แม้การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 25 (COP 25) จะต้องย้ายสถานที่ประชุมอย่างกะทันหันจากกรุงซานดิอาโก ประเทศชิลีไปประชุมกันที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน แต่กำหนดการยังคงเป็นไปตามเดิม คือระหว่างวันที่ 2-13 ธันวาคม พ.ศ. 2562 วาระการประชุมต่าง ๆ ก็ยังคงเดินหน้าตามแผนการเดิม รวมทั้งชีลียังทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพเหมือนเดิม
สำหรับกรอบท่าทีการเจรจาของประเทศไทยฉบับทางการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อยู่ระหว่างการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยจะยังคงยึดตามหลักการภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ เพื่อมุ่งสู่ประโยชน์ของประชาคมโลกในการควบคุมอุณหภูมิโลก ไปพร้อมกับประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงขีดความสามารถในระดับที่แตกต่างกันของประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา
อย่างไรก็ดี เป้าหมายเดิมของไทยคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยยังไม่มีการปรับเป้าหมายใหม่ เนื่องจากในการปรับเป้าแต่ละครั้งจะต้องใช้เวลาในการศึกษาและพิจารณาผลกระทบกับด้านอื่น ๆ ที่จะตามมา ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย
กล่าวคือจะต้องพิจารณาให้มีความรอบคอบ จะต้องเป็นการปรับที่พอรับไหว ทำให้ประเทศยังสามารถเติบโตทางเศรษฐกิจ มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าและไม่เป็นอุปสรรคต่อภาคการลงทุนและการสร้างงานของประเทศ
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในหลักการสำคัญในการเจรจาครั้งนี้ก็คือหลักของความเป็นธรรม ความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างกันโดยคำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละประเทศ เช่น ใครปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากควรต้องรับผิดชอบที่จะต้องลดการปล่อยให้มากตามระดับการปล่อย ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วควรเป็นผู้นำในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง และลดให้ครอบคลุมในทุกภาคเศรษฐกิจ
ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องการให้ประเทศพัฒนาแล้วมีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศกำลังพัฒนาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องกองทุนภูมิอากาศสีเขียว หรือ Green Climate Fund (GCF) ซึ่งปัจจุบันมีหลักเกณฑ์และขั้นตอนการพิจารณาให้เงินสนับสนุนที่ยากเกินไป ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ไม่สามารถพัฒนาข้อเสนอโครงการที่ผ่านตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของ GCF จนสามารถได้รับเงินสนับสนุนมาดำเนินโครงการในประเทศของตนเองได้
สำหรับหนึ่งในวาระสำคัญของการเจรจาที่ไทยและทุกประเทศต้องเกาะติดก็คือกลไกที่นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้ข้อ 6 (article 6) ของความตกลงปารีส ที่เกี่ยวข้องกับแนวทาง รูปแบบ และกลไกการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศโดยสมัครใจ ทั้งที่ใช้กลไกตลาดและไม่ใช้ตลาด
อย่างไรก็ดี ในเรื่องดังกล่าวมีการพูดคุยในการประชุมเจรจามาแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่ทุกประเทศยอมรับได้ ซึ่งตามกรอบเวลาที่ประชุมจะต้องหาข้อสรุปให้ได้ภายในปีนี้ โดยการหารูปแบบและหลักเกณฑ์ใหม่ที่ทุกประเทศยอมรับ มีความน่าเชื่อถือ ไม่ซับซ้อน และส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของโลก
นอกจากนี้จะมีการหารือในเรื่อง Common Timeframe หรือระยะเวลาของการดำเนินงานภายใต้เป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564-2573 นั้นจะกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินงานของแต่ละประเทศว่าจะให้บรรลุเป้าหมาย NDC ในเวลากี่ปี ซึ่งปัจจุบันยังมีความเห็นที่แตกต่างกันว่าควรให้เวลาในการดำเนินงาน 5 ปี หรือ 10 ปี
กรณีใช้ระยะเวลา 5 ปีอาจเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้นในการประเมินศักยภาพและดำเนินมาตรการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษา ทำให้มีระยะเวลาในการเตรียมตัวน้อยในการเสนอเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศต่อสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)
อีกประเด็น ที่จะมีการหารือกันในเวที COP 25 คือกรอบความโปร่งใสในการรายงานข้อมูลด้านการลดและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนรูปแบบของการส่งรายงานความก้าวหน้ารายสองปี หรือ Biennial Update Report (BUR) ให้เป็นรายงานความโปร่งใสทุกสองปี หรือ Biennial Transparency Report (BTR)
ในส่วนนี้เป็นประเด็นทางเทคนิคว่าแต่ละประเทศจะต้องรายงานเกี่ยวกับการลดและปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยใช้รูปแบบการรายงานอย่างไร เมื่อรายงานไปแล้วควรจะมีวิธีการตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำและความโปร่งใสของข้อมูลมากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้มาตรฐานในการรายงานและตรวจสอบข้อมูลจะต้องเป็นมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน ซึ่งในประเด็นนี้ประเทศไทยไม่ติดขัดอะไร เนื่องจากได้เตรียมความพร้อมมาระยะหนึ่งแล้ว
กรอบทั้งหมดนี้คือภาพคร่าว ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นภายใต้การประชุม COP 25 ซึ่งหลายฝ่ายกำลังจับตา โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่จะต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อให้เป้าหมายร่วมกันของโลกสามารถบรรลุผลได้ในที่สุด