หลังกลับจากปารีส “อรช บุญ-หลง” ไม่อยากทำงานในกรุงเทพฯ แต่เลือกมาปักหลักที่เชียงใหม่ และตัดสินใจเปิดร้าน “หอมปากหอมคอ” ขายขนม แต่เธอบอกว่าทำไปทำมาการขายขนมมันยังไม่ตอบโจทย์ เพราะอยากทำงานที่ตัวเองได้ใช้ความคิด เป็นงานที่หาเลี้ยงชีพได้ และมีประโยชน์กับส่วนรวม จึงเป็นที่มาของการผันตัวเป็นนักกิจกรรมด้านวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
“อรช” เริ่มต้นทำกิจกรรมงานเมืองเมือง นิทรรศการศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับเมือง ต่อมาขยับมาจับงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยร่วมกับเพื่อนในโครงการ No Foam for Food บนถนนคนเดิน
จากนั้นเริ่มจับงานสายกรีนที่ใหญ่ขึ้นในนาม “ภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาว” เพื่อรณรงค์การสร้างความตระรู้ให้ผู้คนหวงแหนธรรมชาติ โดยการเปิดเพจ “เรารักดอยหลวงเชียงดาว” ให้คนมาบอกรักดอยหลวงกันเยอะๆ
ทว่าไฟป่าเมื่อปีที่แล้วได้สร้างความเสียหายให้แก่ดอยเชียงดาวยับเยิน จึงเป็นหน้าที่ของภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาวที่ต้องทำงานกันหนักขึ้น สื่อสารให้มากขึ้น เพื่อช่วยกันลดเหตุปัจจัยและสามารถรักษาดอยหลวงเชียงดาวไว้กับคนรุ่นหลังไปอีกยาวนาน
“อรช” จบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปเรียนต่อการจัดการด้านวัฒนธรรมที่ปารีส ฝรั่งเศส ใช้ชีวิตอยู่ 4 ปี หลังจากเรียนจบก็ได้ทำงานเกี่ยวกับการบริหารองค์กรวัฒนธรรมทำให้ได้เรียนรู้มากมาย งานสุดท้ายคือการเป็นคณะทำงานเทศกาลวัฒนธรรมไทยที่จัดขึ้นครั้งแรกที่ฝรั่งเศส เมื่อปี 2549 ทำให้ได้ประสบการณ์ที่ดีในการทำงานระดับชาติของทั้งสองประเทศ กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงการต่างประเทศสองประเทศ เห็นข้อเด่นข้อติดขัดที่นำมาปรับใช้ในการทำงานได้เยอะ
กลับมาเชียงใหม่เธอเริ่มทำงานโรงแรม และออกมาทำขนมและเปิดร้านขนมหอมปากหอมคอ จากนั้นอยากทำงานที่ใช้ความคิด เป็นงานที่หาเลี้ยงชีพได้ และเป็นงานที่มีประโยชน์กับส่วนรวม ระหว่างทำร้านขนมเธอจึงทำงานศิลปวัฒนธรรมควบคู่กันไปด้วย เริ่มที่ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา (คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์) อยู่ใจกลางเมืองเก่าเชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านเก่าของตระกูลของอาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร ที่ท่านได้มอบไว้ให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดูแล
เธอจึงเข้าไปปรึกษาอาจารย์ที่อยากให้สถานที่แห่งนั้นเป็นห้องนั่งเล่นของเมือง กิจกรรมงานเมืองเมืองจึงถือกำเนิดขึ้น โดยทำร่วมกับเพื่อนๆ คณะสถาปัตย์ มช. เป็นงานศิลปวัฒนธรรมที่พูดเรื่องต่างๆ ของเมือง โดยมีนิทรรศการ ดนตรี เสวนาต่างๆ โดยจัดไปต่อเนื่องเดือนละครั้งในวันอาทิตย์ที่มีถนนคนเดิน รวมทั้งหมดเกือบ 20 ครั้ง
“ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้จัดงาน เพื่อนชื่อ อ๊บ – สาวิตร ประเสริฐพันธ์ เป็นคนสนใจสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ได้ชวนคิดเรื่องการลดขยะโฟมบนถนนคนเดิน จึงเกิดโครงการ No Foam for Food การเปลี่ยนภาชนะโฟมเป็นภาชนะที่ย่อยสลายได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โครงการเล็กๆ เริ่มที่วัดพันอ้นก่อนโดยเจ้าอาวาสท่านเห็นดีด้วย
“ท่านขอความร่วมมือให้คนที่มาขายอาหารในวัด เลิกการใช้โฟมหรือพลาสติกและเปลี่ยนเป็นถ้วยชามชานอ้อย ใบตองหรือกระดาษแทน มีระบบแยกขยะจริงจัง คุณอ๊บก็ติดต่อไปยังเจ้าของบริษัทชานอ้อย Graze คือคุณหมอวีระฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ซึ่งคุณหมอก็ยินดีให้ราคาพิเศษโดยพ่อค้าแม่ค้าสามารถซื้อได้ในราคาลด 40%
“กลายเป็นราคาโนโฟมจนทุกวันนี้ก็ยังซื้อราคานี้ได้อยู่ และช่วยคิดระบบจัดส่งให้พ่อค้าแม่ค้าถึงที่ ต่อมาจากวัดพันอ้นได้ขยายเป็นถนนคนเดินทั้งเส้นและมีพี่ตุ๊กตา – สุวารี วงศ์กองแก้ว ผอ.หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ และพี่อิ๋ว – ลักขณา ศรีหงศ์ เครือข่ายเชียงใหม่เขียว สวย หอม พาไปหานายกเทศมนตรีเมืองเชียงใหม่ (คุณทัศนัย บูรณุปกรณ์) และชวนกันมาทำทั้งเส้นเพราะเริ่มต้นที่วัดพันอ้นแล้วสำเร็จ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติสนใจมาก เป็นแคมเปญที่ดี เป็นภาพลักษณ์ที่ดี และเชียงใหม่เป็นเมืองแรกที่ทำแบบนี้
“จากนั้นนายกเทศฯ เห็นด้วยก็ทำงานกับพี่ๆ เทศกิจ พี่ๆ เทศบาล ในทุกปีทำอยู่ 3 ปี มีการมอบป้ายและรณรงค์เชิงบวกด้วยการไม่ไปว่าคนที่ยังใช้โฟมอยู่ แต่ชื่นชมคนที่ยอมเปลี่ยน โดยมีการทำป้ายเล็กๆ “ร้านนี้ No Foam” และขอให้นายกเทศฯ เป็นคนเดินมอบ ทำอยู่ 3 ปี น่าชื่นใจที่เขาสามารถขายได้มากขึ้น เพราะคนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเยอะขึ้น การทานอาหารร้อนจากภาชนะโฟม ไม่ได้ทำให้คนเป็นมะเร็งในวันนี้พรุ่งนี้ เรื่องสิ่งแวดล้อมยิ่งไกลตัว การทำงานแบบนี้จึงยาก แต่ทำยังไงให้คนขายเขาไม่ต้องขยับตัวมาก มีการเปลี่ยนแน่นอน พ่อค้าแม่ค้าต้องจ่ายค่าชานอ้อยเพิ่มขึ้น
“แต่ผลที่กลับมาเขาอาจขายได้มากขึ้น ยั่งยืนขึ้นและในภาพใหญ่เขาคือคือผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น สำหรับผู้บริโภคก็ไม่ต้องทำเพื่อใครแต่ทำเพื่อตัวเอง การที่เรากินของที่มันสุขภาพดีขึ้น การจ่ายเพิ่ม 2 บาท 5 บาท คิดว่าทุกคนจ่ายได้ ซึ่งตอนนั้นมีทีมรักษ์ล้านนา ของครูเบิร์ท – ประสงค์ แสงงาม มาช่วยทำระบบจัดส่งภาชนะชานอ้อยให้พ่อค้าแม่ค้า”
จากถนนคนเดินที่ประสบความสำเร็จ “อรช” เริ่มหันจับงานสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ขึ้นที่มีครูเบิร์ททำอยู่ในนามภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาวทำกันมาเป็น 10 ปี เป็นการรับไม้ต่อจากรุ่นลุง ป้า น้า อา ตั้งแต่สมัยอาจารย์ศิริชัย นฤมิตรเลขการ และภาคีคนฮักเชียงใหม่ ซึ่งทำงานสิ่งแวดล้อมในหลายมิติ รวมถึงการคัดค้านกระเช้าขึ้นดอยสุเทพ ขึ้นดอยหลวงเชียงดาว และโครงการต่างๆ รวมถึงทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ที่รับจากชาวบ้านมาขายที่ร้านธรรมดา
ต่อมาเธออยากทำงานเชิงสร้างสรรค์ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ให้คน จึงเริ่มเปิดเพจ “เรารักดอยหลวงเชียงดาว” ให้คนมาบอกรักดอยหลวงกัน และยังไม่พูดถึงกระเช้า “พูดถึงแค่พืชพรรณ สัตว์ป่า ดอกไม้ แต่ถ้ากระเช้ามาค่อยมาทำ before and after แล้วกัน และอาจารย์รุ่นก่อนๆ เคยพูดไว้นานแล้วว่าถ้าต้องการให้ดอยหลวงเชียงดาวได้รับการคุ้มครองระยะยาวต้องยื่นขอเป็นมรดกโลก คุยกันมา 20 ปี
“และเป็นข่าวดีที่หัวหน้ามล – วิมลมาศ นุ้ยภักดี ที่เป็นคนดูแลพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา – คอกม้าและหัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ตะมาน ผลักดันเรื่องนี้จนเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้เสนอดอยหลวงเชียงดาวขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลต่อองค์การยูเนสโกในปี 2564 นี้ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีเพราะเมื่อมีร่มใหญ่มาครอบมันจะได้รับการคุ้มครองมากขึ้น และพื้นที่ชีวมณฑลมันไม่ใช่แค่พื้นที่พิเศษดอยเชียงดาวอย่างเดียว แต่มันหมายถึงชุมชน สังคมโดยรอบ
“เชียงดาวชาวบ้านแน่นแฟ้นและแข็งแรง แต่ยังมีปัญหาที่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยภาคีทำงานเชิงบวกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ 2 ปีที่แล้วเกิดไฟป่าหนักๆ ขึ้นทุกยอดดอยที่บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวและอุทยานแห่งชาติผาแดง และเป็นป่าต้นน้ำ เราอาจจะไม่เห็นความเชื่อมโยงหรอก แต่มันต้องเชื่อมกัน เพราะปิง วัง ยม น่าน น้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยา และไปออกทะเล ทุกคนต้องได้ประโยชน์จากมัน น้ำที่เรากิน อากาศที่เราหายใจ
“ก็เลยรู้สึกว่า เราต้องช่วยกันเป็นฟันเฟืองทุกคน เราจึงมีทีมที่เชียงดาว ทีมที่เชียงใหม่และพี่ๆ ที่ปรึกษาอีกหลายท่าน เป็นโมเดลความร่วมมือที่ยื่นความถนัดมากันคนละมือและทุกโปรเจกต์ไม่ต้องทำพร้อมกันทุกคน ใครเป็นผู้นำโปรเจกต์ไหนก็ทำไปและเราก็ช่วยกัน
“ทีมพื้นที่เชียงดาวก็ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ พี่แหม่ม – ศรัญญา กิตติคุณไพศาล เป็นเครือข่ายเจียงดาว ออร์แกนิก มีสวนบัวชมพู ณ จอมคีรีที่ส่งเสริมชาวบ้านเปลี่ยนจากพืชเชิงเดี่ยวมาปลูกพืชออร์แกนิก ซึ่งจะแก้ปัญหาไฟป่าในระยะยาวเพราะไม่ต้องเผาเตรียมพื้นที่ปลูกใหม่
“เราทำงานใกล้ชิดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์เชียงดาว กับอุทยานแห่งชาติผาแดง สถานีดับไฟ สถานีวิจัยสัตว์ป่าเชียงดาว รวมถึงนายอำเภอ เทศบาล ท้องถิ่น และชุมชน”
นอกจากนี้แล้วทางภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาวยังร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว และบริษัท นาดาว บางกอก จำกัด สร้างภาพยนตร์สารคดี เรื่อง HANGOVER THAILAND ตอน เชียงดาว Nature Reconnect (ออกอากาศตอนแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 9 มกราคม 2564) ซึ่งได้ ต่อ – ธนภพ ลีรัตนขจร อัด-อวัช รัตนปิณฑะ กันต์ ชุณหวัตร และเบลล์ เขมิสรา พลเดช มาร่วมเดินทางศึกษาธรรมชาติที่ดอยหลวงเชียงดาวไปด้วยกัน
การท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบเป็นเรื่องสำคัญ? “เรากำลังพูดถึงดอยหลวงเชียงดาวที่โดนไฟป่าและปิดไปปีกว่า และกำลังเปิดใหม่ ดอยหลวงเชียงดาวเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลของยูเนสโกและเป็นพื้นที่ core area (พื้นที่คุ้มครอง) ซึ่งปกติจะไม่ให้คนเข้าเลย แต่พอจะให้คนเข้าจะต้องเข้าแบบไหน
เราเตรียมอุปกรณ์พร้อมทุกอย่าง แต่เราไม่ได้เตรียมใจ ในภาพยนตร์เรื่องนี้เราจะเปิดสัมผัสกับธรรมชาติก่อน แล้วก็ทำให้คนเริ่มรู้สึกว่าเราจะเข้าไปในธรรมชาติที่เปราะบางด้วยท่าทีแบบไหน….”
“เรื่องการทำงานสิ่งแวดล้อมมีหลายมิติ เราทำในสิ่งที่เราถนัด งานสิ่งแวดล้อมเป็นงานไม่ได้ตังค์ (เงิน) เพราะฉะนั้นทำแล้วต้องมีความสุข ไม่งั้นทำไม่ได้ และต้องไม่เบียดเบียนตัวเอง คือทำได้จนถึงจุดพอดี ถ้ามากกว่านี้อาจจะลำบาก เช่น ช่วงไฟป่าปีที่แล้วก็นั่งระดมทุนในนามภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาวอยู่ที่บ้าน ซึ่งได้เงินมาก้อนใหญ่เหมือนกันและใช้ทั้งปี เพื่อสนับสนุนเขตรักษาพันธุ์ฯ อุทยานฯ หมู่บ้าน การดับไฟหน้างานช่วงฤดูไฟสำคัญ
“แต่นอกฤดูไฟสำคัญมากกว่าเพราะจะช่วยลดการเกิดไฟในฤดูถัดมา ระหว่างปีเชียงดาวทำงานเข้มแข็งมาก งบประมาณที่ระดมทุนมาได้ ทางภาคีได้มีการรายงานในเพจตลอดว่าใช้จ่ายไปเท่าไหร่อย่างไร จนก้อนสุดท้ายเอาไปสนับสนุนเป็นกองทุนไฟป่าฝุ่นควันของหมู่บ้าน 20 กว่าหมู่บ้านที่พี่ๆ น้องๆ ภาคีขับรถเอาไปให้เองเพื่อสร้างความสัมพันธ์ เป็นกำลังใจและเป็นเงินก้นถุง
“แต่หลังจากนี้จะพยายามช่วยเติมและขยายผล เช่น รับผลผลิตเกษตรอินทรีย์ไปขายให้ได้ราคาดีขึ้นจากที่เขาขายเอง ภาคีทำงานหลายมิติจึงไม่ได้ช่วยไฟป่าครั้งหนึ่งแล้วจบไป ภาคีทำงานใกล้ชิดกับกับหัวหน้าประกาศิต ระวิวรรณ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ฯ ขณะนั้นซึ่งปัจจุบันย้ายไปเป็นหัวหน้าอุทยานฯ ผาแดง ซึ่งอยู่ติดกัน และเขตรักษาพันธุ์ฯ ได้หัวหน้าวุฒิชัย โสมวิภาต ซึ่งยังคงขับเคลื่อนและทำงานกันต่อเนื่อง ในปี 2562 ภาคีก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการของเขตรักษาพันธุ์ฯ ซึ่งถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ดีของภาคประชาชน
“ในส่วนรายละเอียดของของบริจาคช่วยเหลือช่วงเกิดไฟป่า เราจะลิสต์ไว้ว่าควรเป็นอะไรบ้างว่าสิ่งใดจำเป็น สิ่งใดไม่ได้ใช้ ถ้าคนมีเจตนาดีและเขาอยากให้ เขาแค่ขยับตัวนิดเดียวในการเลือก เช่น เครื่องกระป๋องไม่ควรเพราะมันหนัก เจ้าหน้าที่ไม่เอาเข้าไป สิ่งที่ง่ายที่สุดมีข้าวเหนียวห่อใบตองมีหมูทอด ไข่ต้ม น้ำพริก พกง่าย อิ่มท้อง
“เราคิดกันว่ามีคนบริจาคน้ำขวดเป็นจำนวนมาก แต่ขวดน้ำใช้แล้วจะทำอย่างไร หรือเรื่องการจัดการอาหาร พี่ๆ แม่บ้านในชุมชนแก้ปัญหาด้วยการตั้งโรงทานที่หน้าป่าเลย แต่ของที่เอาเข้าไปก็เป็นขยะอยู่ดี แม้จะเป็นภาชนะชานอ้อย จึงได้พอเห็นเรื่องปัญหาขยะจากปีที่ผ่านมา จึงขอให้เจ้าหน้าที่ใช้กล่องที่นำมาล้างได้ รวมทั้งกระบอกน้ำสแตนเลส ซึ่งมีน้องจี – จีระนันท์ ภูมิวัฒน์ น้องในภาคีช่วยจัดการเรื่องจัดซื้อ
“โดยไปเชื่อมกับอาจารย์อาร์ม – ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย กลุ่ม Trash Hero ที่รณรงค์เรื่องขยะทะเลและทำกระบอกน้ำสแตนเลสอยู่ที่ปัตตานี และขอซื้อในราคาพิเศษ 200 กระบอกและกล่องล็อคแอนด์ล็อกก็ซื้อมาในราคาพิเศษ 400 กล่อง ให้เจ้าหน้าที่ไว้ประจำตัว และเขาต้องนำออกมาคืน โดยมีแม่บ้านอาสาช่วยล้างและทำกับข้าวใส่ให้ใหม่ ซึ่งเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องทำให้ครบทุกมิติ ไม่อย่างนั้นพอดับไฟป่าปุ๊บถ้ามีขยะกองโตมันก็ไม่ถูกต้อง เราก็ต้องตามไปเก็บขยะกันอีก
“พูดถึงเรื่องขยะ ภาคีมีกลุ่มเยาวชนเขียวสดใสที่พี่แหม่มดูแลเขาก็ร่วมกับลูกหาบและเจ้าหน้าที่เข้าไปตามเก็บขยะทุกปีบนยอดดอยหลวงเชียงดาวหลังปิดฤดูท่องเที่ยว เราจึงต้องทำให้ครบไม่งั้นมันจะเป็นปัญหาแบบนี้ไปเรื่อยๆ
ย้อนมาถามที่มาของภาพยนตร์เรื่อง เชียงดาว Nature Reconnect เธออธิบายว่า “ทางภาคีมีความคิดว่าตั้งแต่ช่วงไฟป่าและจะประกาศปิดดอยหลวงเราได้ทำคลิปแชร์ในเพจให้เห็นความเสียหาย โดยส่งช่างภาพขึ้นไปเก็บภาพ ซึ่งเห็นดอยทุกดอยไหม้ดำหมดเลย ยังมีเขม่าอยู่ เรานำภาพมาสื่อสารและมีแฮชแท็คให้ดอยหลวงเชียงดาวได้พักฟื้นและรณรงค์ซึ่งการจะปิดเป็นเรื่องใหญ่ เพราะมีคนมีรายได้จากการท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติบนดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งเปิดมา 20 ปี
“เราจึงรณรงค์ให้ธรรมชาติได้พักฟื้น โดยมนุษย์ไม่ไปยุ่งดีที่สุด พอหลังจากนั้นผ่านมาปีกว่า เราต้องทำอะไรอีกสักอย่างก่อนจะเปิด เพราะมีสิ่งที่เสียหายถาวร ดอยเชียงดาวมีพืชเฉพาะถิ่น 50 กว่าชนิดที่มีที่เดียวในโลกไม่มีที่อื่นแล้ว ที่นี่มีความหลากหลายสูงมาก ถ้าในประเทศไทยมีพืชพันธุ์ 100 ชนิด จะอยู่ที่เชียงดาว 20 ชนิด
“การที่เราเข้าไปพื้นที่เปราะบางเราจะใช้มุมมองแบบไหน ใช้หัวใจแบบไหน และเรื่องไฟป่าคือการเปลี่ยนคน เพราะไฟป่า 99.8% เกิดจากคน ไม่ใช่ธรรมชาติ เราจึงค่อยๆ ทำ คนในพื้นที่ก็เปลี่ยนคนในพื้นที่ เราเป็นคนนอกก็เปลี่ยนคนนอกพื้นที่ เพื่อให้เขาเห็นมุมมองบางอย่าง เราตัวเล็กๆ เสียงไม่ดัง ในยุคนี้ต้องใช้คนเสียงดังพอสมควร จึงชวนต่อ – ธนภพ ลีรัตนขจร ซึ่งสำหรับเราไม่ใช่นักแสดงสายกรีน แต่ดูจริงจัง ทุ่มเท มาร่วมโปรเจกต์ด้วย
“เพราะถ้าชวนคนดังสายกรีน ก็จะมีแฟนๆ สายกรีนอยู่กลุ่มเล็กๆ เท่านั้น แต่ถ้าเราเปิดให้คนอีก 99% ที่เขาสนใจเรื่องอื่นมาสนใจเรื่องธรรมชาติได้น่าจะสื่อสารได้กว้างขึ้น เมื่อต่อตอบตกลง และพี่ย้ง – ทรงยศ สุขมากอนันต์ ทราบ จึงเสนอมาร่วมด้วยช่วยกัน เป็นโปรเจกต์ CSR ด้านสิ่งแวดล้อมของ บริษัท นาดาว บางกอก จำกัด
“โดยเราได้ถ่ายทำไปเมื่อตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่มีการเปิดดอยหลวงเชียงดาว ได้ทำหนังสือขออนุญาตกรมอุทยานฯ โดยเชิญหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเชียงดาว หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ตะมาน ซึ่งเป็นคนทำเรื่องพื้นที่สงวนชีวมณฑลของยูเนสโก หัวหน้าสถานีวิจัยต้นน้ำเชียงดาว และหัวหน้าหอพรรณไม้ไปร่วมให้ความรู้ด้วย ซึ่งใช้เวลาถ่ายทำอยู่ 3 วันตั้งแต่การเปิดสัมผัสกับธรรมชาติ ไปจนถึงการเดินขึ้นดอยหลวงเชียงดาว
“สิ่งที่เราอยากจะสื่อสาร นอกจากท่าทีการเข้าไปในธรรมชาติที่เปราะบางแล้ว เราอยากจะให้เห็นการทำงานของคนกลุ่มเล็กๆ เจ้าหน้าที่ทั้งหลายที่ทำมันทุกวัน ไปดูไปเรียนรู้ไปศึกษาวิจัย ทำให้มันดีขึ้น อย่างเช่น หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าแกเล่าให้ฟังว่ากว่าแกจะปล่อยเลียงผาเข้าสู่ธรรมชาติได้ 6 ตัวต้องใช้เวลาครึ่งปี ความทุ่มเทเขาเยอะมาก ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่ทำด้านนี้ทั้งประเทศหรือทั้งโลก
“เราอยากให้เรื่องเหล่านี้ได้สื่อสารออกไป อย่างน้อยคนที่คิดทำลายธรรมชาติจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เขาจะได้คิดว่ามีคนกลุ่มเล็กๆ เขาทำงานอยู่ทุกวัน แก้กันอยู่
“ท้ายที่สุดแล้ว มันเป็นสิ่งที่ดีที่เราทำกระบวนการเรียนรู้ธรรมชาติกับคนกลุ่มเล็กๆ อย่างน้องๆ นักแสดง และทีมงานของนาดาวเอง แต่เขามีพลังที่จะพูดต่อไปได้ในวงกว้าง ตั้งใจทำให้เป็นต้นแบบของการท่องเที่ยวธรรมชาติอย่างรับผิดชอบ อย่างน้อยๆ หากคนที่จะขึ้นดอยหลวงเชียงดาว 150 คน/วัน ได้ดูภาพยนตร์นี้แล้วเปลี่ยนท่าทีต่อธรรมชาติสัก 20 คน เราก็ดีใจแล้ว
“และกระบวนการเหล่านี้ มันไปทำที่ไหนก็ได้ ในสถานที่ธรรมชาติอื่นๆ เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่การเชิญชวนคนขึ้นดอยหลวงเชียงดาวเท่านั้น นอกจากนี้ เราจะสื่อสารเรื่องเกษตรอินทรีย์ด้วยเพราะเป็นป่าต้นน้ำ คือพื้นที่ต้นชีวิตของพวกเรา ถ้าเป็นสารเคมีทุกคนที่ปลายน้ำจะได้รับเช่นกัน”
อีกบทบาทหนึ่ง “อรช” เป็นผู้แทนสำนักภาคเหนือของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB ซึ่งมีโครงการ Farm to Function เชื่อมเครือข่ายผู้ประกอบการ โรงแรม ร้านอาหาร กับเครือข่ายผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ โดยใช้กิจกรรมไมซ์ (MICE) เข้ามาขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
“เช่น การประชุมสัมมนาวิชาการ การจัดเวิร์คชอป การได้พื้นที่ต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์ให้คนมาเรียนรู้ ให้เชฟมาลงพื้นที่แปลงเข้าพื้นที่ป่าผลผลิตมาทำเมนูใหม่ๆ หยิบผักพื้นบ้านออร์แกนิกตามฤดูกาลมาขึ้นเป็นเมนูแปลกใหม่ เราอยากเห็นเชียงใหม่มีปฏิทินอาหารออร์แกนิกตามฤดูกาล นักท่องเที่ยวไม่ได้มาตามปฏิทินประเพณีวัฒนธรรมอย่างเดียว เช่น มายี่เปง สงกรานต์ แต่มาเรื่องอาหาร อย่างเช่น ช่วงเห็ดป่าออก ผักพื้นบ้าน อโวคาโด สตอเบอร์รี่ และสิ่งเหล่านั้นจะเชื่อมกับคนได้อย่างไร
“จึงโปรโมทว่ากินอินทรีย์อร่อยกว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมอาจจะไกลตัว เรื่องสุขภาพคนก็ยังกินของไม่มีประโยชน์อยู่ แต่อร่อยกว่า ขายเชฟได้ด้วย เพราะพอพาเชฟไปทุกคนมั่นใจจริงๆ ว่าอินทรีย์อร่อยกว่า เพราะมันได้รสชาติของธรรมชาติจริงๆ พอเขาไปใช้มันไม่ต้องเด็ดทิ้งสักใบ เก็บได้ 10 วัน เหล่านี้คือการขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ขยายผลไปในวงกว้างได้มากขึ้นอีก”