นี่คือสัญญาณเตือนใหม่
ทะเลสาบอาร์กติกกำลังหายไป
กระทบชุมชนพื้นเมืองในท้องถิ่น

by Admin

อาร์กติกเป็นดินแดนที่เกิดความสูญเสียเพราะภาวะโลกร้อนมากที่สุดแห่งหนึ่ง ในขณะที่ภูมิภาคนี้อุ่นขึ้นเร็วกว่าส่วนอื่นๆ ของโลกเกือบสี่เท่า ธารน้ำแข็งก็พังทลาย สัตว์ป่าต้องทนทุกข์ทรมาน และที่อยู่อาศัยต่างๆ ยังคงหายไปอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์

จากภัยคุกคามใหม่ที่ปรากฏชัดขึ้นพบว่า ทะเลสาบอาร์กติกกำลังแห้ง งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Climate Change นำโดยเอลิซาเบธ เว็บบ์ นักวิจัยด้านดุษฏีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา ภาควิชาชีววิทยา ระบุว่า นี่คือสัญญาณเตือนใหม่ต่อภัยจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก

การวิจัยของเว็บบ์ เปิดเผยว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาทะเลสาบอาร์กติกได้หดตัวหรือแห้งสนิททั่วบริเวณแพน-อาร์กติก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ทอดตัวไปทางตอนเหนือของแคนาดา รัสเซีย กรีนแลนด์ สแกนดิเนเวีย และอลาสก้า

ผลการวิจัยนี้ระบุว่า ทะเลสาบที่หายไปทำหน้าที่เป็นรากฐานที่สำคัญของระบบนิเวศอาร์กติก เป็นแหล่งน้ำจืดที่สำคัญสำหรับชุมชนและอุตสาหกรรมพื้นเมืองในท้องถิ่น ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์ รวมทั้งนกอพยพและสัตว์น้ำ ยังต้องอาศัยแหล่งที่อยู่อาศัยในทะเลสาบเพื่อความอยู่รอด

การลดลงของทะเลสาบเป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจ นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในขั้นต้นจะขยายทะเลสาบทั่วภูมิภาคทุนดรา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวดินอันเป็นผลมาจากการละลายของน้ำแข็งพื้นดิน โดยในที่สุดจะแห้งในช่วงกลางศตวรรษที่ 21 หรือศตวรรษที่ 22

ดูเหมือนว่าการละลายของดินเยือกแข็งซึ่งปกคลุมอาร์กติกอาจทำให้น้ำในทะเลสาบไหลออกมากกว่าที่จะมีน้ำไหลเข้าทะเลสาบ ทีมงานได้ตั้งทฤษฎีว่าการละลายของดินเยือกแข็งอาจลดพื้นที่ทะเลสาบโดยการสร้างช่องทางระบายน้ำและเพิ่มการพังทลายของดินลงในทะเลสาบ

“ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า การละลายของดินเยือกแข็งกำลังเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เราคาดการณ์ไว้” เว็บบ์ กล่าว

นอกจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นแล้ว การศึกษายังเผยว่า การเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำฝนในฤดูใบไม้ร่วงทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของดินเยือกแข็งและการระบายน้ำในทะเลสาบ เจเรมี ไลคสตีน ที่ปรึกษาของ เว็บบ์ และผู้ร่วมวิจัยกล่าวว่า อาจดูเหมือนขัดกับสิ่งที่ควรจะเป็นตรงที่ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นช่วยลดน้ำผิวดิน แต่ปรากฎว่า น้ำฝนนำความร้อนเข้าสู่ดินและเร่งการละลายของดินที่เย็นจัด

นี่เป็นข่าวที่ไม่น่ายินดี ดินเยือกแข็งหรืออาร์กติกเพอร์มาฟรอสต์เป็นโกดังเก็บอินทรีย์วัตถุตามธรรมชาติและก๊าซที่ทำให้โลกร้อน เว็บบ์ บอกว่า มันเก็บคาร์บอนได้เกือบสองเท่าของบรรยากาศ มีงานวิจัยจำนวนมากที่กำลังดำเนินอยู่ซึ่งชี้ให้เห็นว่า เมื่อดินเยือกแข็งละลาย คาร์บอนเหล่านี้เสี่ยงที่จะถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศในรูปของก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์

“ปฏิริยาลูกโซ่หายนะได้เริ่มต้นแล้ว” เว็บบ์กล่าวและว่า ต้องดำเนินการเพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ในตอนนี้

ข้อมูลจาก:
“Arctic lakes are vanishing in surprise climate finding”. (NEWS RELEASE 30-AUG-2022). UNIVERSITY OF FLORIDA.
ภาพ: Lindsay Nicole Terry – originally posted to Flickr

Copyright @2021 – All Right Reserved.