามกระแสน้ำและลม วัดขนาดพื้นที่ได้ 5,719 ตารางกิโลเมตร

หลังจากหลุดออกจากคาบสมุทรแอนตาร์กติกมันลอยขึ้นทางเหนือผ่านทะเลเวดเดลล์ที่หนาวเย็นเป็นเวลาประมาณ 2 ปี ระหว่างนั้นน้ำแข็งได้ละลายปล่อยน้ำจืดลงสู่ทะเลมหาศาล โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ทะเลสโกเทียมีอัตราการละลายเพิ่มขึ้นเกือบ 8 เท่า เนื่องจากน้ำอุ่นซัดไปที่ฐานและขอบของภูเขาน้ำแข็งเป็นเวลาสามเดือนระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2020 ถึงมกราคม 2021 ซึ่งทำให้มีอัตราการละลายสูงสุดวันละ 1.52 แสนล้านตัน

อ้างอิง:
• Brandon Specktor (Jan 21, 2022) “Antarctica’s doomed A68 iceberg dumped 1 trillion tons of water into the ocean over 3 years” . Livescience
• Jonathan Amos (Jan 20, 2022) “A68: ‘Megaberg’ dumped huge volume of fresh water” . BBC
• David Nield (JAN 22, 2022) “Antarctic ‘Megaberg’ Released 152 Billion Tons of Freshwater Just Before Melting” . Sciencealert
• Jonathan Amos (Apr 18, 2021) “A68: Iceberg that became a social media star melts away” . BBC

อ่านบทความประกอบ : https://www.facebook.com/igreenstory/posts/2823651681284060

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่