ชวนคิดเรื่องคลอง
กับการสร้างอุโมงค์แก้น้ำท่วม

by IGreen Editor

โดย – ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

เมื่อเช้าดูข่าวว่า กทม. เรากำลังสร้างอุโมงค์ขนาดใหญ่ที่จะใช้ในการระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ของ กทม. ค่าก่อสร้างก็สูงมากโขอยู่ ดูไปก็คิดไปว่าเรากำลังพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนหรือเปล่า?

ย้อนคิดไปถึงวันวานที่บางกอกเป็น “เวนิสตะวันออก” แม่น้ำลำคลอง ลำประโดง และลำรางต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย ถือเป็นเส้นเลือดของแผ่นดิน เป็นทางคมนาคม เป็นแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกรรม เป็นแหล่งอาหาร เป็นที่พัก เป็นทางระบายน้ำ เป็นตลาด เป็นสถานที่นันทนาการ และเป็นอีกหลายอย่างใน “วิถีชีวิต” ของคนบางกอก

เมื่อเด็กๆ ผู้เขียนเองก็ได้ใช้คลองในทุกมิติที่กล่าวมา โดยเฉพาะการเล่นน้ำในคลอง การตกปลาไปให้แม่ทำกับข้าว ไขน้ำเข้าสวนมาใช้ทำสวนเป็นอาชีพ

ตอนนั้นยังไม่มีคำเก๋ๆ อย่างความหลากหลายทางชีวภาพ แต่เด็กริมคลองอย่างพวกผมเข้าใจมัน โดยไม่ต้องท่องจำว่าในคลองมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตอย่างไร

แต่การพัฒนาบ้านเมืองในเวลาต่อมาทำให้แม่น้ำลำคลอง ลำประโดง และลำราง เหล่านี้หายไปพร้อมกับความทรงจำของชาวโลกเกี่ยวกับเวนิสตะวันออก ถนนหนทางและบ้านเรือนผุดขึ้นมาแทนที่จนแน่นไปหมด ความสูงต่ำของพื้นที่ก็เปลี่ยนไปเพราะการถมที่ ถมคลอง กระทั่งเวลาฝนตกลงมา น้ำไม่รู้จะไหลไปไหน ท่วมขังจนเดือดร้อนกันทั่ว

จนต้องสร้างอุโมงค์ยักษ์ขึ้นมาสำหรับระบายน้ำ

แต่อุโมงค์มันใช้ระบายน้ำได้อย่างเดียวนะครับ มันใช้คมนาคมไม่ได้ มันเก็บกักน้ำไว้ใช้ไม่ได้ มันใช้เป็นแหล่งอาหารไม่ได้ เป็นตลาดก็ไม่ได้ เป็นสถานที่นันทนาการก็ไม่ได้

แต่คลองนี่ multipurpose ตามที่กล่าวไว้แล้ว ถ้าลงทุนฟื้นฟูคลอง ขยายคลอง ฟื้นฟูลำประโดง ลำรางที่มีอยู่ มันจะคุ้มกว่าไหม เพราะมันใช้ได้หลายอย่าง หรือจะขุดคลองใหม่เลยจะยั่งยืนกว่าไหม เพราะมันไม่ได้ใช้ระบายน้ำอย่างเดียว

ก็ชวนคิดเล่นกันครับ

Copyright @2021 – All Right Reserved.