กสศ.สมานบาดแผลทางใจ
ดึงเด็กนอกระบบเข้าถึงทุนการศึกษา

by IGreen Editor

อุปสรรคใหญ่ที่ทำให้เด็กหลุดนอกระบบการศึกษา นอกเหนือจากปัญหาความยากจนแล้ว ยังมีอีกขวากหนามคือ “บาดแผลทางใจ” หรือ “Trauma” ที่เด็กเคยประสบเหตุการณ์ร้ายในอดีตตามหลอกหลอนรบกวนจิตใจจนไม่อาจใช้ชีวิตได้ตามปกติ จากการถูกกระทำจนกลายเป็น “ความเครียดที่เป็นพิษ” บ่อนทำลายร่างกายจนระบบรวน

เด็กบางรายโชคร้ายพอโตเป็นผู้ใหญ่กลายเป็นคนขี้โรค (โรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs) เช่น เบาหวาน หัวใจ มะเร็งจากการเสพยา ติดเหล้า ติดบุหรี่ ฯลฯ บางรายถึงขั้นเสียสติหลุดโลกคิดสั้นฆ่าตัวตาย หรือบางรายเลือกใช้สารเสพติดเป็นทางออกเพื่อบำบัดความเจ็บปวดทางใจที่ถูกกระทำเมื่อวัยเด็ก จึงทำให้เด็กตกอยู่ในวังวนอบายมุขประชดชีวิตด้วยการใช้ชีวิตเสเพล

ดังนั้นการให้ทุนการศึกษาและพัฒนาทักษะอาชีพเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอในการช่วยเหลือเด็กนอกระบบการศึกษาเหล่านี้ให้กลับคืนสู่สังคมหรือกลับสู่ระบบการศึกษาปกติได้แต่จำเป็นต้องได้รับการปฐมพยาบาลบาดแผลทางใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่ “ครูพี่เลี้ยง” หรือ “ครูเด็กนอกระบบ” ภายใต้โครงการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา โดยการสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จำเป็นต้องคำนึงถึงเมื่อเข้าถึงตัวเด็ก

ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่า “เครื่องมือ” ในการทำงานกับเด็กนอกระบบการศึกษาที่สำคัญอันดับแรกที่ครูพี่เลี้ยงต้องตระหนัก คือ ต้องเข้าใจก่อนว่า “บาดแผลทางใจ” หรือ “Trauma” แบ่งออกได้ 3 ประเภท คือ 1.ระหว่างบุคคล 2.อุบัติเหตุร้ายแรง และ 3.เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ทั้ง 3 แบบ บาดแผลทางใจมีระดับความเจ็บปวดหนักเบาแตกต่างกัน

บาดแผลทางใจระหว่างบุคคลโหดร้ายสุดขีดและมีดีกรีความเจ็บปวดยากจะลืมเลือนได้ง่าย คือปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศโดยบุพการี หรือคนใกล้ชิด การถูกทำร้ายทุบตีจากคนในครอบครัว ถูกดุด่าว่ากล่าวให้เจ็บช้ำน้ำใจ หรือถูกกลั่นแกล้งจนกลายเป็นฝันร้ายไปตลอดชีวิต ภาพหลอนในอดีตพร้อมจะผุดขึ้นมาได้ทุกเมื่อ ซึ่งเด็กแต่ละคนมีความสามารถในการตั้งรับหรือมีภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ผู้ปกครอง

บางครอบครัวเลี้ยงลูกแบบ “บอนไซ” บังคับขู่เข็ญให้ทำตามคำสั่ง บางครอบครัวเลี้ยงลูกแบบ “เทวดา” ตามใจเกินขอบเขต หรือบางครอบครัวเลี้ยงลูกแบบ “พอดี” ไม่ละเลยหรือทอดทิ้งมุ่งค้นหาศักยภาพเด็กแล้วส่งเสริมสนับสนุนให้ไปได้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นการเลี้ยงดูเอาใจใส่จากครอบครัวจะช่วยทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดี

อนุภาคความรุนแรงของบาดแผลทางใจมีดีกรีต่างกันตั้งแต่ระดับอ่อน ๆ เครียดเหม่อลอยไปจนถึงระดับ “แยกตัว” ไม่เข้าสังคม หรือ “Dissociation” ด้วยการสร้างตัวตนใหม่ หรือมีมโนสำนึกแปลก ๆ มีหลายบุคลิกในคน ๆ เดียว ยกตัวอย่างเช่น ฆาตกรต่อเนื่องที่จับผู้หญิงมาทรมานก่อนลงมือฆ่าจะให้เหยื่อสวมเสื้อผ้าที่คล้ายกับเสื้อผ้าแม่ตัวเอง แรงจูงใจเกิดจากบาดแผลทางใจที่ฆาตกรโรคจิตคนนี้เคยถูกแม่แท้ ๆ ทำร้ายทุบตีตั้งแต่เด็ก จนกลายเป็นความอาฆาตพยาบาทเพศตรงข้าม จึงเลือกวิธีบำบัดความเจ็บปวดบาดแผลทางใจด้วยการ ฆ่าผู้หญิงระบายแค้นที่เคยถูกแม่ตัวเองทำร้าย

อย่างไรก็ตาม ความเจ็บปวดทางใจโผล่มาในหลากหลายรูปแบบ อาจเป็นภาพย้อนอดีต สมาธิเสีย ความบกพร่องทางร่างกาย เช่น กินไม่ได้นอนไม่หลับ มีพฤติกรรมแปลกประหลาดไปจากคนปกติ เช่น หญิงสาวรายหนึ่งเข้าขั้นคลั่งติดน้ำหอมชโลมตามร่างกายตลอดเวลา ทั้ง ๆ ที่เนื้อตัวสะอาดสะอ้าน แต่เป็นเพราะปมทางใจในอดีตเธอเคยถูกหลอกบังคับให้ขายบริการทางเพศในสลัมโสโครก ประสาทสัมผัสรับกลิ่นของเธอจิตนาการไปไกลว่าได้กลิ่นคาวกามและน้ำครำติดตามตัว เธอสลัดความรู้สึกขยะแขยงด้วยการอาบน้ำหอมทั่วร่างกายเพื่อเป็นการบำบัด

หรือกรณีเหยื่อเด็กผู้หญิงคนหนึ่งถูกพ่อแท้ ๆ ล่วงละเมิดทางเพศซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่หลายปี ด้วยการบังคับให้เธอทำออรัลเซ็กซ์ แม้วันเวลาผ่านไปและพ่อของเธอเสียชีวิตไปนานแล้ว แต่ภาพจำในอดีตตามากวนใจเธอในลักษณะรู้สึกสะอิดสะเอียดที่ช่องปาก เธอต้องดื่มน้ำอัดลมที่มีรสหวานตลอดเวลาเพื่อกลบความรู้สึกในปากที่คล้าย ๆ ว่าจะมีน้ำกามเปื้อนอยู่ การดื่มน้ำหวานช่วยบำบัดได้ แต่ผลร้ายที่ตามมา คือ เธอกลายเป็นโรคเบาหวานและโรคอ้วนจนมีน้ำหนักตัวเกิน ไม่สามารถเดินหรือยืนได้ จนต้องนั่งรถเข็นไปตลอดชีวิต

เมื่อเข้าถึงตัวเด็กที่มีบาดแผลทางใจ “ครูพี่เลี้ยง” ต้องรีบปฐมพยาบาลและสมานแผลทางใจก่อนเป็นอันดับแรก ไม่เช่นนั้นเด็กเหล่านี้จะสูญเสีย “เครือข่ายสังคม” หมดสิ้นความไว้ใจพื้นฐาน มีความหวาดระแวง ไร้จุดมุ่งหมายในชีวิต แปลกแยกปลีกตัวไม่เข้าสังคม มองโลกในแง่ร้าย นี่คือขวากหนามสำคัญที่ทำให้เด็กหลุดออกนอกระบบ ดังนั้นวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ครูพี่เลี้ยงควรจดจำ คือ การทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยก่อน จากนั้นจึงพาเด็กเข้าสู่กระบวนการบำบัด

ตามหลักจิตวิทยา EMDR ถือเป็นวิธีปฐมพยาบาลบาดแผลทางใจขั้นพื้นฐานที่ได้รับความนิยม อุปมาได้กับการรับประทานอาหารเข้าแต่ร่างกาย แต่ไม่ย่อยขับถ่ายออกมา เช่นเดียวกับประสบการณ์ร้าย ๆ ในอดีตที่ตกค้างอยู่ในจิตใจ แม้วันเวลาผ่านไปหลายสิบปีกลับไม่ย่อยสลายไปตามกาลเวลา EMDR เข้ามาช่วยจัดระเบียบความทรงจำใหม่ โดยการให้ผู้ป่วย “นึกถึง” บาดแผลทางใจในอดีต โดยไม่จำเป็นต้อง “เล่า” ออกมาเพราะยิ่งเล่าอาจยิ่งซ้ำเติมบาดแผล ขณะนึกถึงภาพร้ายในอดีตให้เคลื่อนไหวดวงตาไปมา ตามหลักจิตวิทยาระหว่างกรอกตาไปมาสมองจะจัดระเบียบความทรงจำโดยอัตโนมัติและเขี่ยความทรงจำร้าย ๆ ให้หลุดออกไป

สิ่งสำคัญคนใกล้ชิดต้องไม่ไปขุดคุ้ยหรือซ้ำเติมความผิดพลาดในอดีต แต่ต้องดึง “พลังเชิงบวก” ของเด็กออกมาให้ได้มากที่สุด โดยครูพี่เลี้ยงต้องทำตัวเหมือน “โค้ช” คอยสมานแผลด้วยการหาจุดเด่นแล้วคอยเสริมและเติมกำลังใจให้เด็กรู้สึกปลอดภัย

ในที่สุดบาดแผลทางใจของเด็กจะค่อย ๆ สมานจนหายสนิทสามารถกลับคืนสู่ระบบการศึกษา ได้รับการพัฒนาจนหลุดพ้นจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการศึกษาในที่สุดกลายเป็นคนใหม่ที่มีชีวิตและอนาคตสดใส

Copyright @2021 – All Right Reserved.