Opinion: เอนิเมชั่น
คืออาวุธต่อสู้โลกร้อนที่ถูกมองข้าม

by IGreen Editor

เดือนนี้ Netflix นำเอนิเมชั่นของค่ายสตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli ) มาฉายเกือบยกค่าย เป็นการแก้เกมส์ทางการตลาดที่หวุดหวิดที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะโปรดักชั่นค่ายใหญ่ๆ หันมาทำแพล็ตฟอร์มของตัวเอง แล้วยกเลิกสัญญากับ Netflix หรือไม่ก็ Netflix สูญเสียสัญญาซีรีส์ดังๆ ไป

อดคิดไม่ได้ว่าปีนี้อาจเป็นจุดเริ่มของทางตันของ Netflix แต่ในที่สุดก็แก้เกมสำเร็จด้วยเอนิเมชั่นของสตูดิโอจิบลิ ทำให้บางคนที่คิดจะไม่ใช้บริการต่อจึงต้องดูต่อไป อย่างน้อยก็จนกว่าจะเบื่อการ์ตูนของสตูดิโอจิบลิ

แล้วสตูดิโอจิบลิเกี่ยวอะไรกับปัญหาสิ่งแวดล้อม?

หลายคนคงจะไม่สังเกตว่า งานส่วนใหญ่ของค่ายนี้สะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อม ถือเป็นงานที่ล้ำสมัยเอามากๆ โดยเฉพาะงานจากทศวรรษที่ 80 เช่น Nausicaä งานจากทศวรรษที่ 90 เช่น Princess Mononoke และ Ponyo จากทศวรรษที่ 2000

Nausicaä หรือ ดูเหมือนจะเอ่ยถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตรงไปตรงมาที่สุด และก่อนการมาถึงของยุคโลกร้อน

Nausicaä สร้างขึ้นก่อนที่จะมีการตั้งสตูดิโอจิบลิ (แต่เราหลายคนอยากจะรวมเอนิเมชั่นในดวงใจนี้ไว้เป้นผลงานของสตูดิโอด้วย) ฉากหลังของเรื่องคือโลกหนึ่งพันปีหลัง “วันแห่งไฟเจ็ดวัน” ซึ่งเป็นสงครามล้างโลกที่ทำลายอารยธรรมและสร้างป่าพิษอันกว้างใหญ่ ในป่าเต็มไปด้วยแมลงยักษ์กลายพันธุ์

เด็กสาวที่ชื่อ Nausicaä เป็นเจ้าหญิงแห่งหุบเขาแห่งสายลม มักจะไปสำรวจป่าและสื่อสารกับสิ่งมีชีวิตกลายพันธุ์ เพราะเธอหวังว่าจะเข้าใจป่าพิษ และหาหนทางสำหรับที่จะทำให้มนุษย์กับสัตว์และป่าที่ถูกทำลายสามารถอยู่ร่วมกันได้

มีผู้ตีความแนวคิดของเรื่องนี้เอาไว้ในทางเดียวกัน คือการต่อต้านสงคราม (ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของผลงานหลายเรื่องจากสตูดิโอจิบลิ) แนวคิดวิถียั่งยืนระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย บางคนตีความเชื่อมโยงแนวคิดสันติวิธีของพุทธศาสนากับการอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตต่างเผ่าพันธุ์อย่างสันติ และมีผู้ตีความเรื่องนี้ไม่มีตัวร้าย มีแต่การชี้นำให้เราเห็นถึงผลของการกระทำที่เลวร้าย

มีเรื่องนี้ศัพท์แสงและสัญลักษณ์หลายคำหลายตัวยังสะท้อนแนวคิดชินโต ศาสนาท้องถิ่นของญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญเรื่องสมดุลธรรมชาติ และบูชาธรรมชาติในฐานะที่ประทับของเทพเจ้า และเคารพสัตว์ในฐานะพาหนะเทพเจ้าหรือแม้สัตว์ในฐานะต่างจำแลงของเทพเจ้า คำบางคำในเรื่องนี้จึงสะท้อนความผูกพันของมนุษย์กับสปีซีส์อื่นๆ เช่น Nausicaä เรียกแมลงว่า “เด็กดี”

Melanie Chan ตีความว่า ป่าที่เป็นพิษนั้นได้รับแรงบันดาลใจจากการ กรณีการปล่อยปรอทเมธิลลงสู่อ่าวมินามาตะในญี่ปุ่นเมื่อปี 1950 ซึ่งทำให้พื้นที่กลายเป็นพิษและทำให้ผู้คนล้มป่วย โดยเฉพาะเด็กที่เกิดมาจะป่วยเป็นโรคมินามาตะ คือมีอาการวิกลจริตอย่างอ่อนๆ แขนขาเคลื่อนไหวลำบาก มีการกระตุกตัวแข็ง แขนขาบิดงออย่างรุนแรง

จะว่าไปแล้ว อ่าวมินามาตะก็คือป่าพิษ และโรคมินามาตะคือแมลงกลายพันธุ์นั่นเอง นี่คือหนึ่งในตราบาปของการพัฒนาอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในยุคหลังสงคราม

Chan ชี้ว่าใน Nausicaä ความเป็นพิษของต้นไม้ได้วิวัฒนาจนกระทั่งมันกลายเป็นตัวชำระล้างโลกที่ปนเปื้อนมลภาวะที่มนุษย์ก่อขึ้น แต่ขณะเดียวกันการชำระล้างนี้จะทำให้มนุษย์ต้องสูญพันธุ์ไป ราวกับว่าธรรมชาติสร้างกลไกที่จะทำลายศัตรูตัวฉกาจที่สุด คือมนุษยชาติ เพราะธรรมชาติสามารถอยู่ได้โดยปราศจากมนุษย์ แต่มนุษย์อยู่ไม่ได้หากปราศจากธรรมชาติ

ไม่น่าแปลกใจที่เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายในปี 1984 องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) จึงแนะนำให้เป็นภาพยนต์ที่ต้องชม

ผ่านมา 36 ปีแล้วที่ Nausicaä ออกฉาย และเป็นปีแรกที่มันปรากฎตัวในแพลตฟอร์มออนไลน์ มันก็ยังเป็นเอนิเมชั่นระดับตำนานที่พูดถึงวิถียั่งยืนและสันติภาพระหว่างสปีซีส์ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง

อ้างอิง
Chan, Melanie. 2015. “Environmentalism and the Animated Landscape in Nausicaä of the Valley of the Wind and Princess Mononoke”. In The Animated Landscape, edited by C. Pallant, p. 93-108. Bloomsbury.

Copyright @2021 – All Right Reserved.