คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เห็นชอบต่อหลักการของร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อนผลักดันเข้า ครม.ต่อไป
การประชุมการคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) ครั้งที่ 4/2567 ที่มีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2567 ได้มีมติเห็นชอบต่อหลักการของร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ….ซึ่งจะเป็นกลไกส่งเสริมการดำเนินงานและการกำหนดนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ
ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วมปฏิบัติงานทั้งด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงสนับสนุนให้เกิดกลไกทางการเงินเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนั้นได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เร่งดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
ที่ประชุม ยังได้เห็นชอบร่างรายงานความโปร่งใสรายสองปี ฉบับที่ 1 (First Biennial Transparency Report: BTR1) เพื่อให้ประเทศไทยเสนอต่อสำนักเลขาธิการ UNFCCC ตามพันธกรณี ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2567 นี้ โโยประธาน กนภ. ได้มอบนโยบายการดำเนินงานให้คณะกรรมการฯ โดยให้คำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ของประเทศในภาพรวม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และทุกภาคส่วนมีศักยภาพในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สำหรับร่าง พ.ร.บ. Climate Change ดร.พิรุณได้บรรยายไว้ในหัวข้อ “พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : กลไกสู่ภูมิคุ้มกัน Climate Change” ในเวทีประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2567 ตอนหนึ่งว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีทั้งหมด 13 หมวด บวก 1 (Thailand CBAM, Thailand Border Mechanism) โดยในวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมามีการประชุมคณะกรรมการกฎหมายครั้งสุดท้ายเป็นครั้งที่ 14 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
หมวดที่ 1 บททั่วไป รับรองสิทธิของประชาชนและกำหนดการมีส่วนร่วมของแต่ละภาคส่วน
หมวดที่ 2 เป้าหมายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่การกำหนดปีเป้าหมายที่ชัดเจน
หมวดที่ 3 คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง
หมวดที่ 4 กองทุนภูมิอากาศ เป็นกลไกการเงินที่เป็นนิติบุคคลซึ่งจะทั้งเงินทั้งให้เปล่า และเงินกู้ที่เป็นซอฟต์โลนเพื่อสร้างการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ
อย่างไรก็ตาม หาก พ.ร.บ.เริ่มใช้ปี 2026 กองทุนจะเริ่มได้ในปี 2027 โดยรัฐจะประเดิม 5,000 ล้านบาท จากนั้นจะเพิ่มเป็น 1 หมื่นล้าน จนถึง 137,000 ล้านบาทในปี 2037 จากนั้นปี 2050 กองทุนจะมีเงิน 1.1 ล้านล้านบาท
หมวดที่ 5 แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ยุทธศาสตร์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในระยะยาวภายใต้ข้อตกลงปารีส
หมวดที่ 6 ข้อมูลก๊าซเรือนกระจก จะแบ่งเป็น 2 ระดับ ระดับแรก วางแผนการลดก๊าซเรือนระจกของประเทศเป็นรายเซ็กเตอร์ ระดับที่สอง การเรียกข้อมูลการรายงานของนิติบุคคลซึ่งวันนี้ไม่มีกฎหมายให้อำนาจให้สามารถเรียกได้ แต่หลังมีกฎหมายจะบังคับรายงานข้อมูลเท่าที่จำเป็น
หมวดที่ 7 แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ที่จะเกิดขึ้นทุก 5 ปีไปเรื่อยๆ จาก 2030 ไปจนถึงปี 2050
หมวดที่ 8 ระบบการซื้อขายสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยกรมจะมีหน้าที่ประมวลว่าจะจำกัดสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมใดบ้าง จะมีทั้งสิทธิ์ให้เปล่าและสิทธิ์ที่ต้องประมูล ถ้าใช้สิทธิ์เกินที่ได้รับอาจชดเชยสิทธิ์ด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ แต่จะซื้อได้ไม่เกิน 15%
หมวดที่ 9 ระบบภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) กรมสรรพสามิตกำลังแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อออกภาษีคาร์บอนเป็นส่วนหนึ่งของภาษีสรรพสามิตอยู่ภายใต้ภาษีสิ่งแวดล้อม
หมวดที่ 10 คาร์บอนเครดิต เป็นการสร้างมาตรฐานที่จะสามารถไป Offset หรือแปลงสิทธิ์ชดเชย ETS ได้ไม่เกิน 15%
หมวดที่ 11 การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีข้อมูลความเสี่ยงเชิงพื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศ
หมวดที่ 12 มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือ Green taxonomy
หมวดที่ 13 บทกำหนดโทษ จะมีบทลงโทษเป็นพินัยเป็นหลัก คือ ค่าปรับไม่มีโทษทางอาญาหรือการจำคุก แต่จะเอาค่าปรับไปใช้ในการสร้างระบบนิเวศ จะมีโทษอาญาแค่ส่วนเดียวถ้าท่านจงใจกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ผิดกฎหมาย