‘ซาฟารีห้วยขาแข้ง’
มีทั้งดีและร้าย

หลังจากฟังการแถลงยาวเหยียดนานกว่า 1 ชั่วโมง ของคณาจารย์วนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นทีมศึกษาโครงการ “ซาฟารีห้วยขาแข้ง” ผมพอจะมีข้อสรุป (ตามความเข้าใจ) ณ เวลานี้

1. หลักการและเหตุผลในการผลักดัน “ซาฟารีห้วยขาแข้ง” นับว่าถูกต้อง เหลือแค่ว่าในทางปฏิบัติจะถูกต้องหรือไม่ และสุดท้ายจะประสบความสำเร็จตาม “ภาพฝัน” หรือไม่

2. โครงการนี้อยู่ด้านนอก ตรงชายขอบของป่าห้วยขาแข้ง เพราะฉะนั้น ใครที่ “ด่าไว้ก่อน” เมื่อเห็นคำว่า “ห้วยขาแข้ง” กรุณาทำความเข้าใจสักนิด

3. แม้พื้นที่จะเป็นด้านนอกก็ตาม แต่ชื่อ “ซาฟารีห้วยขาแข้ง” นั้นมีเสน่ห์อย่างที่สุด ผู้ดำเนินการไม่จำเป็นต้องเกร็งกับคำว่า “ซาฟารี” เพราะซาฟารีปัจจุบันก็มีความหมายด้านบวก พอๆกับคำว่า “ห้วยขาแข้ง” หากเลี่ยงไปใช้คำอื่นคงจะน่าเสียดายอย่างที่สุด (ยกตัวอย่างเช่น เลี่ยงไปใช้คำว่า “ซาฟารีทับเสลา” ก็จะคลายความขลังไปเกินครึ่ง)

4. ความสำเร็จจาก “เขาแผงม้า” และ “กุยบุรี” เป็นตัวอย่างว่า ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ เกี่ยวกับการจัดการท่องเที่ยวชมสัตว์ป่า

5. อาหารและความปลอดภัย ที่มาพร้อมกันอย่างมั่นคง ต่อเนื่องยาวนาน เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดึงดูดสัตว์ป่า แต่อาหารที่สัตว์ชื่นชอบเป็นพิเศษก็น่าพิจารณา เฉกเช่นเขาแผงม้าที่ประสบความสำเร็จอย่างสวยงามกับ “หญ้ารูซี่” มาแล้ว

6. การจัดการให้สัตว์เข้ามาอยู่ในระยะถ่ายภาพของเหล่าช่างภาพสัตว์ป่า จะเป็นอีกเสน่ห์ดึงดูดอย่างสำคัญ ลองมโนภาพการชม “วัวแดงชนิดเม็ด” ไกลเป็นกิโล กับ “วัวแดงระยะเลนส์ 500” จะเห็นว่ามีความต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในแง่ความประทับใจของผู้ชม อีกทั้งภาพสัตว์ป่าสวยๆ ที่แพร่ตามโลกโซเชียล ก็จะเป็นการโปรโมทโครงการฟรีๆ โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณ

7. วัวแดงน่าจะเป็นสัตว์ไฮไลท์ของ “ซาฟารีห้วยขาแข้ง” ซึ่งถือว่ามีคุณสมบัติครบในตัวอยู่แล้ว ไม่ว่าจะความสวยงามและความหายาก แต่หากจัดการถึงขั้นให้มีเสือโคร่ง เสือดาว หรือขวัญใจมหาชนคนไทยอย่างเสือดำ (แม้เป็นการโชว์ตัวในกรงกว้างใหญ่ในแบบสวนสัตว์เปิด) ก็จะเพิ่มความน่าสนใจ ถึงขนาดทำวัวแดง “หมอง” ไปเลยทีเดียว

8. ลานกางเต็นท์พักแรม พร้อมห้องน้ำสะอาด เป็นสิ่งจำเป็นถึงขั้นไม่มีไม่ได้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด และเรียบง่าย

9. ผลด้านลบอาจเกิดกับสัตว์ป่าได้ เช่น การติดโรคระบาดจากปศุสัตว์ ซึ่งถือเป็นเรื่องร้ายแรงน่าห่วงใยที่สุด หากควบคุมไม่ได้ จะทำให้โครงการนี้พังพาบในพริบตา

10. การดึงดูดและปล่อยสัตว์ป่าไว้แถบชายขอบป่าห้วยขาแข้ง ก็อาจทำให้สัตว์ถูกลักลอบล่าง่ายขึ้น ทั้งจากพรานชาวบ้านและพรานคนเมือง ผู้ยึดแนวทาง “เจ้าสัว”

11. โครงการมีความเสี่ยงจะเกิดความรั่วไหลของงบประมาณ เพราะปัจจุบัน การทุจริตในหมู่ข้าราชการและนักการเมือง ก็ยังเกิดขึ้นตลอดเวลา ถ้าเกิดข่าวอื้อฉาวในการทำ “ซาฟารีห้วยขาแข้ง” อาจส่งผลให้โครงการไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน

12. แม้ผู้เกี่ยวข้องจะทุ่มเทความคิด ความรู้ความสามารถ ในการทำ “ฝันให้เป็นจริง” แต่ผลลัพธ์ก็ยังยากจะคาดเดาว่าจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ออกหัวหรือออกก้อย เพราะถึงอย่างไร สัตว์ป่าก็เป็นสิ่งคาดเดาไม่ได้ 100% สุดท้ายแล้ว มันอาจเป็นโครงการที่เงียบเหงา เหลือแต่ซากสิ่งก่อสร้างปรักหักพัง แบบในหนังจูราสสิก ปาร์ก ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

Copyright @2021 – All Right Reserved.