คอสตาริกากำลังเป็นต้นแบบของโลกที่กำลังจะปลอดพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง และประกาศจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ประเทศแรกของโลก
คอสตาริกาเป็นประเทศเล็กๆในอเมริกากลาง เป็นชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ฟื้นฟูธรรมชาติ และสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างจริงจัง
คอสตาริกาเป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนของโลก ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา 90% ของไฟฟ้าในประเทศได้มาจากพลังงานหมุนเวียน และประกาศว่าจะทำให้ทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปีค.ศ. 2021 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า
กลางปีที่ผ่านมาคอสตาริกาประกาศว่าในช่วงเวลา 3 ปีจากนี้จะยกเลิกพลาสติกแบบใช้แล้วทั้งหมด โดยจะเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ 100% หรือสามารถรีไซเคิลได้ 100% และไม่ได้มีที่มาจากปิโตรเลียม
นโยบายที่ก้าวหน้าและโรดแม็ปที่ชัดเจนทำให้ประเทศเล็กๆ แห่งนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศ เช่นโครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ ในการยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง
คาร์ลอส อัลวาราโด เคซาดา ประธานาธิบดีคนใหม่ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามาเมื่อปีที่แล้ว ประกาศตอนเข้ารับตำแหน่งว่า “การยกเลิกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นภาระที่ยิ่งใหญ่ของคนรุ่นเรา และคอสตาริกาจะต้องเป็นประเทศแรกๆ ที่ทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ”
เขายอมรับว่าการยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นภารกิจที่ท้าทายมาก โดยเฉพาะในภาคการขนส่งคมนาคม แต่เขาคิดว่ามันเป็นไปได้
ปัจจุบันไฟฟ้าเกือบทั้งหมดในคอสตาริกาได้มาจากพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าพลังน้ำจากแม่น้ำเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าใหญ่ที่สุด ตามมาด้วยพลังงานความร้อนจากภูเขาไฟ (Geothermal) พลังลม พลังงานชีวมวล และพลังงานแสงแดด
จากอดีตที่ผ่านมา คอสตาริกามีนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างก้าวหน้ามาโดยตลอด ตั้งแต่มีพื้นที่คุ้มครอง (protected area) มากถึงหนึ่งในสี่ของประเทศ ประกาศยกเลิกกิจการสวนสัตว์เพื่อให้สัตว์ได้อยู่อย่างอิสระ และสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่เอกชนอย่างจริงจัง
หวังว่าคอสตาริกาโมเดลจะกลายเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการจัดการมลภาวะจากพลาสติกและพลังงานหมุนเวียนแบบครบวงจร และกล่าวได้ว่าจะเป็น “โมเดล” ของการจัดการขยะพลาสติกและการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดีแห่งหนึ่งของโลก
#ขอบคุณข้อมูล@Re4Reef
Reference: Costa Rica plans to be the first plastic-free and carbon-free country in the world by 2021
https://educateinspirechange.org/nature