บทเรียนหายนะน้ำมันรั่วลงทะเล
ฆ่าล้างชีวิตสัตว์ทะเลมหาศาล

by IGreen Editor

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดน้ำมันรั่วแถบระยองและใกล้ ๆ เกาะเสม็ด ตราบใดที่ท่าเรือและแหล่งอุตสาหกรรมยังอยู่ในบริเวณนั้น เหตุการณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้นซ้ำอีก ซึ่งไม่ใช่แค่ระยองหรือไทย หลายประเทศก็เจอกับเรื่องแบบนี้ และหลีกเลี่ยงได้ยากหากเรายังใช้พลังงานฟอสซิลกันต่อไป

คำถามก็คือ เมื่อเกิดน้ำรั่วแบบนี้แล้ว เราไปโฟกัสแค่คราบน้ำมันบนชายหาดเท่านั้นยังไม่พอ มันยังมีผลต่อชีวิตสัตว์ทะเลมากมายที่เรามองไม่เห็น ดังนั้นเราจะมาดูตัวอย่างหายนะที่ร้ายแรงกกว่าระยองกันว่า เมื่อน้ำมันรั่วลงทะเลแล้วมันมันเกิดอะไรตามมาหลังจากนั้น?

1. การรั่วไหลของน้ำมันของแท่นขุดเจาะ Exxon Valdez ปี 1989 เป็นการรั่วไหลใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษที่ 80 ผลกระทบทางนิเวศวิทยามากมาย ผลกระทบในทันที ได้แก่ การเสียชีวิตของนกทะเลระหว่าง 100,000 – 250,000 ตัว นากทะเลอย่างน้อย 2,800 ตัว นากแม่น้ำประมาณ 12 ตัว แมวน้ำท่าเรือ 300 ตัว นกอินทรีหัวล้าน 247 ตัว และวาฬเพชฌฆาต 22 ตัว

2. รวมถึงการสูญเสียปลาเฮอริ่งแปซิฟิกและไข่ปลาแซลมอนสีชมพูหลายพันล้านตัว ยิ่งตอนที่เกิดเรื่องนั้น ปลาเฮอริ่งแปซิฟิกเพิ่งเริ่มวางไข่ในปลายเดือนมีนาคม เมื่อเกิดการรั่วไหลส่งผลให้ไข่ของประชากรเกือบครึ่งต้องสัมผัสกับน้ำมันดิบ

3. แต่บริษัท ExxonMobil ปฏิเสธข้อกังวลเรื่องน้ำมันตกค้าง โดยระบุว่าพวกเขาคาดว่าเศษที่เหลือจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศในระยะยาว ทว่า 9 ปีหลังจากภัยพิบัติพบหลักฐานของผลกระทบเชิงลบของการรั่วไหลของน้ำมันในนกทะเลในสายพันธุ์ต่าง ๆ และยังพบน้ำมันตกค้างเป็นจำนวนมากหลังจากนั้น

4. กรณีน้ำมันรั่ว Deepwater Horizon ของบริษัท BP เมื่อปี 2010 โดยมีน้ำมันดิบประมาณ 171 ล้านแกลลอนไหลจากพื้นทะเลสู่อ่าวเม็กซิโก กระทบต่อชีวิตส่วนใหญ่ที่อยู่รายรอบ การรั่วไหลของน้ำมันส่งผลกระทบโดยตรงต่อปลาทูน่าครีบน้ำเงินในมหาสมุทรแอตแลนติก เนื่องจากปลาทูน่าตัวอ่อนประมาณ 12% อยู่ในแหล่งน้ำที่มีน้ำมันปนเปื้อน

5. มีงานวิจัยพพบว่า สารพิษจากการรั่วไหลของน้ำมันอาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติได้ โดยพบว่าปลาทูน่าและปลาในประภทเดียวกันแถบนั้นที่สัมผัสกับน้ำมันจากการรั่วไหลทำให้เกิดความผิดปกติของหัวใจและอวัยวะอื่น ๆ ที่คาดว่าจะถึงแก่ชีวิตหรืออย่างน้อยก็ทำให้อายุสั้นลง นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่ามันอาจกระทบต่อปลาที่ใหญ่กว่าหรือแม้กระทั่งกับมนุษย์

6. โดยเฉพาะมนุษย์ที่บริโภคอาหารทะเล รายงานจากมหาวิทยาลัยฟลอริดากล่าวว่า สถานที่หลายแห่งพบปลา 20 – 50% ที่มีบาดแผล มีสื่อรายงานว่าระบบนิเวศของอ่าวเม็กซิโก “อยู่ในภาวะวิกฤต” โดยอ้างว่าการจับอาหารทะเลลดลง เช่นเดียวกับความผิดปกติและรอยแผลที่พบในปลา

7.กรณีน้ำมันรั่วไหล Ixtoc I oil spill ที่เม็กซิโก ปี 1979 น้ำมันส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อปูและสัตว์จำพวกหอยของชายหาดที่ปนเปื้อน ประชากรปู เช่น ปู Ocypode quadrata เกือบถูกกำจัดเป็นบริเวณกว้าง ประชากรปูบนเกาะปะการังตามแนวชายฝั่งก็ลดลงเหลือเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของประชากรปกติประมาณ 9 เดือนหลังจากการรั่วไหล

8. การจับปลาและปลาหมึกลดลง 50 ถึง 70% จากระดับปี 1978 สายพันธุ์อื่น ๆ ที่มีช่วงชีวิตที่ยาวกว่านั้นใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่า และต้องใช้เวลาจนถึงช่วงปลายทศวรรษ 1980 ที่ประชากรเต่าริดลีย์จะเริ่มฟื้นตัว ซึ่งเต่าริดลีย์นั้นวางไข่ได้เพียงไม่กี่ร้อยฟองในแต่ละปี

นี่เป็นตัวอย่างของการรั่วไหลของน้ำมันที่ระทบต่อระบบนิเวศน์โดยเฉพาะต่อสัตว์ทะเลโดยตรง แต่มันยังมีผลกระทบต่อมนุษย์ที่เราคาดไม่ถึงด้วย เช่น การรั่วไหลของน้ำมันยังส่งผลเสียต่อคุณภาพอากาศ เพราะสารเคมีในน้ำมันดิบส่วนใหญ่เป็นไฮโดรคาร์บอนที่มีสารเคมีที่เป็นพิษ สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพเมื่อสูดดมเข้าสู่ร่างกายมนุษย์

และเราคงจะเคยเห็นภาพของนกทะเลที่ถูกคราบน้ำมันเกาะไปทั่วตัว มันคือภาพที่เห็นบ่อยเวลาเกิดน้ำมันรั่วไหล รู้หรือไม่ว่านกส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของน้ำมันจะตายจากโรคแทรกซ้อนโดยปราศจากการช่วยเหลือของมนุษย์ ผลการศึกษาบางชิ้นชี้ว่านกที่แช่น้ำมันจะมีโอกาสรอดไม่ถึง 1% แม้จะทำความสะอาดแล้ว

มาถึงคำถามสำคัญ น้ำมันรั่วเป็นความผิดของใคร? มีงานวิจัยชี้ว่าการรั่วไหลของน้ำมันอาจเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ ภัยธรรมชาติ ความล้มเหลวทางเทคนิค หรือการปล่อยโดยเจตนา แต่ประมาณว่า 30-50% ของน้ำมันที่รั่วไหลทั้งหมดเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์โดยตรงหรือโดยอ้อม

โดยประมาณ 20-40% ของน้ำมันที่รั่วไหลเกิดจากอุปกรณ์ขัดข้องหรือทำงานผิดพลาด ซึ่งไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตามทั้งหมดก็ยังเกี่ยวกับมนุษย์อยู่ดี

ข้อมูลจาก
• Wikipedia contributors. “Oil spill.” Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 1 Feb. 2022. Web. 2 Feb. 2022.
• Wikipedia contributors. “Oil pollution toxicity to marine fish.” Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 10 Dec. 2021. Web. 2 Feb. 2022.

Copyright @2021 – All Right Reserved.