จากห้องแล็บสู่การใช้งานจริง สวทช.ร่วมมือเอกชนผลิตถุงพลาสติกย่อยสายได้แจกในงาน ‘กาชาดสีเขียว 2562’ ที่สวนลุมพินี ระหว่างวันที่ 15-24 พ.ย.นี้ เป็นถุงพลาสติกสลายตัวได้สำหรับขยะอินทรีย์ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ผลิตขึ้นโดยนักวิจัยไทยและภาคเอกชน
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า เอ็มเทค ได้ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBiA) ผลิต “ถุงพลาสติกสลายตัวได้สำหรับขยะอินทรีย์”
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เป็นผลงานวิจัยของเอ็มเทค ร่วมกับบริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด พัฒนาสูตรพลาสติกชีวภาพขึ้นโดยใช้วัตถุดิบจากแป้งมันสำปะหลัง นำมาแปรรูปเป็นพลาสติกโดยผสมสูตรเพิ่มสมบัติทางวิศวกรรมให้เหมาะสมสำหรับขึ้นรูปเป็นฟิล์มบางและใช้งานได้จริง
สำหรับถุงพลาสติกสลายตัวได้สำหรับขยะอินทรีย์เป็นนวัตกรรมที่ผลิตขึ้นโดยนักวิจัยไทยและภาคเอกชน โดยเตรียมประเดิมใช้ในงานกาชาด 2562 เป็นงานแรก ระหว่างวันที่ 15-24 พฤศจิกายน นี้ ณ สวนลุมพินี
โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากภาคีอุตสาหกรรมพลาสติก ได้แก่ บริษัท โททาล คอร์เบียน พีแอลเอ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด ผู้สนับสนุนวัตถุดิบเม็ดพลาสติกชีวภาพ และบริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) สนับสนุนกระบวนการเป่าขึ้นรูปถุงพลาสติกสลายตัว
ดร.จุลเทพ กล่าวว่า ปัญหาขยะพลาสติกทั้งบนบกและในทะเลกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกตื่นตัวกันมาก ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกสู่ท้องทะเลมากที่สุดในโลก สาเหตุสำคัญมาจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-use Plastic) มีอัตราส่วนที่มากถึง 40% ของขยะพลาสติกทั้งหมด
จากผลกระทบของการหลุดรอดของขยะออกไปสู่สิ่งแวดล้อมทำให้ภาครัฐร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก 20 ปี และกำหนดการลดและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง จำนวน 7 ชนิด ที่พบมากในทะเลของประเทศไทยและก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และในโอกาสที่การจัดงานกาชาด ปีนี้มุ่งเป้าเป็นต้นแบบงาน ‘การกุศลสีเขียว’ เพื่อลดขยะ งดใช้โฟม ลดพลาสติก
ดร.นพดล เกิดดอนแฝก นักวิจัย สวทช.
ดร.นพดล เกิดดอนแฝก นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีพลาสติก กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง เอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า ถุงพลาสติกย่อยสลายได้มีส่วนผสมจากวัตถุดิบธรรมชาติ คือ แป้งมันสำปะหลัง จากบริษัท เอสเอ็มเอสฯ นำมันสำปะหลังของเกษตรกรไทยเป็นวัตถุดิบหลักมาผสมด้วยการใช้ความร้อนหลอม
ทีมวิจัยทำหน้าที่ออกแบบกระบวนการผสมเทคนิค โดยหลอมนวดเนื้อวัตถุดิบให้เข้ากันได้ดี ผลิตออกมาเป็นเม็ดคอมพาวด์ หรือเม็ดพลาสติกผสมที่มีความเหนียว มีความยืดหยุ่นและมีความแข็งแรง สามารถเป่าขึ้นรูปได้ง่ายด้วยเครื่องจักร เครื่องเป่าถุงที่โรงงานบริษัท ทานตะวันฯ โดยไม่ต้องดัดแปลงเครื่องจักร ซึ่งได้ต้นแบบถุงพลาสติกย่อยสลายได้ 2 ขนาด คือ ถุงหน้ากว้าง 18 นิ้ว สำหรับใช้ตามร้านขายอาหาร และถุงหน้ากว้าง 30 นิ้ว
“ส่วนประกอบสำคัญมี 3 ส่วนคือ แป้งมันประมาณ 50% ราคาอยู่ที่ 12 บาทต่อกิโลกกรัม ที่เหลือคือ PBAT ตัวทำให้มีความเหนียว ราคาอยู่ที่ 150-200 บาทต่อกิโลกรัม และ PLA ตัวทำให้แข็งแรง ราคาอยูที่ 90 บาทต่อกิโลกรัม เรียกได้ว่าไม่มีการใส่สารเคมีลงไปเลย เพราะมอยเจอร์ไรเซอร์ที่ใส่ลงไปไม่มีอันตราย ต่อไปจะมีการวิจัยเกี่ยวกับพลาสติกซีลผักผลไม้ที่ขายในห้างสรรสินค้าต่อไป”
สำหรับต้นทุนถุงไบโอพลาสติกที่ผลิตขึ้นอยู่ที่ 4.60 บาท แบ่งการผลิตถุงขนาดเล็กประมาณกว่า 1 หมื่นถุง และขนาดใหญ่ 3,000 กว่าถุง สำหรับวางตามจุดคัดแยกมากกว่า 40 จุดทั่วงานกาชาด หลังจบงานกาชาดทีมวิจัยจะติดตามไปดูการย่อยสลายในอีก 3 เดือนตามระยะเวลาการย่อยสยายของถุงใน 90 วัน
ด้าน ดร.วีรวัฒน์ เลิศวนวัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะผู้แทนสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBiA) ระบุว่า บริษัทเอสเอ็มเอสฯ สนับสนุนแป้งมันสำปะหลังดัดแปรในรูปของเม็ดพลาสติก TAPIOPLAST สำหรับผลิตถุงขยะย่อยสลายได้
ในฐานะบริษัทคือผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปรสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร กระดาษ กาว สิ่งทอ และอีกหลากหลายอุตสาหกรรม โดยใช้วัตถุดิบจากมันสำปะหลังภายในในประเทศ ผสมผสานกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าให้กับมันสำปะหลังเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ให้กับชาวไร่ของไทย
“ปัจจุบันมีการใช้พลาสติกชีวภาพเพียง 1% ของการใช้พลาสติกทั้งหมด อุปสรรคในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพที่สำคัญคือ ปัญหาด้านต้นทุนการผลิตทำให้การนำมาประยุกต์ใช้จริงเป็นไปได้ยาก หากบริษัทฯ สามารถช่วยลดต้นทุนส่วนนี้ได้ ก็จะเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป
“การคิดค้นพัฒนาแป้งมันสำปะหลังให้อยู่ในรูปของเม็ดพลาสติก TAPIOPLAST และนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ย่อยสลายได้ เช่น ขึ้นแผ่นฟิล์มสำหรับถุงขยะย่อยสลายได้นั้น เนื่องจาก TAPIOPLAST มีความเข้ากันได้กับเม็ดพลาสติกย่อยสลาย จึงสามารถนำมาผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่มีคุณภาพดีและย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
“เกิดเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปุ๋ยในดินที่เป็นประโยชน์กับพืช ดังนั้นการใช้ TAPIOPLAST เป็นส่วนผสมในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลาย นอกจากทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้นและยังเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม” ดร.วีรวัฒน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาพลาสติกที่ไม่สามารถผลิตถุงย่อยสลายได้ เนื่องจากต้นทุนที่สูง ถ้าทำให้ต้นทุนไม่เกิน 2 บาทต่อถุงถึงจะคุ้มค่า โดยปัจจุบันมีการผลิตถุงพลาสติกอยู่ที่ 5 แสนตันต่อปี ในขณะที่คนไทยผลิตขยะ 1.1 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน หรือ 27 ล้านตันต่อปี โดยใน 1 กิโลกรัมเป็นขยะอินทรีย์ถึง 65% ถ้าใช้ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ทิ้งขยะเหล่านี้ การจัดการขยะก็จะดีขึ้นหรือสามารถนำไปทำปุ๋ยได้
น.ส.นฤศสัย มหฐิติรัฐ กรรมการบริหาร บริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีนโยบายการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ทานตะวันเพื่อทุกชีวิตที่ยั่งยืน” เนื่องจากบริษัทผลิตถุงพลาสติกชีวภาพอยู่แล้ว แต่นำเข้าแป้งสาลีซึ่งเป็นวัตถุดิบมาจากต่างประเทศ ดังนั้นเมื่อใช้มันสำปะหลังที่เป็นวัตถุดิบในประเทศจึงพร้อมสนับสนุน เพราะเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
“แต่ปัจจุบันราคาพลาสติกย่อยสลายได้สูงกว่าพลาสติกทั่วไปถึง 3 เท่า ส่วนแบ่งตลาดจึงอาจจะไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ การที่รัฐบาลให้ยกเลิกการแจกถุงพลาสติกตามห้างและร้านสะดวกซื้อจะทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจถุงไบโอพลาสติกมากขึ้น” น.ส.นฤศสัย มหฐิติรัฐ กล่าว