เมื่อ ‘ป่า’ กลายเป็น ‘สินค้า’
วิ่งเทรล..เครื่องมือไต่ชนชั้นยึดป่าไปจากคนจน

by IGreen Editor

โดย – ดร.เลิศชาย ศิริชัย อดีตคณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ป่าไม่เคยอยู่ว่างเปล่า แต่ล้วนสัมพันธ์อยู่กับกระบวนการสร้างความหมายของคน เพื่อคนจะเข้าไปใช้ประโยชน์และจัดการป่าได้

ในยุคเดิมมีชาวบ้านเข้าไปพึ่งพาอาศัยป่า ด้วยความจำเป็นและด้วยความเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติ พวกเขาจึงเข้าไปอยู่ในป่าด้วยความคิดว่าป่าเป็นของสิงศักดิ์สิทธิ์ การใช้ประโยชน์จะต้องขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์และจะต้องใช้แต่พอดีและเหมาะสม ไม่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของป่า มิเช่นนั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะลงโทษ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับป่าโดยสร้างสรรค์ภูมิปัญญาในการใช้และจัดการทรัพยากรขึ้นมาอย่างสอดคล้องกับความหมายที่พวกเขาให้

คนจึงอยู่ร่วมกับป่าในความหมายที่ว่าคนสามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้ ในขณะที่ช่วยกันดูแลป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์

เมื่อเกิดรัฐสมัยใหม่ การเติบโตของความรู้วิทยาศาสตร์ และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม รัฐได้เข้าไปควบคุมป่าด้วยการอ้างอำนาจรัฐและอำนาจความรู้ที่ครอบมาจากโลกตะวันตก โดยความหมายใหม่ที่รัฐและความรู้สมัยใหม่สร้างขึ้นอธิบายว่ารัฐเป็นผู้ดูแลป่าทั้งหมด ป่าจะต้องถูกจัดการด้วยการแยกคนออกจากป่า ต้องใช้ความรู้สมัยใหม่เท่านั้นในการอธิบายและจัดการป่า และสามารถนำสิ่งที่มีอยู่ในป่าออกไปสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ภายใต้การกำกับดูแลของความรู้สมัยใหม่

การให้สัมปทานตัดไม้จากป่าจึงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

ต่อมาเมื่อปรากฏว่าพื้นที่ป่าลดไปจำนวนมากจนอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คนบนโลกนี้ อำนาจสมัยใหม่นี้ก็สร้างความรู้การอนุรักษ์ป่าขึ้นมา ด้วยการสร้างป่าอนุรักษ์ประเภทต่าง ๆ ขึ้นมา ที่สำคัญ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แม้ป่าลักษณะอื่น ๆ ของรัฐก็ถูกกำหนดไว้คล้ายกัน คือกีดกันชาวบ้านไม่ให้เข้าไปใช้ประโยชน์ โดยมีกฎหมายลงโทษอย่างรุนแรง เราจึงเห็นชาวบ้านถูกจับกุมคุมขังอยู่เสมอ ๆ ทั้งที่พวกเขาอยู่ในเขตป่ามาตั้งแต่บรรพบุรุษ ก่อนที่รัฐจะออกกฎหมายเกี่ยวกับป่ามาบังคับใช้ด้วยซ้ำ

การที่รัฐเข้าไปควบคุมป่าและสร้างความหมายใหม่ของป่าดังกล่าวได้ทำให้ความหมายของป่าแต่เดิมที่ชาวบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ สร้างขึ้นมาถูกทำให้หายไป ทำให้คนและป่าที่เคยอยู่ร่วมกันได้เปลี่ยนไปสู่คนถูกกีดกันไม่ให้อยู่ร่วมกับป่า โดยทางราชการมีกฎหมายและกองกำลังเป็นเครื่องมือในการทำให้ความหมายที่รัฐสร้างขึ้นมีความศักดิ์สิทธิ์

เมื่อระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเกิดปัญหาในตัวเองทำให้ไม่สามารถสร้างความเติบโตได้เช่นเดิม จึงเกิดการเคลื่อนไหวทั้งความคิดและปฏิบัติการที่จะให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ เรียกว่า ทุนนิยมในยุคเสรีนิยมใหม่

สิ่งที่ปรากฏชัดเจนประการหนึ่งก็คือการพยายามทำให้การบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วยการเร่งทำให้การบริโภคเป็นการบริโภคความหมายหรือ “การบริโภคเชิงสัญญะ” อย่างเต็มที่ แต่เดิมสิ่งที่เป็นสินค้านั้นจะมีมูลค่าใช้สอยและมูลค่าการแลกเปลี่ยน มูลค่าใช้สอยหมายถึงอรรถประโยชน์ของสินค้านั้นที่ผู้บริโภคสามารถใช้ประโยชน์ได้ มูลค่าการแลกเปลี่ยนหมายถึงมูลค่าที่เกิดจากการเปรียบเทียบกับสินค้าอื่น ทำให้เกิดราคาของสินค้าที่ต่าง ๆ กันไป

การที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจบริโภคอะไรหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าสินค้านั้นมีประโยชน์กับเขาอย่างไร และราคามีความเหมาะสมและเขาจ่ายได้

สินค้านอกจากจะมีมูลค่าการใช้สอยแล้ว จะมีมูลค่าเชิงสัญญะประกอบอยู่เสมอ เช่น คนซื้อเสื้อก็เริ่มต้นจากการต้องการซื้อมาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม แต่ว่าผู้ชื้อจะไม่คำนึงถึงเฉพาะความหมายนี้ แต่จะคิดว่าการสวมเสื้อดังกล่าวจะช่วยเสริมคุณค่าของตนให้เพิ่มขึ้นหรือไม่ อย่างไร เคยมีเสื้อแบรนด์หนึ่งขายดิบขายดี เพราะผู้ผลิตสามารถสร้างสัญญะได้ว่า “แอร์โรว์เอกลักษณ์ของเอกบุรุษ” ผู้ชายพากันซื้อเสื้อแบรนด์นี้ไปใส่ เพราะเขารู้สึกว่าจะทำให้เขาดูเท่และได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะจากผู้หญิง ความรู้สึกดังกล่าวไม่ใช่นึกไปเองแต่เขาเชื่อมั่นว่าจะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ

“สัญญะ”  หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้มีความหมายแทนสิ่งหนึ่ง ๆ (เรียกว่ามีสัญญะ) สิ่งต่าง ๆ ที่ว่านี้อาจเป็นภาษา วัตถุ สิ่งของ รูปภาพ หรืออื่น ๆ

มูลค่าเชิงสัญญะนั้นจะทำหน้าที่ในเชิงเปรียบเทียบ คือเมื่อใช้สินค้านั้นแล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อผู้ใช้ โดยเปรียบเทียบกับตัวเองก่อนใช้ เช่น เมื่อตัวเองใช้สินค้านั้นแล้วตัวเองจะรู้สึกยิ่งใหญ่ขึ้น มีตัวตนมากขึ้น ช่วยขจัดความเจ็บปวดอันเนื่องมาจากความล้มเหลวหรือความอ่อนด้อยของชีวิตในด้านอื่น หรือเมื่อใช้แล้วได้รับความชื่นชมจากคนอื่น นอกจากนี้ก็จะเป็นการเปรียบเทียบกับคนอื่นที่ไม่ได้ใช้ โดยตัวเองจะรู้สึกเหนือกว่า หรือยิ่งใหญ่กว่าคนที่ไม่ได้ใช้

ตามปกติสินค้าที่มีความหมายเชิงสัญญะจะพุ่งเป้าไปที่คนชั้นกลาง เพราะคนในกลุ่มนี้ต้องการที่จะถีบตนให้ขึ้นเป็นคนชั้นสูง ในขณะที่พอมีเงินหรือพอหาเงินมาจับจ่ายได้ โดยพวกเขาพยายามบริโภคสัญญะที่มีความหมายว่า เขาเป็นคนชั้นสูงหรือกำลังจะก้าวไปเป็นคนชั้นสูง

ตัวสินค้าย่อมมีความหมายเชิงสัญญะอยู่แล้ว แต่ในยามที่ระบบทุนนิยมต้องการขยายการบริโภคในยุควิกฤตปัจจุบัน การขับเคลื่อนการบริโภคเชิงสัญญะจึงถูกให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะมูลค่าลักษณะนี้คนต้องการบริโภคแบบไม่จำกัด จึงขึ้นอยู่กับฝ่ายผู้ผลิตว่าจะสามารถสร้างความหมายเชิงสัญญะที่สามารถกระตุ้นการบริโภคของประชาชนได้หรือไม่

ในยุคนี้จึงเห็นการเติบโตทั้งการโฆษณาและช่องทางการส่งผ่านสินค้าที่สะดวกโดยไม่มีพรมแดนของประเทศหรือพรมแดนอื่น ๆ ขัดขวางได้ ซึ่งรัฐเองก็สนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการขับเคลื่อนการบริโภคไปตามแนวทางนี้ เพราะรัฐก็หวั่นวิตกอย่างมากต่อความชะงักงันทางเศรษฐกิจ

ที่ปรากฏอย่างชัดเจนในยุคนี้ก็คือการทำให้สิ่งที่ไม่น่าจะเป็นสินค้าได้กลายเป็นสินค้าขึ้นมาได้ เพราะแทบจะไม่เห็นมูลค่าการใช้สอยเลย แต่ก็สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมีพลังด้วยมูลค่าเชิงสัญญะ ที่รู้จักกันดีและมีคนพูดถึงกันมากก็คือการทำให้วัฒนธรรมเป็นสินค้า

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นประเด็นที่จะพูดถึงในบทความนี้คือการทำให้ “ป่า” กลายเป็น “สินค้า”

ในยุคที่ผ่านมาสิ่งที่มีอยู่ในป่าถูกนำออกมาเป็นสินค้า เช่น ไม้ สัตว์ แร่ธาตุ ซึ่งล้วนแต่เป็นสินค้าที่เกิดขึ้นจากมูลค่าการใช้สอย เช่น นำไม้ไปใช้ในการก่อสร้างต่าง ๆ นำเนื้อสัตว์ไปทำอาหาร และสินค้ายังมีความหมายเฉพาะสิ่งหนึ่ง ๆ ที่ถูกนำออกมาจากป่า

ในยุคนี้สินค้าลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งต้องห้ามตามความหมายการอนุรักษ์ป่าที่สูงสร้างขึ้นมา แต่ว่าป่าก็กลายเป็นสินค้าอย่างใหม่ โดยเป็นสินค้าที่มีความหมายเชิงสัญญะ หรือเพื่อให้ผู้คนบริโภคสัญญะ ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือป่าทั้งป่าได้กลายเป็นสินค้า ไม่ใช่การนำบางสิ่งออกจากป่ามาเป็นสินค้า

การวิ่งเทรลก็คือตัวอย่างของบริโภคมูลค่าเชิงสัญญะของป่า

การวิ่งตามความหมายปกติมีจุดมุ่งหมายเพื่อออกกำลังกาย ซึ่งจะวิ่งที่ไหนก็ได้ ถ้าหากจะให้เป็นทางการก็วิ่งตามสนาม สวนสาธารณะ หรือตามถนน แต่การวิ่งเทรลซึ่งจะต้องเข้าไปผจญภัยอยู่ในป่านั้นมีความหมายที่แตกต่างออกไป

ความหมายของวิ่งเทรล ก็คือ “การวิ่งผจญภัยในเส้นทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะลุยป่า ขึ้นภูเขา ฝ่าดงหญ้า น้ำตก และลำธาร เต็มไปด้วยอุปสรรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะหิน ดิน โคลน และน้ำ ซึ่งหาไม่ได้ในสวนสาธารณะ”

การวิ่งเทรล จึงเป็นการบริโภคเชิงสัญญะที่คนวิ่งรู้สึกว่าตนเองได้ทำในสิ่งพิเศษกว่าชีวิตคนปกติทั่วไป เพราะสามารถ “สัมผัสกับธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ เป็นการวิ่งที่ทำให้นักวิ่งได้ผจญภัยไปกับเส้นทางธรรมชาติ ทั้งท้าทาย สนุก” นอกจากนี้ยังรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของตนที่สามารถเอาชนะความดิบ เถื่อน แต่บริสุทธิ์ โดยต้องใช้กล้ามเนื้อทุกส่วน และ “อุปกรณ์ที่พิเศษและมีลักษณะเฉพาะ เช่น รองเท้าวิ่งเทรลที่ออกแบบมาเพื่อการยึดเกาะและป้องกันเท้าเป็นพิเศษ เป้น้ำเพื่อใส่น้ำดื่ม และอุปกรณ์ที่จำเป็นในการแข่งขันหรือฝึกซ้อม เสื้อผ้าวิ่งเทรล ออกแบบมาเพื่อความทดทานการเสียดสีและฉีกขาด”

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ผู้วิ่งเทรลพยายามที่จะสะสมสถิติการเข้าร่วมวิ่งเทรลในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยิ่งเข้าร่วมได้มาก ก็ยิ่งแสดงถึงความยิ่งใหญ่และความแข็งแกร่งของตัว ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเหนือกว่าคนอื่นที่ทำไม่ได้ด้วย

ผู้เข้าร่วมวิ่งเทรลจะรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นคือความถูกต้อง ไม่ใช่เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นพวกเขาจึงยอมรับไม่ได้ที่จะมีใครมาวิจารณ์หรือโจมตี “ผมว่าใช้คำพูดที่น่าหดหู่มาก ๆ ครับ พวกผมเป็นตัวการทำลายธรรมชาติไปแล้วหรือครับ จริง ๆ …นักวิ่งทุกคน รักและชอบธรรมชาติไม่แพ้พวกพี่ ๆ เลยครับ ผมเชื่ออย่างนั้น และผมก็ไม่เห็นว่านักวิ่งเทรลไปวิ่งไล่หรือวิ่งไปฆ่าสัตว์ป่ากันนะครับ”,  “ยิ่งจัดร่วมกับรัฐ ก็ยิ่งดีใจเพราะเงินที่จ่ายก็ตกไปเป็นภาษีกลับมาอีก”,  “ไม่อยากให้พี่มองเห็นการวิ่งเทรลเป็นการทำลายธรรมชาติ เพราะการวิ่งเทรลช่วยกระตุ้นให้คนมีจิตใจรักธรรมชาติป่าไม้เพิ่มมากขึ้น”

อีกวิธีหนึ่งที่กลุ่มนักวิ่งเทรลใช้อ้างเพื่อให้เห็นความถูกต้องของตน คือการอ้างถึงคนกลุ่มอื่นซึ่งน่าจะเป็นผู้ทำลายป่า ส่วนพวกตนนั้นไม่ใช่ เช่น “คุณเข้าไปนอนค้างในป่า 2-3 วันได้ ไปตั้งแคมป์ทำอาหารในป่าได้ ไปส่องสัตว์ใกล้ ๆ ได้ ไปใช้แหล่งน้ำทำอาหารชำระร่างกายได้ แบบนั้นคือรักธรรมชาติ ไม่รบกวนสัตว์…แต่คนที่ใช้เส้นทางเดียวกันกับคุณ แค่เขาเคลื่อนที่เร็วกว่า และใช้เวลาในพื้นที่น้อยกว่าคุณ 3-4 เท่า แต่บอกว่าคนพวกนั้นคือคนร้ายทำลายธรรมชาติ ตรรกะคืออะไรครับ”

การที่ผู้วิ่งไม่ได้รู้สึกว่าตนกำลังทำอะไรผิด ก็เพราะเขารู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าเขากำลังซื้อของบริโภค ซึ่งเป็นหลักทั่วไปของตลาด ดังนั้นเมื่อมีการขาย คือมีการจัดวิ่ง เขามีความพร้อมที่จะซื้อ ทำไมจะต้องผิดด้วย “นักวิ่งไม่มีใครรู้เส้นทางครับ เส้นทางมันออกมาหลังสมัครแล้ว และไม่มีใครรู้ว่ามันไปผ่านจุดอ่อนไหวอะไรบ้าง แล้วคุณต้องการอะไรจากนักวิ่งครับ ไม่ไปวิ่ง? แล้วใครรับผิดชอบค่าสมัคร ค่าที่พัก ค่าเดินทางที่จองไว้ครับ”, “อย่ามาโยนบาปนักวิ่ง เล่นงี้ก็ไม่แฟร์นะครับ ผมเชื่อว่านักวิ่งก็พร้อมปกป้องความชอบธรรมตัวเอง”

การวิ่งเทรลไม่ได้มีเฉพาะพัทลุง ไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทย แต่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เพราะนี่คือการขับเคลื่อนของระบบทุนนิยมในยุคเสรีนิยมใหม่

การวิ่งเทรลจึงไม่เกิดขึ้นลอย ๆ แต่เกิดขึ้นจากการสามารถช่วงชิงความหมายของป่าจากยุคที่ผ่านมา ซึ่งให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ป่า โดยแยกคนออกจากป่า หรือการไม่ให้คนเข้าไปเกี่ยวข้องกับป่า มาสู่การทำให้ป่าเป็นสินค้าเชิงสัญญะที่คนมีเงินสามารถเข้าไปเสพสุขและเข้าไปหาความท้าทายจากป่าได้ แม้แต่ป่าที่ได้รับการประกาศให้เป็นป่าอนุรักษ์

ความหมายใหม่เช่นนี้เข้าไปท้าทายความหมายเดิมอย่างแข็งกร้าว เพราะแม้ความหมายเดิมจะมีกฎหมายรองรับ และทางราชการใช้กฎหมายดังกล่าวจัดการชาวบ้านในท้องถิ่นที่ต้องพึ่งป่ามามากต่อมาก แต่สำหรับความหมายที่เกิดขึ้นใหม่ดังกล่าว กลับทำให้คนที่มีเงินซื้อ (สินค้าป่า) จำนวนมากเข้าไปในเขตป่าอนุรักษ์ โดยกฎหมายเดิมที่ยังคงมีอยู่ทำอะไรไม่ได้ เพราะว่าอำนาจของราชการที่เคยใหญ่โตได้กลายเป็นอำนาจจิ๊บจ๊อย เมื่ออำนาจตลาดและกลไกรัฐที่อยู่เหนือขึ้นไปสนับสนุนขบวนการช่วงชิงความหมายแบบนี้

คงจำกันได้ดีว่ารัฐบาลในอดีตที่ไม่นานมานักก็เคยมีนโยบายที่จะให้ภาคธุรกิจเช่าป่าอนุรักษ์ดำเนินกิจการการท่องเที่ยว ซึ่งก็คือกิจการในลักษณะเดียวกับวิ่งเทรลนี้เองคือ การที่คนจากภายนอกสามารถใช้เงินเข้ามาซื้อสินค้าเชิงสัญญะ (ป่า) เพื่อตอบสนองความต้องการของชีวิตแบบใหม่ที่ถูกสร้างขึ้น

เราจะมองการเกิดขึ้นของความหมายป่าแบบใหม่นี้อย่างไร

ประการแรก จะเห็นได้ว่าข้อถกเถียงเรื่องการการทำลายป่าของความหมายนี้ซ่อนเร้นความเป็นจริงไว้อย่างยากจะรู้เท่าทัน เพราะไปอ้างเอาความหมายการทำลายป่าตามความหมายเดิมเป็นเกราะกำบังซ่อนเร้นการทำลายป่าที่เกิดขึ้นจริง

โดยอ้างว่าผู้ที่วิ่งเทรลไม่ได้เอาเครื่องมือเข้าไปโค่นต้นไม้หรือล่าสัตว์แม้แต่น้อย ซึ่งการอ้างการทำลายป่าแบบนี้เป็นยุคเดิมที่มีการตัดไม้และล่าสัตว์ออกมาเป็นสินค้า แต่ยุคนี้ป่าได้กลายเป็นสินค้าอย่างใหม่ ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือป่าทั้งป่าได้กลายเป็นสินค้า ไม่ใช่การนำบางสิ่งออกจากป่ามาเป็นสินค้า ดังนั้นที่ผู้สมัครเข้าวิ่งเทรลที่พัทลุงโต้แย้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าพวกตนไม่ได้ทำลายป่า จึงเป็นโต้แย้งที่เห็นแก่ได้ เพราะความจริงก็คือความหมายของป่าและการปฏิบัติต่อป่านั้นต่างกันออกไปแล้ว ลักษณะการทำลายป่าก็แตกต่างกันออกไปด้วย

ในสถานการณ์ที่สิ่งแวดล้อมโลกถูกทำลายอย่างน่าเป็นห่วง ความรู้เรื่องความเสื่อมโทรมของป่าถูกศึกษาอย่างละเอียดมากขึ้น ดังนั้นการทำลายป่าจึงไม่เพียงเป็นการทำลายองค์ประกอบขนาดใหญ่ของป่า เช่น ต้นไม้ สัตว์ แต่หมายถึงสายพันธุ์พืช สายพันธุ์สัตว์ขนาดเล็กที่มองไม่เห็นอีกมากมาย สายพันธุ์พืชและสัตว์เหล่านี้ล้วนพึ่งพาอาศัยกันประกอบกันเป็นความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่า และมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงมาก การที่มีคนจำนวนมากวิ่งเข้าไป เข้าไปเหยียบย่ำ เข้าไปป่ายปีน เข้าไปส่งเสียง และอื่น ๆ ล้วนมีผลกระทบต่อสายพันธุ์พืชและสัตว์พวกนี้ทั้งสิ้น

แต่ชุดความรู้ที่สนับสนุนการวิ่งเทรลกลับไม่เคยพูดถึงการทำลายป่าในมิติดังกล่าวนี้เลย

ประการที่สอง จากการศึกษาระบบนิเวศที่มีความแตกต่างหลากหลายกันอย่างมากพบว่า มีรูปแบบเฉพาะของความรู้ที่ตั้งอยู่บนฐานของพื้นที่ที่ต่างกัน เกี่ยวกับความหลากหลายและปฏิสัมพันธ์ระหว่างสายพันธุ์พืช สายพันธุ์สัตว์ ธรณีสัณฐาน ทางเดินน้ำ และคุณภาพของสิ่งแวดล้อมชีวกายภาพ แต่ว่าความหมายของป่าที่ถูกสร้างขึ้นใหม่นี้กลับไม่ได้สนใจความแตกต่างหลากหลายที่เกิดอยู่ในเฉพาะที่เฉพาะถิ่นดังกล่าว เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ใครก็ได้ ไม่ว่าจะอยู่ไหน ไม่เฉพาะในประเทศ ต่างก็ประเทศก็ได้ ขอให้มีเงินมาใช้จ่ายและซื้อสินค้าก็เข้ามาใช้ป่าได้

ลักษณะเช่นนี้นอกจากกลุ่มธุรกิจการวิ่งเทรลและกลุ่มที่เข้าแข่งขันจะไม่รู้เรื่องระบบนิเวศของป่าในภาพรวมแล้ว ลักษณะเฉพาะพื้นที่หรือท้องถิ่นยิ่งไม่ได้รับการสนใจไยดี แล้วคนในธุรกิจและกลุ่มผู้บริโภคสัญญะการวิ่งเทรลกล้าพูดได้อย่างไรว่าพวกเขาไม่ได้ทำลายป่าแต่ช่วยอนุรักษ์ป่า

ประการที่สาม ความหมายของป่าชุดใหม่นี้ปฏิเสธความหมายของป่าที่เคยมีมาถึง 2 ชั้น ชั้นแรกคือปฏิเสธความรู้ของทางราชการที่อิงอยู่กับความรู้วิทยาศาสตร์ คือการพยายามขับเคลื่อนการอนุรักษ์ป่าโดยการกีดกันคนออกจากป่า แต่ที่สำคัญคือการไม่รับรู้ชุดความหมายป่าของชาวบ้านในท้องถิ่นต่าง ๆ

ทั้งนี้ชาวบ้านในทุกพื้นที่อยู่กับป่ามาก่อนที่รัฐเข้าไปยึดป่ามาจัดการ ทำให้เกิดความขัดแย้งกันมาอย่างต่อเนื่องระหว่างความหมาย 2 ชุดนี้ ในระยะหลังความรู้แบบของรัฐประสบความล้มเหลวในการดูแลป่า คือพื้นที่ป่าลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้คนที่ยากลำบากยิ่งเพิ่มขึ้นและลำบากมากขึ้นเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงป่าได้

ดังนั้นความรู้ล่าสุดที่เสนอถึงทางออกที่ควรจะเป็นเพื่อยุติการลดลงของพื้นที่ป่าและการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือ การเปิดโอกาสให้ชุดความหมายของท้องถิ่นและชุดความหมายของทางราชการเข้ามาร่วมมือกันอย่างจริงจัง แต่ความหมายที่เกิดขึ้นใหม่ที่รองรับการวิ่งเทรลนี้กลับปฏิเสธและเหยียบย่ำความรู้ทั้ง 2 ชุด แต่ได้เสนอความหมายที่ป่าเป็นเพียงสินค้าที่ใครมีเงินก็สามารถจะซื้อหาเพื่อการบริโภคได้

ลักษณะเช่นนี้เองการวิ่งเทรลจึงซ่อนความหมายที่ลึกซึ้งไว้ ที่สะท้อนให้เห็นว่าความหมายของป่าได้เปลี่ยนไปในทิศทางที่คนในท้องถิ่นยากที่จะเข้าถึงป่าและเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการป่ายิ่งกว่าเดิม ในขณะที่ชุดความรู้ของทางการจะยอมสยบต่อชุดความรู้อย่างใหม่นี้ด้วยอำนาจของระบบทุนนิยมและกลไกทางการเมืองที่สนับสนุนการสร้างความหมายแบบใหม่นี้

กล่าวอีกมุมหนึ่งการวิ่งเทรลเป็นเพียงเครื่องมือทางชนชั้นที่ทำให้ชนชั้นกลางขึ้นไปจนถึงชนชั้นสูงสามารถยึดป่าไปจากคนจน คือพวกเขาสามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้ ในขณะที่คนยากจนที่ต้องการใช้ป่าเพียงประโยชน์ใช้สอยเพื่อการดำรงชีวิตยังไม่สามารถเข้าถึงได้

ดังนั้นการถกเถียงเรื่องการวิ่งเทรลจึงไม่ใช่เรื่องเชิงเทคนิคที่ว่าจะเลือกพื้นที่ป่าแบบใดถึงจะเหมาะสม แต่ควรจะเป็นการถกเถียงกันในเชิงวิธีคิดเลยทีเดียว

Copyright @2021 – All Right Reserved.