ทำความรู้จัก “สภาพอากาศสุดขั้ว” หรือ Extreme Weather หนาวสุดขั้ว ร้อนสุดขีด ภัยคุกคามใหม่ในยุคโลกร้อน นักวิชาการ ระบุ หน้าร้อน ปี 2025 ประเทศไทย อาจร้อนสุดขีดได้
ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลายเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ “สภาพอากาศสุดขั้ว” (Extreme Weather) ได้กลายเป็นคำที่เราต้องทำความรู้จัก และเข้าใจอย่างลึกซึ้งมากขึ้น เพราะปรากฏการณ์เหล่านี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีผลต่อชีวิตประจำวัน และเศรษฐกิจของเราอย่างมีนัยสำคัญ
“อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น จะทำให้การเปลี่ยนแปลง “สภาพอากาศสุดขั้ว” หรือ Extreme Weather เกิดขึ้นได้บ่อย ก่อให้เกิดความแปรปรวนของสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง อากาศร้อนจัดและแห้งแล้ง ลมพายุรุนแรงเกิดบ่อยครั้ง ฝนตกหนักกว่าปกติ ในฤดูหนาวเกิดอากาศหนาวเย็นอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ภัยธรรมชาติต่างๆ จะเกิดขึ้นอย่างรุนแรง และบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ” นั่นเป็นคำนิยามของสภาพอากาศสุดขั้ว ที่ ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวไว้
โลกร้อน ทำให้โลกรวน ช่วงฤดูหนาวจะเริ่มปรากฎการณ์ Polar Vortex ปล่อยอากาศหนาวเย็นสุดขั้วไปยังประเทศในเขตหนาวและเขตอบอุ่นมากขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าว เริ่มเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2022 และรุนแรงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปลายปี 2024 ช่วงฤดูหนาวและมวลอากาศเย็น หรือความกดอากาศสูงจะแผ่ลงมาในประเทศในเขตร้อนด้วย (อากาศเย็นเคลื่อนที่ไปยังอากาศร้อน) ประเทศจีนอากาศหนาวจัดขณะนี้ จะทำให้ประเทศไทยจะมีอากาศหนาวเย็นผิดปกติด้วย
สภาพอากาศสุดขั้ว คือ
สภาพอากาศสุดขั้ว หมายถึงปรากฏการณ์ทางอากาศที่มีความรุนแรงผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น คลื่นความร้อน (Heat Waves) ฝนตกหนัก น้ำท่วม หรือพายุหมุนเขตร้อน โดยมักจะเกิดขึ้นในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งอย่างเฉียบพลันและสร้างความเสียหายได้มากมาย
สภาพอากาศสุดขั้ว ผลกระทบ
- ภัยพิบัติทางธรรมชาติ: การเกิดคลื่นความร้อนทำให้เกิดไฟไหม้ป่า น้ำท่วมจากฝนตกหนัก หรือภัยแล้งที่ยืดเยื้อ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเกษตรและการผลิตอาหาร
- สุขภาพของประชาชน: อุณหภูมิที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคที่เกี่ยวข้องกับความร้อน และการระบาดของโรคติดเชื้อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม
- เศรษฐกิจ: ความเสียหายจากภัยพิบัติ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสูงขึ้น และอาจส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกรและชุมชนที่พึ่งพาการเกษตรเป็นหลัก
ดังเช่นชาวนาในพื้นที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ที่ต้องเผชิญกับ “สภาพอากาศสุดขั้ว” ข้อมูลจากบีบีซีไทย ที่ได้พูดคุยกับชาวนา บอกว่า ตั้งแต่เกิดโลกร้อน ก็รู้สึกได้เลยว่าการทำนามันไม่เหมือนเดิม อากาศร้อนขึ้นจนแทบทนไม่ไหว น้ำในบ่อปลาที่ขุดไว้ในนาระเหยแห้งเร็วกว่าปกติ ต้นข้าวทนแดดได้น้อยลง เสี่ยงยืนต้นตายมากขึ้น เพราะน้ำระเหยออกจากต้นข้าวจากอากาศที่ร้อนมากขึ้น การเผชิญกับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate change) ที่คาดเดาไม่ได้ จนกลายเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงว่าจะล้มละลายในทุกครั้งที่ลงทุนหว่านข้าว
สภาพอากาศสุดขั้ว สาเหตุ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้ว โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งทำให้เกิดการสะสมความร้อนในบรรยากาศ ส่งผลให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และมีเทน (CH4) ที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล การขนส่ง และการเกษตร ซึ่งทำให้เกิดความร้อนสะสมในชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- ความกดอากาศสูง
ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า โดมความร้อน (Heat Dome) เกิดขึ้นเมื่อระบบความกดอากาศสูงครอบคลุมพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ทำให้มวลอากาศร้อนถูกกดลง และติดอยู่ในบริเวณนั้น ส่งผลให้อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
- การเปลี่ยนแปลงของกระแสลม
การเปลี่ยนแปลงในกระแสลมกรด (Jet Stream) ที่เกิดจากการร้อนขึ้นของแถบอาร์กติก ทำให้กระแสลมไหลช้าลงและมีแนวโน้มที่จะเกิดโดมความร้อนได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้เกิดคลื่นความร้อน และสภาพอากาศสุดขั้วอื่น ๆ
- ความชื้นในบรรยากาศ
เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ความสามารถในการเก็บกักความชื้นในบรรยากาศก็เพิ่มขึ้น โดยประมาณว่า ทุกๆ 1 องศาเซลเซียสที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้น บรรยากาศสามารถเก็บความชื้นได้มากขึ้นถึง 7% ซึ่งส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมได้ง่ายขึ้น5.
- ไฟป่า
ไฟป่ามักเกิดจากความร้อนที่ยาวนานและความแห้งแล้งที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้พื้นที่มีแนวโน้มที่จะเกิดไฟป่าบ่อยครั้งมากขึ้น
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เผยว่า ปี 2025 นี้ จะยังคงมีอากาศร้อนทุบสถิติ รองจากปี 2024 และปี 2023 และระดับก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บความร้อนไว้ในชั้นบรรยากาศยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แตะระดับสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ เสี่ยงเกิดสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงสุดโต่ง และอาจนำไปสู่การเกิดภัยพิบัติธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น
สุดท้าย ดร.สนธิ เขียนข้อมูล สรุปว่า ปี 2024 ประเทศไทยอยู่ในสภาวะลานีญากำลังแรง มีฝนตก น้ำท่วมหนัก แต่ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม กลับมีอุณหภูมิสูงสุงถึง 44 องศาฯ ไม่แน่ว่า ฤดูร้อนปี 2025..ลานีญาอ่อนกำลังลงเข้าสู่ภาวะเป็นกลางระหว่างลานีญาและเอลนีโญ..ประเทศไทยอาจร้อนสุดขีดก็ได้
บทสรุป
โดยรวมแล้ว สภาพอากาศสุดขั้ว เป็นผลที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระบบภูมิอากาศของโลก ซึ่งจำเป็นต้องมีการจัดการและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรเทาผลกระทบเหล่านี้ในอนาคต
อ้างอิง :
- https://www.facebook.com/sonthi.kotchawat
- https://www.sdgmove.com/2022/08/31/extreme-weather-climate-bangkok/
- https://www.bangkokbiznews.com/environment/1161953