“เขาดินสอ” ต.บางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร สูงจากระดับน้ำทะเล 350 เมตร ซึ่งเป็นหมุดหมายของ “นักดูนก” ของประเทศในเอเชีย สหรัฐอเมริกาและยุโรป ต่างเดินทางมาท่องเที่ยวดูนกเป็นประจำทุกปีตั้งแต่เดือนเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน จนทำให้ “เขาดินสอ” ติดอันดับจุดดูเหยี่ยวและนกอพยพที่ดีที่สุด 1 ใน 5 ของโลก
เหยี่ยวและนกอพยพเรือนแสน ใช้เส้นทางอพยพเอเชียตะวันออกผ่านแผ่นดินใหญ่ (East Asian Continental Flyway) จากเขตไซบีเรียและจีน ลงมาตามแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านคาบสมุทรไทย-มาเลเซีย และหมู่เกาะของอินโดนีเซีย เส้นทางอพยพนี้ผ่าน “เขาดินสอ” อ.ปะทิว จ.ชุมพร ซึ่งเป็นหนึ่งในสองเส้นทางที่ถือเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม ให้เหล่านักดูนกได้ศึกษาพฤติกรรมและจำแนกชนิดเหยี่ยวและนกอพยพเพื่อการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
แอนดรูว์ เจ เพียร์ซ (Andrew J. Pierce) ผู้เชี่ยวชาญห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และคณะวิจัย เปิดเผยว่า เส้นทางอพยพเอเชียตะวันออก เป็นเส้นทางอพยพของเหยี่ยวที่มีข้อมูลและการศึกษาน้อยที่สุด
ดังนั้นทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และ มูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ จึงร่วมกันศึกษาเส้นทางของเหยี่ยวและนกอพยพเส้นทางนี้ ด้วยการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมเข้ามาช่วย ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เหยี่ยวผึ้ง
ระหว่างการทำวิจัย
เพื่อศึกษาข้อมูลเส้นทางการอพยพและจุดแวะพักที่สำคัญของเหยี่ยวนกเขา 2 ชนิด คือเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน (Chinese Sparrowhawk ชื่อวิทยาศาสตร์ Accipiter soloensis) และเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น (Japanese Sparrowhawk ชื่อวิทยาศาสตร์ Accipiter gularis) ที่มีการอพยพผ่านประเทศไทยบริเวณเขาดินสอ ต.บางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร เนื่องจากเขาดินสอตั้งอยู่บนพื้นที่ที่แคบที่สุดของทวีปเอเชีย ในคาบสมุทรไทย-มาเลเซีย (คอคอดกระ) ใกล้ชายฝั่งทะเลและมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 200-350 เมตร ซึ่งเป็นจุดที่สามารถพบเห็นเหยี่ยวจำนวนมากรวมตัวอพยพผ่านบริเวณนี้
ทีมวิจัยได้ทำการจับเหยี่ยวนกเขาที่อพยพผ่านบริเวณเขาดินสอ ระหว่างเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม (ซึ่งเป็นช่วงที่มีเหยี่ยวอพยพผ่านเขาดินสอมากที่สุดของปี) ในปี 2559-2560 โดยการใช้ตาข่ายแบบพรางตาเพื่อทำการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 4% ของน้ำหนักตัวเหยี่ยว โดยติดที่ตัวเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน 4 ตัว และเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น 4 ตัว ในลักษณะสะพายหลัง (backpack) ซึ่งทุกขั้นตอนดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับเหยี่ยว
อินทรีย์ทุ่งหญ้าสเตปป์
“จากการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมให้กับเหยี่ยวนกเขาทั้ง 8 ตัวทำให้เราทราบว่า เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน จะอพยพลงใต้ไปยังบริเวณเกาะสุมาตรา ฝั่งตะวันออกของเกาะ Nusa Tenggara ในประเทศอินโดนีเซีย และไปยังประเทศติมอร์-เลสเต ซึ่งเหยี่ยวชนิดนี้จะใช้เป็นพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาว (wintering grounds) ประมาณ 70-80 วัน และเมื่อถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์–พฤษภาคม เหยี่ยวจะอพยพกลับไปยังพื้นที่ผสมพันธุ์ทางตอนใต้ของจีน
นอกจากนี้ข้อมูลจากเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน 4 ตัวที่ทีมวิจัยติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณฯ มีเพียง 2 ตัวเท่านั้นที่สามารถจับสัญญาณการอพยพผ่านเขาดินสอได้อีกครั้งในปี 2561 ทำให้รู้เส้นทางการอพยพที่สมบูรณ์ของเหยี่ยวชนิดนี้ ซึ่งใช้ระยะทางในการอพยพทั้งสิ้น 14,532 กม. (ซึ่งมากกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของโลก) และ 9,710 กม.
ในส่วนของเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นนั้น ทีมวิจัยสามารถติดตามสัญญาณไปถึงพื้นที่ของเกาะสุมาตรา และบอร์เนียว ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาวและใช้เวลาบริเวณนี้ประมาณ 130-170 วัน ก่อนที่จะอพยพกลับขึ้นทางเหนือ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ทีมวิจัยสามารถรับสัญญาณจากเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นได้เพียง 1 ตัวเท่านั้น ในช่วงอพยพกลับ โดยเหยี่ยวตัวนี้เดินทางออกจากพื้นที่อาศัยบนเกาะ Bangka ประเทศอินโดนีเซีย ไปยังพื้นที่ผสมพันธุ์ในเขตอามูร์ (Amur) ทางตะวันออกของประเทศรัสเซีย ก่อนที่สัญญาณจะขาดหายไป ทำให้สรุปรวมระยะทางอพยพได้ทั้งสิ้น 7,699 กม. ใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้นประมาณ 50 วัน”
ผู้เชี่ยวชาญห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มจธ. อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า การติดตามแส้นทางอพยพของเหยี่ยวทั้ง 2 ชนิดนี้ ยังทำให้ทีมวิจัยทราบอีกว่าพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาวหรือจุดหยุดพักที่สำคัญของเหยี่ยวทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นพื้นที่ที่มีมนุษย์เข้ามาใช้ประโยชน์และเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าดั้งเดิมให้กลายเป็นพื้นที่ทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพาราและพืชสกุลอะเคเซีย อย่างไรก็ตามเหยี่ยวจัดเป็นผู้ล่าชั้นสูงสุดบนห่วงโซ่อาหารจึงถือเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญของคุณภาพสิ่งแวดล้อม แต่เหยี่ยวหลายชนิดกำลังถูกคุกคามเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่อาศัย ดังนั้นการศึกษาลักษณะพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูผสมพันธุ์และฤดูหนาวรวมถึงเส้นทางการอพยพและจุดแวะพักระหว่างทางจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์
วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. โดยฝ่ายบริการวิจัยเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ เล็งเห็นความสำคัญในการทำวิจัยเรื่องการใช้เทคโนโลยีในการติดตามเส้นทางเหยี่ยวอพยพ เนื่องจากเหยี่ยวเป็นสัตว์ที่อพยพเป็นระยะทางไกลผ่านหลายประเทศในทวีปเอเชีย โดยเริ่มต้นจากรัสเซีย ผ่านไทยจนถึงจุดแวะพักในฤดูหนาวที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งทีมวิจัยนำเทคโนโลยีเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เพื่อทำการติดตามการอพยพและระบุตำแหน่งของเหยี่ยวนกเขา 2 ชนิด โดยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องมาตลอด 2 ปี
เทคโนโลยีนี้มีความแม่นยำในระยะ 0.5-1.5 กิโลเมตรและสามารถติดตามเส้นทางการอพยพและตำแหน่งของเหยี่ยวได้ ด้วยการดาวน์โหลดหรือตรวจสอบข้อมูลออนไลน์ได้จากเว็บไซต์ http://www.argos-system.org/ หรือผ่านแอปพลิเคชัน CLS view บนมือถือ ซึ่งถือว่ามีความสะดวกและรวดเร็ว นับเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนำทางสู่การอนุรักษ์และการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อนำร่องให้พื้นที่เขาดินสอจะเป็นต้นแบบที่สำคัญในการใช้องค์ความรู้และผลงานวิจัยไปถ่ายทอดและขยายผลสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวบนฐานความรู้ โดยเฉพาะการพัฒนางานวิจัยเชิงพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทยที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก
อินทรีย์ปีกลาย
ชูเกียรติ นวลศรี ประธานมูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ กล่าวว่า ด้วยบริเวณเขาดินสอ จ.ชุมพร มีพื้นที่ป่าโดยรอบกว่า 2,000 ไร่ ที่ยังมีความเป็นธรรมชาติอยู่มากจึงเป็นพื้นที่ดูเหยี่ยวที่ดีที่สุดติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกโดยมีสายพันธุ์เหยี่ยวที่พบแล้วจำนวน 38 สายพันธุ์ ทั้งนี้ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมจะเริ่มพบเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นอพยพ ตามด้วยเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนและเหยี่ยวผึ้ง ซึ่งจะมีจำนวนหนาแน่นมากขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน ถึงสัปดาห์แรกของต้นเดือนตุลาคม
เหยี่ยวกิ้งก่าสีน้ำตาล
นอกจากนี้ ยังพบเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำอพยพผ่านบริเวณนี้จำนวนหลายหมื่นตัวต่อวันในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม (ช่วงวันปิยะมหาราช) ซึ่งสามารถเห็นได้มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังพบกลุ่มเหยี่ยวนกเขามากที่สุดในโลกถึง 6 ชนิดด้วย ดังนั้นการที่มีงานวิจัยสนับสนุนใช้องค์ความรู้นำการท่องเที่ยวจะนำไปสู่การอนุรักษ์อย่างถูกต้องทั้งในเชิงพื้นที่และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เหยี่ยวรุ้ง
นส.พ.เกษตร สุเตชะ นายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ตั้งแต่ปี 2545 จังหวัดชุมพรมีการจัดกิจกรรมชมเหยี่ยวอพยพโดยทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน กระทั่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชมเหยี่ยวอพยพที่มีชื่อเสียงในระดับโลกในปัจจุบัน โดยแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาจากประเทศในเอเชีย สหรัฐอเมริกาและยุโรป ตั้งใจเดินทางมาเที่ยวที่เขาดินสอทุกปีเพื่อชมเหยี่ยวอพยพแบบใกล้ชิด
อย่างไรก็ดี การได้ทราบเส้นทางอพยพของเหยี่ยวจากการวิจัยนั้นได้ช่วยส่งเสริมให้พื้นที่เขาดินสอเป็นจุดศึกษาวิจัยและจุดชมเหยี่ยวอพยพที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียและของโลก ทำให้ผู้คนทั้งภูมิภาคอาเซียนตระหนักและสนใจถึงความสำคัญของเหยี่ยวรวมถึงภัยคุกคามที่เกิดกับเหยี่ยวและหันมาร่วมกันอนุรักษณ์ทรัพยากรในพื้นที่ของประเทศตนเองมากขึ้น และหวังว่าจะช่วยสร้างโอกาสให้พื้นที่เขาดินสอเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของประเทศไทยและของโลกต่อไป
ทั้งนี้ ผู้สนใจดูเหยี่ยวอพยพสามารถเดินทางมาชมได้ ณ เขาดินสอ ต.บางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร ได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายนของทุกปี ข้อมูลเพิ่มเติม www.theflywayfoundation.or.th