Circular Economy
การฉุดโลกขึ้นจากกองขยะมหึมา

by IGreen Editor

ในหนึ่งวันๆ หนึ่งโลกของเราผลิตขยะถึง 2,120 ล้านตันในแต่ละปี และ 99% ของสินค้าที่เราซื้อมาจะกลายเป็นขยะในเวลาแค่ 6 เดือน เท่ากับว่าเรากำลังทำให้โลกกลายเป็นหลุมขยะมหึมาด้วยการซื้อและซื้อ เหมือนกับเรากำลังอยู่ในบ้านที่ประดับประดาไปด้วยกองขยะ เป็นสภาพที่บ่อนทำลายทั้งสิ่งแวดล้อมของโลก และสวัสดิภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์

การใช้ทรัพยากรของโลกเรามีลักษณะเป็นเส้นตรง หรือ Linear Economy สิ่งของชิ้นหนึ่งใช้ทรัพยากรแบบเลยตามเลย จากนั้นขายขาด แล้วใช้ครั้งเดียวจบ เมื่อหมดสภาพก็ทิ้งไปแบบไร้ประโยชน์ เหมือนซากศพที่หมดค่าเมื่อหมดลมหายใจ

Linear Economy สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม เพราะทรัพยากรถูกใช้จนหมดแล้วหมดเลย ส่วนซากจากการใช้ก็ไร้ประโยชน์ จนกองสะสมปริมาณหลายแสนล้านตัน เป็นการฆ่าโลกของเราให้ตายไปทีละน้อย

เมื่อทรัพยากรหมดไป เศรษฐกิจก็ไม่สามารถเติบโตได้ Linear Economy จึงเป็นการมุ่งไปสู่จุดจบแบบเส้นตรง โดยเห็นอนาคตอย่างชัดเจนแล้วว่า สักวันทรัพยากรจะต้องหมดไป และนี่คือวิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่มองว่าอุปสงค์และอุปทานตั้งอยู่บนทรัพยากรที่มีวันใช้ได้หมด

แน่นอนว่าหลักการนี้เป็นสัจพจน์ (หรือความจริงที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้) แต่เราสามารถยืดปริมาณทรัพยากรออกไปราวกับไม่มีที่สิ้นสุด พร้อมๆ กับพยุงอุปสงค์และอุปทานให้เกิดสมดุล นี่คือหลักการพื้นฐานของ เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy

Circularity แปลว่า วงกลมที่เป็นวงสมบูรณ์ ระบบเศรษฐกิจแบบ Circularity จึงหมายถึงการโคจรกลับไปเป็นวงกลมอย่างสมบูรณ์แบบนับตั้งแต่การผลิต การใช้ และการนำไปทำลายเพื่อก่อกำเนิดใหม่อีกครั้งเป็นวงจรไม่มีที่สิ้นสุด และสามารถหยุดจุดจบของโลกเอาไว้ได้

Circularity จึงเหมือนกับนฟีนิกส์ ที่ไม่มีวันตาย แต่ถือกำเนิดจากกองไฟที่เผาไหม้มันเอง และเติบใหญ่ จากนั้นทำลายตัวมันเองอีกครั้งเพื่อเกิดใหม่อย่างมีคุณค่าอีก

โครงสร้างคร่าว ๆ ของโมเดลเศรษฐกิจแบบ Circular economy ก็คือ การผลิต (Make) การใช้ (Use) การใช้ใหม่ (Reuse) การทำใหม่ (Remake) การรีไซเคิล (Recycle) เพื่อนำกลับมาทำใหม่ (Make) แล้ววนกันเป็นลูปอยู่แบบนี้

นี่คือโครงสร้างคร่าว ๆ แต่กว่ามาถึงโครงสร้างที่รัดกุมแบบนี้ แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมีเส้นทางและวิวัฒนาการที่ยาวนาน

ผู้ที่ริเริ่มแนวคิดนี้คนแรกๆ คือ เคเนธ บอลดิง (Kenneth Boulding) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ที่เสนอแนวคิดนี้เอาไว้เมื่อปี 1966 ในบทความเรื่อง  “The Economics of the Coming Spaceship Earth” โดยเขาใช้คำว่า เศรษฐกิจระบบเปิด (open economy) ไม่ได้เอ่ยถึงคำว่าเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่แนวคิดที่นำเสนอถือเป็นรากฐานของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนครั้งแรก (1)

บอลดิง เสนอว่าระบบเศรษฐกิจของโลกเรามีลักษณะเป็น เศรษฐมณฑล (econosphere) คล้ายกับระบบนิเวเศที่ขับเคลื่อนด้วยการป้อนทรัพยากร (Input) และผลิตทรัพยากรเป็นสินค้า (Output) แต่ไม่จำเป็นที่ Input และ Output จะจบลงในม้วนเดียวแบบเส้นตรงเหมือนในระบบอุตสาหกรรม เศรษฐมณฑลสามารถหมุนเวียน Input และ Output อย่างต่อเนื่องได้

นี่คือระบบที่เปิด ไม่ใช่การปิด หรือการจนมุมที่ผลิตสินค้าและบริการเพื่อใช้ครั้งเดียว เพราะในอนาคตเศรษฐกิจของโลกเราจะมีทรัพยากรจำกัดไม่สามารถหาจากที่ไหนได้อีกแล้ว เหมือนกับเราติดอยู่ในยานอวกาศที่ต้องใช้ทรัพยากรหมุนเวียนไปเรื่อยๆ บอลดิงจึงเรียกอนาคตแบบนี้ เศรษฐกิจมนุษย์อวกาศ (spaceman economy) (2)

หลังจากนั้นแนวคิดเศรษฐกิจแบบเปิดและการจัดการทรัพยากรแบบหมุนเวียนได้รับการต่อยอดมาโดยตลอดจากทศวรรษที่ 70 โดยในปี 1976 มีรายงานนำเสนอโดย วัลเทอร์ อาร์. สตาเฮล (Walter R. Stahel) ต่อคณะกรรมาธิการยุโรปเกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (economy in loops) โมเดลนี้วางรากฐานการผสานกลมเกลียวระหวางระบบนิเวศ เศรษฐกิจ และสังคม

ในปี 1981 สตาเฮล ซึ่งเป็นบิดาแห่งความยั่งยืนทางอุตสาหกรรม ยังเสนอแนวคิดเรื่อง The Product-Life Factor นั่นคือการเน้นขายคุณประโยชน์ แทนที่จะเน้นขายผลิตภัณฑ์ เพื่อที่จะผลักดันเศรษฐกิจแบบ loops เพราะการขายคุณประโยชน์จะสร้างผลกำไรที่ยั่งยืน โดยปราศจากต้นทุนความเสี่ยงและต้นทุนจากของเหลือทิ้ง (3)

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 80 นักเศรษฐศาสตร์มีการพูดถึงโมเดลแบบครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน (Cradle to Grave) นั่นคือการนำของเหลือใช้กลับมาใช้อีก แต่แนวคิดนี้ถูกสตาเฮลวิจารณ์ว่ายังเป็นโมเดลเศรษฐกิจแบบเส้นตรงที่เหลือของทิ้งจากระบบอยู่ และควรจะเป็นโมเดลที่เรียกว่าจากครรภ์มารดาหวนคืนสู่ครรภ์มารดา (Cradle to Cradle) เพื่อทำให้เกิดวงจรที่สมบูรณ์แบบ (3)

สำหรับนิยามที่ดีที่สุดของโมเดลของ Circular Economy ที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือนิยามที่ให้ไว้โดย มาร์ติน ไกส์เดอร์เฟอร์ แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และคณะ ที่ระบุว่า มีเป้าหมายเพื่อลดการป้อนทรัพยากรและลดการรั่วไหลของของเสียและการปล่อยมลพิษออกจากระบบขององค์กร วิธีการคือ ต้องทำการจัดการห่วงโซ่อุปสงค์เศรษฐกิจหมุนเวียน (CSCM) และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SD) ซึ่งมีเป้าหมายคือ

  1. การปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพและสมรรถภาพ
  2. สร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขัน
  3. ลด Input ด้านวัตถุดิบและพลังงาน
  4. ลดการทิ้งของเสียและก๊าซมลภาวะ
  5. มีประสิทธิภาพด้านสังคม คือการจ้างงานที่มั่นคงและการพัฒนาอาชีพและศักยภาพบุคคล
  6. มีประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อม เช่นการใช้ที่ดินอย่างมีคุณค่า ลดมลภาวะ และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
  7. มีประสิทธิภาพด้านเศรษฐกิจ คือมีโครงสร้างองค์กรที่แข้งแกร่ง มีอิสระทางการเงิน (4)

การจะบรรลุเป้าหมายต้องสร้างวงจรหมุนเวียนขึ้นมา คือ

  1. จัดระเบียบกลไกขององค์กร
  2. ประสานงานกลไกขององค์กร
  3. การปิดวงจร (closing loop) คือการปิดช่องวงกลม คือการสร้างวงจรหมุนเวียนก่อนเป็นอันดับแรก
  4. การชะลอการใช้ทรัพยากร (slowing loop)
  5. การลดการใช้ทรัพยากรให้แคบลง (narrowing loop)
  6. การสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเงินและที่มิใช่การเงิน
  7. บริหารผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ในเชิงรุก
  8. มีเป้าหมายในระยะยาว (4)

ดังนั้น เศรษฐกิจหมุนเวียนจึงไม่ใช่การเปลี่ยนกรอบวิธีในการแสวงหากำไรในทางธุรกิจ แต่เป็นการแสวงหาศักยภาพทางธุรกิจแบบใหม่ที่ยั่งยืนในทุก ๆ ด้าน

เศรษฐกิจหมุนเวียนถูกหยิบยกขึ้นมาผลักดันให้เป็นรูปเป็นร่างอีกในปี 2012 เป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึงประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อเศรษฐกิจและธุรกิจโดยอยู่ในรายงานชื่อ Towards the Circular Economy ที่ระบุว่า หากสหภาพยุโรปใช้โมเดลธุรกิจเชิงฟื้นคืนหมุนเวียนแทนที่จะเป็นโมเดลวิวัฒนาการแบบเส้นตรง จะก่อประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญไปทั่วภูมิภาค เฉพาะแค่ภาคการผลิตรายย่อยของสหภาพยุโรปจะสามารถประหยัดต้นทุนวัสดุสุทธิมูลค่าสูงถึง 630 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายในปี 2025 ช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิตซ้ำ และการซ่อมแซม (5)

ในที่สุด ในปี 2018 โดยความร่วมมือขององค์กรระหว่างประเทศนำโดย  WEF และ UNEP เป็นต้น รวม 40 องค์กร ได้ร่วมกันจัดตั้ง  Platform for Accelerating the Circular Economy (PACE) ซึ่งเป็นแพล็ตฟอร์มในการกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีจุดประสงค์ 3 อย่างคือ

  1. เพื่อผลักด้านแนวทางนี้ในประเทศกำลังพัฒนาและในตลาดเกิดใหม่ เน้นที่การสร้างโมเดลการเงินที่ผสมผสานการลงทุนเพื่อผลกำไรและการทำเพื่อสังคมไปพร้อมกันๆ หรือ Blended finance
  2. เพื่อวางกรอบนโยบายแก้ไขอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน
  3. ส่งเสริมหุ้นส่วนภาครัฐ-เอกชน (PPP) ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างแรงกระเพื่อม (6)

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับ Circular economy ก็คือ ในขณะที่โมเดลนี้ช่วยให้โลกของเราพัฒนาอย่างยั่งยืน ช่วยพยุงอุปสงค์และอุปทานให้เกิดสมดุล แต่ความต้องการของมนุษย์มีไม่จำกัด แม้จะพยายามจำกัดการทำลายทรัพยากรและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่

เราจึงรับประกันได้ยากว่า มนุษยชาติจะสามารถควบคุมความต้องการของตัวเองไว้ในวงเวียนที่สมบูรณ์แบบนี้่ได้ ความต้องการของมนุษยชาตินั้นมักดำเนินไปแบบเส้นตรง และบางครั้งพุ่งทะยานอย่างรุนแรง แรงผลักดันแบบ Linear Economy นี้ คือสิ่งที่สร้างความก้าวหน้าให้กับมนุษยชาติมา แล้วเราจะยอมรับการเดินในวงกลมแบบ Circular economy ได้มากแค่ไหน?

คำตอบนี้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของมนุษยชาติว่าจะพาตัวเองเดินไปบนเศรษฐกิจเส้นตรง ที่มีจุดจบที่การแย่งชิงทรัพยากร และหายนะจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกหรือไม่ หากมนุษยชาติเลือกสิ่งนี้ ในไม่ช้าก็เร็วเราจะถูกบีบให้เลือกว่าจะมีผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียวในสงครามเศรษฐกิจแบบเส้นตรง หรือเลือกจะใช้โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ไม่มีใครแพ้เลยสักคนเดียว

อ้างอิง

  1. Allwood, Julian M. (2014). Squaring the Circular Economy. Handbook of Recycling. pp. 445–477. doi:10.1016/b978-0-12-396459-5.00030-1. ISBN 9780123964595.
  2. Boulding, Kenneth E. (March 8, 1966). “The Economics of the Coming Spaceship Earth” (PDF). In H. Jarrett (ed.) Environmental Quality in a Growing Economy, Resources for the Future, Johns Hopkins University Press, Baltimore, MD, pp. 3-14. Retrieved 2019-07-27
  3. “Cradle to Cradle | The Product-Life Institute”. Product-life.org. 2012-11-14. Retrieved 2019-07-27.
  4. Geissdoerfer, Martin; Morioka, Sandra Naomi; de Carvalho, Marly Monteiro; Evans, Steve (April 2018). “Business models and supply chains for the circular economy”. Journal of Cleaner Production. 190: 712–721. doi:10.1016/j.jclepro.2018.04.159. ISSN 0959-6526.
  5. Towards the Circular Economy: an economic and business rationale for an accelerated transition. Ellen MacArthur Foundation. 2012. p. 60. Archived from the original on 2013-01-10. Retrieved 2019-07-27
  6. “The Platform for Accelerating the Circular Economy (PACE)”. Sitra. Retrieved 2019-03-12.

Copyright @2021 – All Right Reserved.